** เคล็ดลับคำโคลง ** ตอน..หมั่นเพียรฝึกฝน



           ** เคล็ดลับคำโคลง ** ตอน..หมั่นฝึกฝน

    ๐ สีน้ำคุณครบไหมครับสิบสองสี
เรียงวลีบนกระดานวิมานฝัน
วาดความคิดจิตวิญญาณผสานพลัน
เร่งขยันหมั่นวิชากวีไทย ฯ

๐ แล้วพู่กันจินดาดลสร้างสรรค์
ป้ายความฝันบนรุ้งเรืองผ่องใส
อรรถรสศิลปินกวินไกร
สัมผัสใจ-จินต์พรมตักอักษรางค์ ฯ

๐ คืออักษรปลายพู่กันกวีแกล้ว
คือลำแสงสาดมืดแล้วไร้หมองหมาง
คือเอาใจใส่จิตจิตรรางชาง
คือสุคันธ์ฉมกระจ่างที่กลางใจ ฯ

๐ สีไม่ครบสบแล้งลำแสงสี
โปรดเถิดหาวิธีทำแสงใส
แล้วหล่อหลอมวารินถวิลนัย
ขยันบ่มรำบายไว้ในวงกวี ฯ

๐ สีน้ำเราย่อมไม่เฉาพร้อมเอาออก
เปลือกปูนลอกอักษราสุวรรณฉวี
ให้งามงดทั่วฟ้ามหานที
ในเวิ้งว้างวรรณกวีแห่ง..สีน้ำ ฯ

๐ หวังว่าสีน้ำใจนัยสิบสาม
จักขลังขามครรโลงจรรโลงร่ำ
สื่อจินดาผ่าอักษรเพื่อสอนคำ
“ศรีกวี”ลำนำสวรรค์กวี ฯ


  ตอนนี้จะค่อนข้างยากสำหรับมือใหม่  ต้องขยันหมั่นฝึกฝนและอ่านท่องศัพท์เยอะๆ
การมีพจนานุกรมไว้ข้างกายจะช่วยได้มาก ตลอดจนการหาอ่านบทกวีสมัยโบราณดูการใช้คำศัพท์ต่างๆของกวี
แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม

๑๑.ใช้บาลี – สันสกฤตแทนคำไทยแท้

ยกตัวอย่าง ::

๐ วินายกาครุฑแก้ว              โสรงศรี   กูนนา
“สดายุ-สัมพาที”                  เทพไท้
อดิศรสง่าทวี                       เวทพละ  วิรุฬห์แฮ
แดงพี่เขียวน้องไซร้              สถิตแคว้นหิมวันต์ ฯ

๐ วันหนึ่งสดายุน้อง             แลเห็น
อาทิตย์อุษาเป็น                  โภคไม้
รำไพพิโรธเข็ญ                   ประภัส  เผาเวย
สัมพทีปีกไปล้                     ปกป้องภราดร ฯ

   ถ้าไม่รู้คลังศัพท์มากพอก็ยากที่จะแต่งให้หลากหลาย โปรดสังเกตว่าโคลงโบราณส่วนมากจะใช้ศัพท์แสงค่อนข้างสูง
ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่เป็นการถวายงานองค์พระมหากษัตริย์นั่นเอง

   พูดง่ายๆคือ โคลงสี่เป็นบทวรรณศิลป์ที่ใช้มากในราชวงศ์ชั้นสูง การใช้อักษรจึงต้องประณีตตามกลุ่มเป้าหมาย..
แต่..ปัจจุบันการแต่งโคลงจะหย่อนเรื่องคำเหล่านี้ลงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

   ควรมีคำศัพท์เหล่านี้ในโคลงบ้างเพื่อเพิ่มสีสัน เพราะการฝืนใช้คำซ้ำๆจะทำให้น่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ
   นอกจากนี้การศึกษาเรื่อง “คำไวพจน์” “คำราชาศัพท์” ฯลฯ จะช่วยท่านได้

๑๒. แก้ปัญหาคำยาวเกินขนาดด้วยการตัด หั่น ย้าย จัดวางในตำแหน่งใหม่ที่ยังคงสื่อเนื้อหาเดิม

ยกตัวอย่าง :: เราจะบรรยายเกี่ยวกับประวัติของพระนางอุษาเทวี  แต่บางคำมันยาวเกินเนื้อที่ของฉันทลักษณ์ จึงต้องตัดทอนหรือวางสลับ
                  แต่ให้ใกล้เคียงความหมายเดิม ผู้อ่านอ่านแล้วยังพอตีความได้

  ๐ ธิดาโทยสไท้                    ทิวาวาร
กนิษฐ์รำไพพาน                     เทพจ้าว
เยาวน์เทวิพิศาล                     สรวงทิพย์
เรืองอหันนาท้าว                     ทะนะช้อยชโยโฉม* ฯ
    
   [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

  *สังเกตตรง “ทะนะช้อยชโยโฉม”  แยกคำมาจาก “ชโยทะนะ” ก็ยังพอสื่อ-ความเดิมได้
   เทคนิคดังกล่าวนี้เหมาะกับการแต่งยกย่องหรือบรรยายบุคคล/สถานที่ชื่อยาวๆ ซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป
อันนี้จะรวมถึงการแต่งในกรณีต่างๆตามโจทย์ที่ได้มาด้วย..

  ..นักเรียนอย่าพลาด.!!.

   [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ดอกไม้ดอกไม้อมยิ้ม26อมยิ้ม29อมยิ้ม17ดอกไม้ดอกไม้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่