แชร์ประสบการณ์ เรียน Executive MBA เรียนไปทำไม เรียนแล้วได้อะไรมั่ง



กระทู้ที่สองของตัวเอง ผิดพลาดประการใด ช่วยชี้แนะด้วยครับ

     ผมชอบเขียนโน้ตหรือบล็อคยาวๆ ผมชอบขีดๆเขียนๆ นึกอะไรได้ก็จดๆไว้ เวลาอ่านอะไรแล้วชอบก็จะจดไว้จำไว้ (บางทีก็ลืมcreditคนให้ความรู้เพราะจำชื่อหรือที่มาไม่ได้)

     ผ่านไปเทอมแรกสำหรับชีวิตการเป็นนักศึกษาปริญญาโท วันนี้เลยอยากมาแชร์ว่าเรียนคนที่เรียน MBA เขาเรียนอะไรกันมั่ง เขาได้อะไรกันมั่ง แล้วชีวิตมันเปลี่ยนไปยังไง เผื่อมีน้องๆเพื่อนๆบางคนที่อยากจะเรียนแล้วจะได้ตัดสินใจได้ว่าจะเรียนต่อดีไหม เพราะผมสังเกตุว่ากระทู้แนวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว ที่มีก็เก่ามากอาจจะไม่อัพเดทกับสิ่งที่เปลี่ยนแลปงไปในปัจจุบัน

     เหตุผลที่ผมเลือกเรียนMBAเพราะว่าการจะทำงานในระดับสูงๆขึ้นไปนอกจากประสบการณ์ เราจะต้องมีความรู้พื้นฐานที่เหมาะสมไว้รองรับได้ ถึงแม้ไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด แต่ก็ต้องเข้าใจได้ว่าอะไรเป็นอะไร ทำให้การตัดสินใจบางอย่างง่ายขึ้นและแน่นอนขึ้น จะได้ไม่ให้ใครมาหลอกได้ อีกอย่างผมคิดว่าในแต่ละวันเด็กรุ่นใหม่ๆจะมีความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง อนาตตอาจจะตกอยู่ในสถาณการณ์ที่ลำบากหากยังต้องทำงานในองค์กรที่แข็งขันกันสูงอยู่

     มีคนจำนวนไม่น้อย มองการเรียน MBA เป็นเรื่องของแฟชั่นและใช้ปริญญาไต่เต้าหาความก้าวหน้าในอาชีพเพียงอย่างเดียว ซึ่งผมก็คิดว่ามันก็คงถูกและเป็นเหตุผลของเขา แต่ถ้าคิดมุมเดียวแบบนี้อาจจะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่เท่าที่ควร คนที่คิดว่าอยากจะเรียน MBA ให้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไปหลายๆแสน อยากให้คิดนิสนึงครับว่า การเรียน MBA ที่คุ้มที่สุด ต้องเรียนกับคนแก่ๆ ครับ เพราะการเรียนกับเด็ก จะไม่ได้มุมมองและประสบการณ์เพิ่มเติมมากเท่าที่ควร เพราะประสบการณ์ทำงานน้อย จะไม่ค่อยมีอะไรมาแชร์ให้เพื่อนร่วมชั้นฟังซักเท่าไหร่ เพราะคลาสเรียนที่มีแต่เด็ก

     อันดับแรก คุณไม่มีอะไรจะไปแชร์เค้า
     อันดับที่สอง เค้าก็ไม่มีอะไรจะแชร์คุณ

     เวลามีgroup discussion คนที่ประสบการณ์ทำงานยังน้อยจะไม่คลิ๊กไอเดียต่างๆ มองไม่เห็นภาพ หรือมองไม่ออก แล้วถ้าอยากจะเรียนจริงๆ แนะนำให้เลือกหลักสูตร ถ้าหลักสูตรไหนมีแต่เด็ก ไม่แนะนำให้ไปเรียน เพราะเราจะได้แค่สิ่งที่อยู่ในตำราเท่านั้นหรือความรู้ก็จะมาจากอาจารย์ฝั่งเดียวซึ่งอาจจะไม่ได้แนวคิดอะไรใหม่ๆขึ้นมา

