5 เทคนิคที่จะทำให้ธุรกิจคุณติดปีกอย่างรวดเร็ว

ใครก็ตามที่ทำธุรกิจ ย่อมปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กลยุทธ์ที่ใช้ได้ในสมัยก่อนหลายกลยุทธ์กลับไม่สามารถใช้ได้ในปัจจุบัน หากเรากำลังวางกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่เรามีให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกครับ

         วันนี้ Learning Hub เลยนำเทคนิคดีๆมาบอกกล่าวนักธุรกิจทุกท่านที่ต้องการขยายธุรกิจครับ เชิญพบกับ “5 เทคนิคที่จะทำให้ธุรกิจคุณติดปีกอย่างรวดเร็ว”  ไปดูกันเลย

1.สร้างนวัตกรรม
“นวัตกรรม เป็นตัวแบ่งแยกผู้นำและผู้ตามออกจากกัน” – สตีฟ จอบส์
          สมัยก่อนในยุคอุตสาหกรรม ถ้าใครอยากจะขยายธุรกิจ ก็คงหนีไม่พ้นการลดราคาแข่งกันเพื่อให้ขายของได้มากๆ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้ามากเท่าไหร่ เช่น รถยนต์ฟอร์ดรุ่นแรกๆ ที่ผลิตออกมาเพียงโมเดลเดียวจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนให้ต่ำ ลดราคาให้ต่ำ ทำให้มียอดขายมหาศาล  

          แต่สมัยนี้กลยุทธ์แบบนี้เริ่มใช้ได้น้อยลงนะครับ เพราะผู้ผลิตมีมากขึ้น แข่งกันผลิตสินค้าแบบเดียวกันมากขึ้น ถ้ากิจการเราไม่มีความได้เปรียบเชิงขนาดที่มากพอ แต่ดันไปลดราคาแข่งกับรายใหญ่กว่า ถึงแม้ลูกค้าอาจเยอะขึ้น แต่สุดท้ายกำไรที่ควรจะได้ อาจกลายเป็นขาดทุนไปได้ง่ายๆเลยก็ได้นะครับ

          ดังนั้น สิ่งที่นักธุรกิจยุคนี้ควรมองหาคือ “นวัตกรรม” ของสินค้าและบริการครับ เพราะนวัตกรรมจะเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนกับสินค้าอื่นๆ ไม่ต้องไปทำสงครามราคาให้เหนื่อยจนเกินไป

          นวัตกรรมไม่ได้หมายถึงแค่การสร้างสิ่งต่างๆแบบใหม่ถอดด้ามนะครับ แต่การทำสิ่งต่างๆด้วยวิธีใหม่ๆก็เป็นนวัตกรรมได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น กล้วยตาก ที่พ่อค้าแม่ค้าขายใส่ถุงธรรมดาๆ แต่มีบริษัทหนึ่งนำกล้วยตากมาเคลือบชาเขียว เคลือบช็อคโกแลต บรรจุแพ็คขายอย่างดี สามารถวางขายตามห้างสรรพสินค้าได้ นี่ก็เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากเลยครับ

           เมื่อเห็นประโยชน์แล้ว คำถามที่เราควรตอบให้ได้คือ สินค้าและบริการของเรา มีนวัตกรรมบ้างหรือยังครับ?

2.ใส่ใจผู้บริโภค
“ไม่มีใครสนใจหรอกว่าคุณรู้มากแค่ไหน จนกว่าพวกเขาจะรู้ว่าคุณใส่ใจในตัวพวกเขามากแค่ไหน” – ซิก ซิกลาร์    
          นอกเหนือจากสินค้าและบริการที่ดีแล้ว เรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อยอย่างการ “ใส่ใจ” นี่แหละครับ ที่จะทำให้ลูกค้าของเรา ประทับใจจนบอกต่อเพื่อนๆ จเกิดเป็นความไว้ใจ ซึ่งสิ่งนี้แหละครับคือการขยายธุรกิจที่ยั่งยืนที่สุด เพื่อให้เห็นภาพขอยกตัวอย่าง เรื่องของ Starbucks ครับ  

          มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเดินเข้ามาในร้าน Starbucks พร้อมกับสั่งกาแฟลาเตร้อน 2 แก้ว ด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่เป็นกังวลของภรรยาโดยมีสามีทำท่าเหมือนคอบปลอบภรรยาตลอด พนักงานสังเกตเห็นแบบนั้น จึงตัดสินใจเขียนข้อความลงบนแก้วกาแฟของทั้งคู่ว่า “หวังว่าวันนี้จะเป็นวันที่ดีขึ้นนะ ^^” แล้วยื่นกาแฟให้สามีภรรยาคู่นั้น พร้อมกับรอยยิ้มกว้างๆ คงไม่ต้องบอกครับว่าสามีภรรยาคู่นั้นรู้สึกอย่างไร

          ไม่แปลกใจเลยครับ ที่เวลาต่อมา สามีภรรยาคู่นั้นจะกลายเป็นลูกค้าประจำของ Starbucks สาขานั้นไปตลอดกาล และนั่นเท่ากับว่า Starbucks สามารถชนะใจลูกค้าด้วยกลยุทธ์ที่อธิบายด้วยคำคำเดียวครับ “ใส่ใจ”

          ลูกค้าซื้อความใส่ใจ เพราะทุกคนล้วนอยากเป็นคนสำคัญครับ ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกค้าสนใจเรา คำถามที่ควรตอบให้ได้คือ เรา “ใส่ใจ” ลูกค้าของเราแค่ไหนครับ?

3.สร้างแบรนด์ด้วยจุดแข็ง
“ตัวตนคือเหตุ แบรนด์คือผล” – แลรี่ แอคเคอร์แมน  
          ยุคนี้ใครๆก็พูดถึงการสร้างแบรนด์ เพราะธุรกิจเราจะยั่งยืนได้ถ้าลูกค้ารู้ว่าเราคือใคร จะตอบสนองอะไรให้ลูกค้าได้บ้าง และทำไมลูกค้าถึงต้องเลือกเรา ซึ่งการสร้างแบรนด์จะมาตอบโจทย์ที่ว่านี้ครับ เลยกลายเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจควรทำอยู่แล้วถ้าต้องการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว  

           แต่การพยายามสร้างความแตกต่างหรือเอกลักษณ์ให้แบรนด์ของเราโดยไม่คำนึงถึง “จุดแข็ง” ที่กิจการเรามีอยู่ ก็อาจทำให้แบรนด์เราไม่เป็นที่จดจำของลูกค้าได้ครับ

           Learning Hub ขอยกตัวอย่างการสร้างแบรนด์สุดคลาสสิก เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพนะครับ

           ในยุคเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อพูดถึงตลาดน้ำอัดลมเป็นที่รู้กันว่า Coke คือเจ้าตลาดที่ไม่มีใครต่อกรได้ โดยครองอันดับหนึ่งมายาวนานจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวอเมริกัน สมัยนั้น Pepsi ยังเป็นแบรนด์ที่ห่างชั้นจาก Coke อยู่มากมายครับ ทั้งๆที่ Pepsi พยายามสร้างแบรนด์ ทำการตลาดแข่งกับ Coke มามาก แต่ก็ไม่เป็นผลเท่าไหร่

           Pepsi จึงลองทำการทดสอบ โดยขออาสาสมัครคนจำนวนหนึ่งมาทดสอบชิม Coke และ Pepsi  โดยผู้เข้ารับการทดสอบ ไม่รู้ว่าแก้วไหนคือ Coke แก้วไหนคือ Pepsi ผลคือ ผู้เข้ารับการทดสอบที่เป็นวัยรุ่น ชอบ Pepsi มากกว่า Coke  นั่นเพราะสูตรน้ำอัดลม Pepsi  มีรสชาติที่หวานกว่า โดนใจวัยรุ่นกว่านั่นเองครับ

