พรฎ.ยกเลิกส้วมนั่งยอง? แล้วระหว่างโถส้วมแบบนั่งยองกับแบบก้นนั่ง แบบไหนถูกหลักกับสรีระและหลักอนามัยในการอุนจิกว่า

ประกาศแล้ว พ.ร.ฎ."ยกเลิกส้วมนั่งยอง" หันใช้ชักโครกแทน



พระราชกฤษฎีกายกเลิกส้วมซึม โดยให้ครัวเรือนและสถานที่สาธารณะใช้ชักโครกแทน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้ส้วมถูกสุขลักษณะ ป้องกันอันตรายจากการใช้ส้วมที่ไร้คุณภาพได้

(26 เม.ย.) มีรายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ได้มีพระราชราชกฤษฎีกา ปรับเปลี่ยนสุขภัณฑ์ในห้องน้ำใหม่จากส้วมแบบราบ หรือ ส้วมนั่งยอง หรือ ส้วมซึม ให้เป็นแบบที่มีชักโครกแทน หรือ ส้วมนั่งราบ โดยประกาศดังกล่าวให้มีผลทันทีในอีก 120 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ คือวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการประกาศดังกล่าวเป็นไปตามแผนแม่บทที่ทางรัฐบาล ต้องการพัฒนาส้วมให้มีมาตรฐาน และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากประชาชนได้ถ้ามีคุณภาพต่ำ รวมไปถึงส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ และ สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล โดยตั้งเป้าให้ทุกครัวเรือนมีชักโครกทุกหลังในปี 2559

พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวชื่อว่า "พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556" โดยมาตรา 3 ระบุว่า ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.792 - 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ. 2554) โดยมีหมายเหตุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนามัยของประชาชนได้ หากมีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชน

สำหรับที่มาที่ไปเรื่องดังกล่าว คือเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ในหลักการแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 พ.ศ. 2556 - 2559 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายความสำเร็จที่กำหนดไว้ สาระสำคัญ คือ เพื่อพัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ ป้องกันโรคข้อเสื่อม เพื่อให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล

เป้าหมายความสำคัญ มีดังนี้ให้ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบส้วมนั่งราบ หรือ ชักโครก ร้อยละ 90 ภายในปี พ.ศ. 2559 สถานบริการสาธารณะ และ สถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2559 คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2559 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2559

โดยกลุ่มเป้าหมายส้วมครัวเรือน และ ส้วมสาธารณะ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะ ริมทาง และ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/ดิสเคานต์สโตร์


http://news.sanook.com/1182789/


พูดตรง ๆ เวลาผมไปส้วมสาธารณะนี่ ผมหาเอาแบบนั่งยองก่อนเลย  เพราะมันสะอาดกว่าแบบนั่งราบเยอะ  แบบนั่นราบนี่  เต็มไปด้วยคราบฉี่ คราบไคลก้น สารพัดคราบเนื้อหนังมนุษย์  แล้วผมต้องเอาก้นอันสะอาดงามของผม ไปนาบแนบนี่นะ ผมเลี่ยงก่อนเลย  แบบนั่งยองนี่มันสะอาด แค่เอาเท้าเหยียบ  ยิ่งจับคู่กับที่ฉีดนะ  สะอาดและสะดวกสุด ๆ  ส่วนแบบนั่งราบนี่ต้องส่องคราบ น้ำเยี่ยวน้ำหนองอะไรไม่รู้ ต้องพกผ้ามาเช็ด เช็ดเสร็จต้องปูรอง  ถ้าไม่ได้พกกระดาษไปนี่ เจอแบบโสโครกสุด ๆ สุดท้ายต้องปีนขึ้นไปนั่งยองอยู่ดีอ่ะ แล้วนั่งยองบนแบบนั่งราบนี่ มันก็อันตรายเหมือนกันนะ    แถมพูดตรง ๆ ท่านั่งยองนี่มันท่าดึกดำบรรพ์มาตั้งแต่สมัยโครมันยอง เป็นท่าที่เหมาะในการเบ่งและพุ่งดีมาก ด้วยท่าของมันก็ช่วยในการเบ่งอยู่แล้ว ผมว่ามนุษย์แต่อดีตที่ไหน ก็นั่งขี้ท่านี้ ท่านั่งราบนี่มันมาทีหลังนะ  มันถูกสรีระสำหรับขี้ และอนามัยจริงๆเหรอ  

ผมว่านั่งราบมันเหมาะกับ เป็นโถส่วนตัวบ้านใครบ้านมันอ่ะครับ  มันจะมีคราบอะไรมันคราบเราเอง  แต่แบบสาธารณะควรนั่งยองนะ จะเผื่อคนแก่นั่งราบก็มีซักโถนึงก็พอ ผมว่าเรื่องขี้นี่มันเป็นเรื่องใหญ่พอๆกับปากท้องเลยนะ มันกิจวัตรประจำวันอ่ะ  คุณว่าแบบไหนเหมาะกว่ากัน เผื่อคนเกี่ยวข้องเรื่องนี้อาจมาเห็นปัญหานี้
1.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่