ถามหนักมาก ! “ทำฟันประกันสังคม” ทำไม 600บาท/ปี แถมต้องจ่ายก่อน



แม้จะได้รับการชี้แจงจาก “นายโกวิท สัจจวิเศษ” เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส.เกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิกรณีทันตกรรมสำหรับผู้ประกันตน เพื่อให้ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายรวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดราคากลางที่ 600 บาท / คน / ปี แต่สำหรับชาวโซเชียลที่เป็นผู้ประกันตนแล้วดูเหมือนยังไม่พอใจเท่าไหร่กับคำชี้แจงของเลขาฯสปส. โดยเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งมองว่า“เรื่องของสิทธิในการทำฟันควรเป็นเรื่องที่เบิกจ่ายเช่นเดียวกับสิทธิในการรักษาพยาบาลทั่วไป ทำไมจึงต้องแยกออกมาให้เป็นเรื่องของการสำรองจ่ายแล้วจึงค่อยเบิก พร้อมถามกลับไปยังผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ว่ามีความเหมาะสมเพียงใดกับราคาที่กำหนดไว้เพียง 600 บาท / คน/ ปี ทั้ง ๆ ที่ในข้อเท็จจริงปัจจุบันการทำฟันมีราคาค่าใช้จ่ายจริงค่อนข้างสูง (เฉพาะในส่วนของการรักษา) ในแต่ละครั้ง การกำหนดราคากลางดังกล่าวจะต้องมีการพิจารณาใหม่หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสปส.ได้ยืนยันระบุว่าการกำหนดราคากลางนั้นเกิดจากการอ้างอิงผ่านกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากหากจะทำราคากลางกับสถานพยาบาล ทางสปส.ก็ยินดีแต่อยู่ที่ว่าแต่ละแห่งจะยินยอมหรือไม่!

                ปัญหานี้จึงกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ในมิติของ “ความเหมาะสมของการให้ผู้ประกันตนต้องจ่ายก่อน และ การประเมินราคากลางสำหรับกรณีการทำฟัน”

                ขณะที่สื่อหลาย ๆ สำนักเคยเปิดเผยถึงความคิดเห็นของทันตแพทย์หลาย ๆ สถานพยาบาลไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งหลาย ๆความเห็นยอมรับว่า “กรณีเพดานค่าทำฟันนั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะในส่วนของสถานพยาบาลเอกชน ขณะที่ส่วนในส่วนของสถานพยาบาลรัฐนั้น ก็คงเป็นการรักษาเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้นสำหรับเพดาน 600 บาท / คน / ปี”  

                นอกจากนี้ยังมีเรื่องของผู้ประกันตนที่ต้อง สำรองจ่ายแล้ว จึงนำไปเบิก ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็น ทอล์คออฟเดอะทาวน์  ซึ่งลองฟังการไขคำตอบในทั้งสองนี้โดย “นางชะลอลักษณ์ แก้วพวง”  ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. ที่เปิดเผยผ่าน “THAI QUOTE”  ว่า “เกี่ยวกับเรื่องความคุ้มครองในเรื่องของทันตกรรม ซึ่งสปส.ได้ขยายเพดานค่ารักษามาหลายรอบแล้ว ตั้งแต่ครั้งละไม่เกิน 300 บาทมาจนถึง 600 บาทในปัจจุบัน

                ซึ่งหากดูจาก ความเป็นจริง ที่ได้มีการศึกษากันมาแล้วก่อนหน้านี้ การใช้บริการทันตกรรมหรือทำฟันของวัยแรงงานที่เข้าใช้บริการ ในสาธารณสุข ยังสามารถได้ในราคาที่ 300 บาท เช่นการขูดหินปูน แต่ปรากฏว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่ ไม่ใช้บริการของรัฐ ส่วนใหญ่จะใช้บริการกับทางคลินิก ซึ่งมีราคาสูงกว่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายได้ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งการปรับมาเป็น 600 บาทต่อปี ทางคณะกรรมการของ สปส.ก็มีการพิจารณาในส่วนนี้ว่าอาจจะต้องมีการปรับให้เพดานให้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะต้องเพิ่มเท่าไหร่ ซึ่งก็ต้องรอผลการศึกษาในหลายๆ ส่วนก่อน เพราะเรื่องนี้ ก็ต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อกองทุนฯ ด้วย เพราะปัจจุบันมีโรคหลายโรคที่จำเป็นจะต้องดูแล และหลายๆ โรคมีราคาเวชภัณฑ์และค่ารักษาค่อนข้างสูง ฉะนั้นจึงต้องมาเฉลี่ยในส่วนต่างๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นกองทุนฯ อาจต้องแบกรับภาระมากเกินไป

                ส่วนการสำรองจ่ายแล้วจึงเบิกทีหลังนั้น ทางสปส.คิดหลายวิธี และเคยให้ทางสถานพยาบาลมาเบิกเอง แต่ก็เป็นปัญหา เพราะ ไม่สามารถตรวจสอบผู้เข้ารับบริการได้จริง ซึ่งก็มีที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง จึงต้องมให้ผู้ประกันตนสำรองจ่ายไปก่อนแล้วนำใบเสร็จมาเบิก แต่เวลานี้ ก็เตรียมที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนนี้ โดยเฉพาะในการใช้ระบบเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบ  แต่ตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่าจะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยต้องใช้เวลา เพื่อความโปร่งใสและความเหมาะสม

                สปส.ไม่ได้ปฏิเสธข้อเสนอแนะที่มีเข้ามา รวมทั้งพร้อมรับฟังทุกปัญหา และนำไปปรับปรุงพัฒนาเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกันตน แต่ทั้งนี้ก็มีเงื่อนไขในหลากหลายส่วน และกำลังได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในอนาคต แต่คงต้องใช้เวลา”

            ชัดเจนกันไปกับ “ทอล์คออฟเดอะทาวน์” เกี่ยวกับ “ทำฟันประกันสังคม” ที่ตรงถึงจุดนี้แล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ และน่าจะมีการเปิดการหารือร่วมกันของผู้ประกันตน และสปส. ว่าควรจะมีทางออกกับเรื่องนี้ยังไง เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่รับฟังได้ด้วยกันทั้งคู่

http://thaiquote.org/article-details.php?code=618
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่