     การสมัครเรียนป.โทไม่ได้ง่ายแบบที่คิด แต่ละมหาวิทยาลัยมีมาตราฐานในการคัดนักศึกษาของตัวเองครับ ไม่ใช่ว่าอยากเข้าก็เข้าหรือจ่ายครบจบแน่ หลักสูตรที่ผมเรียนชื่อหลักสูตร Executive MBA หรือแปลภาษาไทยว่า บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต นักบริหาร หลักสูตรนี้กำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำไว้ว่า อายุต้องไม่ต่ำกว่า30ปี ประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า8ปี และมีผลสอบคะแนนCUTEP ไม่ต่ำกว่า45 จากคะแนนเต็ม120 (CUTEP ง่ายกว่า TOEFLหรือ IELTS แต่ยากกว่า TOEIC)

     กระบวนการคัดเลือกเริ่มตั้งแต่เตรียมเอกสารยื่นสมัครซึ่งต้องมีเอกสารค่อนข้างมาก เช่นหนังสือรับรองเงินเดือน เอกสาร Recommendation Letter หลังจากเอกสารผ่านก็รอเรียกสัมภาษณ์(ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะถูกเรียกสัมภาษณ์) หลังจากนั้นสอบสัมภาษณ์ครั้งที่หนึ่งถ้าผ่านก็ไปสอบสัมภาษณ์ครั้งที่สอง แล้วก็รอประกาศผลรอบสุดท้าย ในปีที่ผมสมัครมีคนยื่นเอกสารสมัครสอบเท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าประกาศชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์120คน เด็ดออกทีละคนสองคน เหลือที่ผ่านเข้ามาเรียนได้อยู่59คน

     ผมยื่นเอกสารตั้งแต่เดือนมีนาคม กว่าจะรู้ผลว่าสอบผ่านก็ปาเข้าไปเดือนกันยายน ตอนแรกก็งงทำไมใช้เวลานานขนาดนี้ พอได้เข้ามาเรียน ได้รู้จักเพื่อนร่วมห้องแต่ละคน ใครเป็นใครมาจากไหนบ้าง ก็ได้เข้าใจว่าทำไมถึงใช้เวลานาน เพราะเขาต้องใช้ความละเอียด และใช้เวลาในการคัดคนเข้ามามาก

     ในการเรียนระดับป.โท ผมเห็นความแตกต่างจากการเรียนระดับป.ตรีอย่างหนึ่งว่า เป็นการเรียนแบบช่วยกันเรียน คือมีการติวกัน ช่วยกัน ซึ่งต่างจากสมัยป.ตรีที่ทุกคนจะพยายามแย่งกันเป็นที่หนึ่งของห้อง และในการเรียนป.โทรุ่นพี่จะมีส่วนอย่างมากกับการเรียน รุ่นพี่ทุกคนมีการส่งชีทหรือแนวข้อสอบมาให้ รุ่นพี่ที่จบไปแล้วยังมีการนัดติวให้กับรุ่นน้องที่ต้องสอบ Comprehensive (การสอบประมวณผลความรู้ที่เอาตั้งแต่วิชาแรกยันวิชาสุดท้ายมาสอบ)

     คลาสเรียน MBA สอนผมอย่างหนึ่ง คือ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการทำงานกับคนหลากหลายอาชีพ ที่มี character ต่างกัน เพื่อนในห้องผมมีทั้งหมอ, นักบิน, ผู้จัดการกองทุน, CEO, เจ้าของกิจการ, ผู้อำนวยการธุรกิจประกันภัย, HR Directorเวลาพูดคุยเรื่องเคสที่อาจารย์ให้มาจะได้ให้แนวคิด วิธีการคิดของคนที่มาจากธุรกิจต่างๆกัน ประสบการณ์ที่ทุกคนเอามาแชร์กันมันมีคุณค่ามากมายมหาศาลแบบว่าที่เราไปหาจากตำราไหนไม่ได้เลยครับ

     เพราะในระดับบริหาร ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เพียงแค่การพูดคุยบนโต๊ะอาหารเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการและ Middle Manager แทบไม่มีโอกาสเช่นนี้เลย

