ควอลคอมม์เกาะกระแส 4G ส่ง Snapdragon820 บุกตลาดสมาร์ทโฟน


ควอลคอมม์เกาะกระแส 4G ส่ง Snapdragon820 บุกตลาดสมาร์ทโฟน
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559


          ความนิยมในสมาร์ทโฟนและสมาร์ท ดีไวซ์ของผู้บริโภคยังแรงไม่หยุด พร้อมกับความต้องการสเป็กแรงๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และหัวใจสำคัญที่จะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ประมวลผลได้เร็วและแรงถึงใจหนีไม่พ้นชิปเซตภายในเครื่อง

          "จิม แคที่" ประธานประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และอินเดีย บริษัท ควอลคอมม์ เทคโนโลยีส์ อิงค์ ผู้ผลิตชิปเซตสมาร์ท ดีไวซ์ "Qualcomm" (ควอลคอมม์) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของบริษัทวิจัยการ์เนอร์ระบุว่า จำนวนสมาร์ทโฟนที่เข้าสู่ตลาดใน ปี 2558-2562 จะมีไม่ต่ำกว่า 8.5 พันล้าน ยูนิต และภายในปี 2559 นี้จะมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกถึง 53% โดยภูมิภาค "อาเซียน" เป็นตลาดที่คึกคักมากที่สุด ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 590 ล้านคน และกว่า 60% เป็นประชากรที่อายุต่ำกว่า 35 ปี

          ขณะที่เทคโนโลยี 4G มีมากขึ้นในหลายประเทศ โดยข้อมูลจาก "จีเอสเอ็มเออินเทลลิเจนซ์" เปิดเผยว่า การเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี 4G จะขยายตัวกว่า 31% ในปี 2562 ทั้งในปี 2558-2562 จะเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 67% สมาร์ทโฟน 4G จะส่งเข้าตลาดมากกว่า 39% ต่อปี

          "โมบายเทคโนโลยีกำลังเติบโตต่อเนื่อง ควอลคอมม์จึงเดินหน้าพัฒนาชิปเซตสำหรับอุปกรณ์โมบาย ไม่จำกัดเฉพาะสมาร์ทโฟน และเทรนด์สำคัญคือนอกจากสปีดที่เร็วขึ้น ขนาดที่เล็กลง การประหยัดพลังงานที่ดีขึ้น ชิปเซตในอนาคตต้องฉลาดพอที่จะเข้าถึงความต้องการของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง หรือที่เรียกว่า แมชีน เลิร์นนิ่ง"

          นอกเหนือไปจากการรองรับการใช้งานที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง "เวอร์ชวล เรียลิตี้" (VR) ที่สามารถนำไปต่อยอดได้หลากหลาย กล้องถ่ายภาพ 360 องศา ระบบ ซีเคียวริตี้บนสมาร์ทโฟน และเซ็นเซอร์ตรวจวัดข้อมูลทางชีวภาพ (Biometric Sensor)

          "ควอลคอมม์" ได้ผลิตชิปเซตที่รองรับเทคโนโลยี 4G สำหรับสมาร์ทโฟนตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับพรีเมี่ยม ล่าสุดเปิดตัว "Snapdragon 820" ชิปเซตรุ่นไฮเอนด์ที่จะทำให้สมาร์ทโฟนรองรับ 4G LTE ด้วยสปีดการดาวน์โหลดเร็วขึ้น 33% (600 Mbps) และความเร็วในการอัพโหลดเพิ่มขึ้น 200% (150 Mbps) รองรับ Ultra HD Voice และ LTE-U (LTE in Unlicensed Spectrum) ที่ทำให้เกิดบริการด้วยการผสมคลื่นความถี่ในหลายย่านเข้าด้วยกันได้ (ทั้งส่วนของคลื่น 4G และคลื่น WiFi) เพื่อให้ความเร็วของโมบายอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นได้ถึงระดับ 1 Gbps