           ในที่สุด Pepsi ก็ตัดสินใจใช้จุดแข็งเรื่องรสชาติหวาน สร้างตัวเองให้เป็นแบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ จ้างพรีเซ็นเตอร์วัยรุ่น ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ทุกอย่างให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ผลคือ Pepsi ยึดกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ได้ในหลายประเทศในเวลาต่อมาครับ

           จะเห็นได้ว่าลูกค้าของ Coke ที่เหนียวแน่นนั้น เป็นลูกค้าผู้ใหญ่ที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ Coke อย่างมาก การจะแย่งลูกค้ากลุ่มนี้มาย่อมทำได้ไม่ง่าย Pepsi จึงมองกลับมาที่จุดแข็งของตัวเอง แล้วสร้างแบรนด์จากจุดแข็งนั้นแทนครับ

           นี่จึงเป็นกลยุทธ์ที่น่านำไปใช้มากเลย คำถามคือจุดแข็งของกิจการเราคืออะไร และจะนำไปใช้สร้างแบรนด์เราได้อย่างไรครับ?

4.หาช่องว่างตลาดที่คนอื่นมองข้าม
“ทางเดียวที่จะชนะการแข่งขัน คือการหยุดพยายามที่จะชนะ” – กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม
            หนึ่งในกลยุทธ์การขยายธุรกิจที่ใช้ได้ผลที่สุด ไม่ใช่การแข่งขันแย่งตลาดที่เต็มไปด้วยผู้เล่นมากมายครับ แต่คือการเล่นในจุดที่ผู้เล่นเจ้าอื่นมองข้ามไปครับ พูดง่ายๆคือ ไปเล่นในสนามที่ไร้คู่แข่ง (ภาษาทางการตลาดคือ Blue Ocean Strategy)

            Learning Hub ขอยกตัวอย่างธุรกิจที่มีอยู่เดิมอย่าง Nintendo บริษัทเครื่องเล่นเกมในตำนานครับ

            ในช่วงหนึ่งผู้ครองตลาดเครื่องเล่นเกม คือ Play Station ของบริษัท Sony กับ  X-box ของบริษัท Microsoft สองบริษัทนี้ห้ำหั่นกันด้วยการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ลิขสิทธิ์เกมใหม่ๆ ความสมจริงของภาพ และการอัพเกรดประสิทธิภาพ เพื่อครองตลาดลูกค้ากลุ่ม “Hardcore Gamers”  หรือ พวกนักเล่นเกมที่ชอบเล่นเป็นชีวิตจิตใจ

             แต่ทว่าอีกฝากหนึ่ง มีกลุ่มเด็กเล็ก ผู้ใหญ่วัยทำงาน ผู้สูงอายุ และครอบครัวต่างๆ ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่มหาศาลกลับโดนละเลย ซึ่งกลุ่มนี้แหละ คือ กลุ่มลูกค้าชั้นดีที่ยังไม่มีใครมาตอบโจทย์ด้านเครื่องเล่นเกม และฝ่ายที่มองเห็นตลาดนี้ ไม่ใช่ทั้ง 2 เจ้าข้างบนเลย แต่เป็นเครื่องเล่นเกม Nintendo Wii ของบริษัท Nintendo นั่นเองครับ

             Nintendo Wii มีภาพ กราฟิก เเละฟังชั่นเกมที่ธรรมดามากๆ เเต่กลับเล่นง่าย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ลูกค้าของ Nintendo Wii จึงมีพวกนักเล่นเกมน้อย แต่ที่มีมากคือ คนที่ชอบการออกกำลังกายสนุกๆกับครอบครัวและเพื่อนฝูงครับ นั่นทำให้ Nintendo ขยายตลาดครอบครองผู้เล่นกลุ่มนี้อย่างรวดเร็วจนมาถึงทุกวันนี้ครับครับ