     แล้วเทอมแรกเขาเรียนอะไรกันบ้าง

วิชาแรก Financial Accounting
     การเรียน MBA ในวิชาบัญชี อาจารย์ไม่ได้สอนให้ทำdebit credit เพราะวันนึงที่เราคงต้องมีคนทำให้แล้ว แต่อาจารย์สอนบัญชีให้รู้และนำไปใช้เพื่อไม่ให้ใครมมาหลอกเรา อาจารย์จะยกเคสต่างๆมาให้ศึกษาและสอนว่า ถ้าเราทำแบบนี้ภาพที่ออกมาจะเป็นยังไง แต่ไม่ได้บอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่าในตอนนั้นเราต้องที่จะเห็นภาพแบบไหนมากว่า

     ถ้าเข้าใจมันจริงๆ อ่านรายงานงบการเงินเราสามารถรู้ได้ทันทีว่าองค์กรนี้ดีหรือไม่ดี อาจารย์มักจะสอนเรื่องการตกแต่งบัญชีและการตรวจสอบ เช่น จุดไหน ที่บัญชีมักจะตกแต่ง แล้วเอาเคสดังๆมาให้ศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสนุกมาก เรื่องที่อาจารย์เอามาสอนเพิ่มพวกสูตรทางการเงินต่างๆ ที่พวกนักการเงิน นักเล่นหุ้น ควรรู้ ตัวเลขที่คำนวณต่างๆก็ดึงมาจากการอ่านงบการเงินทั้งสิ้น เมื่อเรียนจนเข้าใจมันจริงๆ แค่เห็น Financial statement ขององค์กร ก็รู้ทันทีว่าองค์กรดีหรือไม่ดี มีจุดอ่อน จุดแข็งยังไง ทะลุปรุโปร่ง ที่สำคัญ คนที่คิดจะเล่นหุ้น วิชานี้ ต้องตั้งใจเรียนดีๆ

     จะเกลียดบัญชี หรือ ตัวเลข แต่ก็อย่าไปมองมันเป็นยักษ์เป็นมาร เพื่อนในห้องจบบัญชี เป็นผู้ตรวจสอบหรือ Auditor แต่ละคนเก่งๆทั้งนั้น ผมก็เกาะเขาไปนี่แหละครับ

วิชาที่สองคือวิชา Organization Behavior
     วิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาและพฤติกรรมของคนในองค์กร เมื่อคนจำนวนมากมาอยู่ด้วยกัน พฤติกรรมกลุ่ม การตอบสนองต่อแรงจูงใจต่างๆ จะเกิดผลทั้งในแง่บวกและลบ เช่น การตำหนิลูกน้องเมื่อทำผิด หรือให้รางวัลเมื่อทำดี จะส่งผลอย่างไรกำลังใจของคนนั้น คนประสบการณ์น้อย ไม่เคยเจอปัญหา อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าจะเอาทฤษฎีมาจับของจริงได้ยังไง เรียนไปก็งงไป แต่คนมีประสบการณ์ หรือเคยเป็นหัวหน้า จะนึกภาพออก เทียบกับสิ่งที่ตัวเองเจอมา หรือสิ่งที่ตัวเองเคยทำ สะกิดใจได้ทันทีว่าที่เราเคยทำมาถูกหรือผิด เพราะระหว่างเรียนอาจารย์จะโยนการบ้านเป็นเคสมาให้ทำ จากเมื่อก่อนที่ใช้เซ้นต์อย่างเดียวในการแก้ปัญหาเรื่ององค์กร ตอนนี้สามารถหยิบจับทฤษฏีต่างๆมาใช้ได้แล้ว

     สิ่งสำคัญที่ได้จากวิชานี้คือ การเรียนรู้ปัญหาจากองค์กรณ์อื่นที่เราไม่เคยรู้ ช่วยให้เข้าใจแรงผลักดันต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมในองค์การ ช่วยให้รู้จักนำทฤษฎีที่ได้ มาปรับใช้ในการบริหารพฤติกรรมในองค์กร ถ้าเกิดเคสต่างๆในองค์กรเราจะสามารถหยิบ เครื่องมือ แนวคิด ทฤษฎี มาวิเคราะห์ ปรับใช้ และอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วต้องทำยังไง