          นอกจากนี้ ยังรองรับฟังก์ชั่นใหม่ ๆ ที่นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นหรือนวัตกรรมใหม่ตามเทรนด์ของ Internet of Things (IoT) โดยสามารถนำไปต่อยอดบริการใหม่ ๆ อาทิ การสแกนลายนิ้วมือแบบ 3D Ultrasonic ที่มีความแม่นยำในการสแกน สามารถสแกนผ่านพลาสติก กระจก หรือโลหะที่มี ความหนาไม่เกิน 400 ไมครอนได้ด้วย รวมถึง นิ้วมือที่เคลือบด้วยโลชั่นต่าง ๆ ทั้งมี เทคโนโลยีสมาร์ท โพรเทกต์ (Smart Protect Technology) ป้องกันความเสี่ยงการโจมตี สมาร์ทโฟนด้วยมัลแวร์

          ปัจจุบันผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างน้อย 6 ราย นำ Snapdragon 820 ไปใช้ในการผลิตสมาร์ทโฟนแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มไฮเอนด์ อาทิ Samsung Galaxy S7 (เวอร์ชั่นที่ขายในสหรัฐ และยุโรป), LG รุ่น G5, Xiaomi Mi5, Sony Xperia X Performance และ Vivo Xplay 5S เป็นต้น และอยู่ระหว่างการผลิตอีกกว่า 100 รุ่น ที่จะวางตลาดในปีนี้

          "สุวิทย์ พฤกษ์วัฒนานนท์" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจประจำประเทศไทย บริษัท ควอลคอมม์ อินคอร์ปอเรทเต็ด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาควอลคอมม์ประสานงานใกล้ชิดกับบรรดานักพัฒนาทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทย เพื่อให้นักพัฒนามีโอกาสได้นำชิปเซตของบริษัทไปพัฒนานวัตกรรม ใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการต่อยอดการใช้งานในรูปแบบใหม่ที่อำนวยความสะดวก และรองรับความต้องการของผู้บริโภค ได้เพิ่มขึ้น

          และควอลคอมม์เองไม่ได้พัฒนาชิปเซต เฉพาะสมาร์ทโฟน แต่ยังมีสมาร์ทดีไวซ์อื่น ๆ อย่างแวร์เอเบิล และ IoT สำหรับยานยนต์ ซึ่งเป็นตลาดที่มาแรงมาก โดยทยอยวางตลาดแล้ว โดยในปีที่แล้วบริษัทใช้งบฯวิจัยและพัฒนาราว 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

          ขณะที่การทำตลาดในประเทศไทยเน้นการทำงานใกล้ชิดกับค่ายมือถือ และผู้ผลิตเครื่องเฮาส์แบรนด์ เนื่องจากควอลคอมม์ไม่ใช่ผู้จำหน่ายแฮนด์เซตโดยตรง บริษัทในประเทศไทยจึงมีหน้าที่หลักคือการสร้างระบบนิเวศให้กับตลาดโทรคมนาคม

          "ปีที่แล้วชิปเซตสมาร์ทโฟนของ ควอลคอมม์ทุกรุ่นเข้าสู่ตลาดกว่า 940 ล้านชิ้น มากกว่าปีก่อนหน้านั้น โดยทั้งปี น่าจะมียอดรวมราว 1 พันล้านชิ้น หลังจาก ไตรมาสแรกมียอดขายกว่า 250 ล้าน ชิ้นแล้ว"

          ขณะที่ตลาดในประเทศไทยปีนี้เป็นโอกาสของบริษัท เนื่องจากทุกโอเปอเรเตอร์ ต่างลงทุนขยายโครงข่าย 4G ขณะที่การใช้งาน LTE ยังมีไม่ถึง 10% จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก คาดว่าภายในอีก 3 ปีการใช้ 4G ในไทยจะมีมากถึง 60% ของผู้ใช้งาน ทั้งจะมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ที่รองรับ 4G อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยยังมีอัตราการเติบโตสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม CLMV เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่พร้อม

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559 (หน้า 32,29)

ข่าวอื่นเพิ่มเติม
เปิดร่าง 'กสทช.' ฉบับใหม่ กก.7 คน-คุมเข้มใช้เงิน-ตอบโจทย์รัฐบาล
http://ppantip.com/topic/35070688
JAS แจง ก.ล.ต.อีกรอบเบี้ยว 4G 'พิชญ์' ย้ำประกาศ กสทช. ชี้ชัดไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติม
http://ppantip.com/topic/35070804
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่