             นี่คือพลังของการหาช่องว่างตลาดที่คนอื่นมองข้ามครับ  

             เราควรนึกไว้เสมอว่า ความต้องการของลูกค้าย่อมเปลี่ยนไปตลอดเวลา ทำให้มีความต้องการใหม่ๆที่ยังไม่มีธุรกิจใดมาตอบโจทย์เกิดขึ้นเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นโอกาสนี้และลงมือทำก่อนกัน ลองนำไปปรับใช้กันนะครับ

5.ใช้สื่อออนไลน์
“ถ้าธุรกิจคุณไม่อยู่บนอินเตอร์เน็ต ธุรกิจคุณก็จะหายไป” – บิล เกตส์
             ในอดีตถ้าเราจะซื้อของทีก็ต้องเดินทางไปเลือกของด้วยตัวเองตามร้านหรือห้างสรรพสินค้า แต่เดี๋ยวนี้ ร้านค้าออนไลน์มีอยู่มากมายครับ ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหน ขอแค่มีอินเตอร์เน็ต ก็สามารถจับจ่ายซื้อของเสร็จภายในเวลาไม่กี่นาที อีกไม่กี่วันของก็มาส่งถึงที่บ้าน โดยที่ไม่ต้องออกไปไหนเลยก็ยังได้

             และในอดีตถ้าเราจะติดตามข่าวสาร ก็ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูทีวี แต่เดี๋ยวนี้ แค่ข่าวสารใน Facebook Twitter ก็มีให้อัพเดตกันตลอดเวลา รวดเร็วกว่าข่าวในช่องทางเดิมๆเสียอีก

            หรือถ้าจะดูละครต้องรอทีวีฉาย พลาดไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ Youtube ก็มี ดูเมื่อไหร่ก็ได้และยังไม่ต้องนั่งรอโฆษณาคั่นให้เสียอารมณ์

             ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพฤติกรรมผู้คนในยุคนี้ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อสมัย 10 ปีที่แล้วมากมายครับ ทุกวันนี้ แม้แต่คนมีอายุก็เล่นสมาร์ทโฟน ใช้เวลาชีวิตส่วนหนึ่งอยู่บนโลกออนไลน์ สินค้าและบริการของเราจึงควรมีตัวตนอยู่บนโลกออนไลน์ ดังนั้น ถ้าใครยังไม่ได้เริ่มศึกษาเรื่องออนไลน์ เริ่มต้นกันเถอะครับ อาจเริ่มจากสื่อสังคมออนไลน์ก่อนก็ได้ เช่น Facebook, Line, Youtube เป็นต้น รับรองว่ามันจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจเราแน่นอนครับ

              เทคนิคเหล่านี้ เป็นเพียงแนวทางกว้างๆในการขยายธุรกิจให้ติดปีกอย่างรวดเร็วและยั่งยืนนะครับ เนื่องจากแต่ละธุรกิจมีลักษณะไม่เหมือนกัน ดังนั้น เราควรนำไปปรับใช้กับธุรกิจเราตามความเหมาะสมครับ และสิ่งสำคัญกว่านั้น คือการลงมือทำทันทีครับ ซึ่งแม้ว่าเทคนิคทั้ง 5 อาจดูไม่ง่าย แต่หากทำได้ ผลลัพธ์ของมันจะคุ้มค่าที่เราลงแรงไปอย่างแน่นอนครับ ลุยกันเลยครับ สู้ๆ ^^

เรียบเรียงโดย Pump – Learning Hub Team
ติดตามบทความดีดีทุกวันได้ที่  http://learninghubthailand.com/
หรือ https://web.facebook.com/learninghubthailand/?fref=ts
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  SME เจ้าของธุรกิจ งานค้าขาย การตลาด
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่