วิชาที่สาม STAT หรือวิชาสถิติ
     ถ้าเปรียบชีวิตเป็นหนังที่เราดู เช่นหนังแอ็คชั่น หนังสยองขวัญ วิชาสถิติคงเปรียบได้กับหนังชีวิต โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เรียนคำนวนมาเลย วิชาสถิติไม่ได้ยากในแบบคณิตศาสตร์ชั้นสูง เช่นพวกอนุกรม ฟลูเรีย ดิฟฟิเรนเชี่ยล อิททิเกรต ซึ่งคณิตศาสตร์พวกนี้มันมีสมการมาให้แล้วก็แก้โจทย์ตามนั้น แต่สถิติมันยากตั้งแต่ตอนตีความโจทย์ ต้องเข้าใจว่าโจทย์ถามอะไร โจทย์ให้อะไรมามั่ง แล้วจะหยิบข้อมูลไหนมาใช้ แล้วมาตั้งสมการ ถ้าตั้งต้นผิด ที่เหลือจะผิดตามหมดเลย

     อาจารย์ที่สอนสถิติถือว่ามีความอดทนกับพวกผมมาก เพราะนักเรียนแต่ละคนงงไม่เท่ากัน เพื่อนบางคนเหมือนจะเข้าใจแล้ว แต่พอเพื่อนอีกคนยกมือถาม ก็กลับมางงยิ่งกว่าเดิม แถมแต่ละคนมีความสามารถในการตั้งคำถามให้เพิ่มระดับความงงเข้าไปอีก แต่อาจารย์ก็ใจดีกับพวกผมมาก สอนทุกอย่างอย่างละเอียด และพยายามให้เข้าใจให้มากที่สุด ความโชคดีอีกอย่างคือเพื่อนในห้องมีหลายๆคนเก่งวิชานี้ เวลาใกล้สอบหรือไม่เข้าใจเพื่อนกลุ่มนี้ก็จะมาช่วยติวให้อีกที อันนี้ยังไม่รวมกับการติวจากรุ่นที่พี่ที่เก่งๆทำให้เข้าใจสถิติได้มากขึ้นครับ

     แล้วสถิติเรียนไปทำไม สถิติเป็นวิชาที่เป็นรากฐานเกี่ยวกับการทำงานวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ถ้าเข้าใจมันจริงๆเวลาอ่านโพล ดูโพล เราจะรู้ได้ทันทีว่าโพลนี้น่าเชื่อถือไหม แผนพัฒนาต่างๆในระดับประเทศมีพื้นฐานการตัดสินใจจากวิชาสถิติทั้งนั้น เกือบทุกสายอาชีพเกี่ยวข้องกับสถิติ ยกตัวอย่างโรงงานผลิตหลอดไฟ ถ้าต้องการรู้ว่าในการผลิตแต่ละครั้งมีหลอดเสียกี่เปอร์เซ็นต์ โรงงานจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูล โดยนำหลอดไฟไปทดลองใช้เพื่อจะได้คำตอบเรื่องอายุการใช้งานเฉลี่ย ถ้านำหลอดไฟไปทดลองใช้จนหมดจะไม่มีหลอดไฟเหลือไว้ขาย ถ้าจะมานั่งนับหลอดเสียในแต่ละรุ่นที่ผลิตเป็นหมื่นก็คงไม่ไหว เพราะฉะนั้นเขาจึงเอาสถิติมาช่วยโดยสุ่มตัวอย่าง(Random Sampling Techniques) โดยจะสุ่มตัวอย่างหลอดไฟมาจำนวนหนึ่งเพื่อทดสอบ แทนการนำหลอดไฟทั้งหมดมาทดสอบซ้ำ ลดการเสียเวลา เสียเงิน และหลอดไฟถูกทำลายได้

กลับมาเรียน แล้วชีวิตมันเปลี่ยนไปยังไง
     ในหลักสูตรของผม เรียนอาทิตย์ละสองวัน คือเย็นวันศุกร์กับเสาร์เต็มวัน มีบ้างที่ต้องมาเรียนวันอาทิตย์แต่อย่าคิดนะครับว่า เราไม่ได้เรียนทุกวัน ก็จะมีเวลาว่าง เพราะเวลาว่างที่เหลือ คุณจะต้องเอามาทำรายงาน ทำงานกลุ่ม ที่อาจารย์ผู้สอน มักจะให้มาทำ โดยที่ไม่สนใจว่าเราจะงานยุ่งหรือมีเวลาน้อยแค่ไหน ถ้าเคี่ยวจริงๆ ในทุกๆสัปดาห์ จะต้องมีรายงานส่ง ซึ่งแน่นอน มีหลายวิชา เราก็จะต้องทำงานกับกลุ่มเพื่อนหลายกลุ่ม แทบจะแยกร่างเลยทีเดียว แต่อาจารย์สมัยใหม่เข้าหาง่าย LINEหาได้ อีเมล์หาได้ มีอะไรจะได้สอบถามได้ ก่อนผมจะมาเรียนที่นี่จินตนาการไว้ว่า อาจารย์คงมีแต่แก่ๆ หน้าดุๆ ถามไรก็ไม่ได้ แต่พอเข้ามาเรียนแล้วไม่ใช่แบบนั้นเลย อาจารย์แต่ละคนเด็กมากเมื่อเทียบกับวุฒิปริญญาเอกขอบเขา อาจารย์บางคนถ้ารู้จักกันข้างนอกสามารถเป็นเพื่อนกันได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าเรียนระดับป.โท อย่าอาย อย่ากลัว และหัดยกมือถามอาจารย์ในห้องบ่อยๆ เค้าจะได้จำเราได้ ทำให้เข้าหาได้ง่ายขึ้น

     สุดท้ายนี้ ผมมีเกร็ด MBA ที่เป็นตำนานเล่าต่อๆกันมาครับ ไม่รู้ว่าจริงไม่จริง แต่ส่วนตัวติดว่ามันก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับMBA เท่าไหร่ ตำนานที่ว่านั้นคือ

     1. คนที่มีแฟนจะเลิกกับแฟนเพราะมาเรียน MBA
     2. คนที่มาเรียนMBAจะจับคู่กันเอง จบมาแต่งงานหลายคู่เลย

     เพราะการเรียนป.โท ส่วนมากจะเรียนเวลานอกราชการ ไม่หลังเลิกงานก็เสาร์อาทิตย์ ทำให้ตัวคนเรียน แทบจะไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น วันหยุดเสาร์อาทิตย์ของเราจะหายไป 2 ปี หรือเวลาช่วงเย็นของเราก็จะหายไป 2 ปีเช่นกัน ดังนั้นคนที่มีแฟน ถ้าใจไม่แข็งจริง เลิกกันแน่ๆครับ เพราะคุณจะไม่เหลือเวลาให้แฟนคุณอีกเลย จนนำพามาซึ่งการงอนกัน ทะเลาะกัน เลิกกัน และจับคู่กันเองในคลาส

     แต่ทฤษฎีนี้คงใช้กับหลักสูตรผมไม่ได้ครับ เกือบทั้งห้องที่มาเรียนค่อนข้างมีอายุ ส่วนใหญ่มีครอบครัวหมดแล้ว เรื่องที่จะมาคลิ๊กกันในห้องมีโอกาสน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย

     ตอนนี้เพิ่งผ่านเทอมแรกไป เหลืออีก5เทอม หนทางยังยาวไกล  หวังว่าวันหน้าจะได้มีโอกาสมาแชร์เพื่อนๆอีกนะครับ ^ ^

     หมายเหตุ: เนื่อหาบางส่วน แง่คิดต่างๆ บางส่วนเป็นที่ผมอ่านเจอในแหล่งที่มาอื่น ขออภัยที่จำแหล่งที่มาไม่ได้ครับ พอบางอันจดทิ้งไว้เป็นปีๆเลย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่