ว่าด้วยเรื่อง "เหยียด"

กระทู้สนทนา

ว่าด้วยเรื่องของการ “เหยียด”

    การเหยียดที่เราพูดถึงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเหยียดที่เป็นการทำวัตถุใดใดยืดออกจนยาวขึ้นแต่ประการใด แต่เหยียดในที่นี้หมายถึงการดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยามซึ่งศักดิ์ศรีของใครก็ตาม ซึ่งในประเด็นนี้นั้นเป็นมูลเหตุอันการให้เกิดความรุนแรงในสังคมของเรามาช้านานตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน และปัจจุบันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกมุมโลก ไม่ว่าจะความขัดแย้งระหว่างศาสนา ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ หรือแม้แต่ความขัดแย้งอันเกิดมาจากความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง

บทนิยาม
- เชื้อชาติ/กลุ่ม/พันธุ์ คือ การรวมหมู่ของชนกลุ่มใดใด ด้วยจุดร่วมใดใดที่มีร่วมกัน อาทิ เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ความเชื่อ ทัศนคติทางการเมืองเป็นต้น
- การเหยียด คือ การกระทำใดใดที่เป็นการก่อความไม่สะดวกทั้งทางกาย และทางใจ ทั้งมาก และน้อย กับบุคคลอื่นโดยมีผลอันเนื่องมาจากที่ฝ่ายถูกรังแกมีความแตกต่างจากผู้รังแก

ตัวอย่างของการเหยียดหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาในปัจจุบัน
เชื้อชาติ สัญชาติ (ที่ต่างกัน)

    “เชื้อชาติ สัญชาติ”เป็นปัญหาด้านการเหยียดที่อาจกล่าวได้ว่ามีความ “คลาสสิก” เป็นอันดับต้นๆ ในการเหยียดทั้งหลาย เพราะจากพื้นฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์นั้นจะเห็นได้ว่ามนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณเริ่มก่อสงครามประหัตประหารกันก็ด้วยปัจจัยเรื่องเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือเผ่าพันธุ์ที่ต่างกับตน
    อนึ่งปัจจุบันการเหยียดเรื่องเชื้อชาตินั้นยังคงมีอยู่ในทุกระดับ ทุกองค์กร จนบางครั้งเราอาจชินชาจนมองเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีการเหยียดเชื้อชาติอยู่ในจริง ตัวอย่างเช่น จากในภาพยนตร์คนผิวสี คนเอเชียมักจะถูกมองเป็นประชากรชั้นสอง (หรือสาม) ในสังคม การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชนต่อผู้ใช้บริการบางครั้งก็ปฏิบัติไม่เสมอภาคกันในแต่ละชาติพันธุ์ และในบางประเทศมีการกีดกันถึงขนาดในเรื่องของการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การประกันภัย หรือแม้แต่การมีใบอนุญาตขับขี่ เป็นเรื่องที่คนต่างชาติพันธุ์จะถูกกีดกันให้ทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลย

เชื้อชาติ สัญชาติ (ที่ใกล้เคียงกัน)
    ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ล้อกับประเด็นแรกในลักษณะย้อนแย้งกัน เพราะประเด็นแรกนั้นเหยียดกันเพราะเขาต่างจากเรา แต่ประเด็นนี้เหยียดกันเพราะเขาคล้ายเรา แต่เราต้องการจะเหนือกว่า ต้องการเป็นผู้ปกครอง “ต้องการให้เผ่าพันธุ์อื่นเป็นผู้ใต้ปกครอง” กรณีศึกษาในเรื่องนี้ที่ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็นกรณีความขัดแย้งในประเทศรวันดาของเผ่าอูตู และเผ่าตุ๊ดซี่ ซึ่งโดยพื้นเพความเชื่อ ลักษณะทางกายภาพ ความเป็นอยู่ต่างๆ คนทั่วไปไม่สามารถแยกออกได้ว่าต่างกันเช่นไร แต่กระนั้นคนในรวันดาเองสามารถแยกออกได้ และสามารถฆ่าฟันกันเองได้อย่างไม่น่าเชื่อว่าเป็นคนชาติเดียวกัน
    แต่หากยังไม่ชัดเจนเนื่องจากรวันดานั้นไกลเกินไป เรายังมีกรณีศึกษาที่ใกล้กว่านั้น คือ ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ตัวของประเทศเมียนม่าร์ หรือพม่านั้น มีความเป็นสหภาพอย่างแท้จริง เนื่องจากมีประชากรที่หลากหลายชนเผ่าน้อยใหญ่รวมตัวกันอยู่ถึงราว 140 เผ่า ซึ่งแน่นอนว่าคนภายนอกมองเข้าไปไม่สามารถแยกแยะได้ออกว่าเขาเป็นคนเผ่าใด แต่คนภายในนั้นสามารถแยกออกได้ ที่สำคัญยังมีการกีดกันทางสิทธิ ความเป็นอยู่ และสวัสดิการอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังมีการสู้รบเพื่อฆ่าฟัน รุกไล่กันอยู่ตามแนวชายแดนจนถึงปัจจุบันนี้ด้วย

การศึกษา
    หากคิดถึงการศึกษาเราคงคิดถึงการเพิ่มพูนความรู้ สติปัญญา ก่อสามัญสำนึกซึ่งการแยกแยะผิดชอบเลวดี แต่เราจะคิดถึงหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วการศึกษาในปัจจุบันทั้งในประเทศไทย และในระดับนานาชาติยังมีการเบียดขับกันอยู่อย่างกว้างขวาง กล่าวคือมีการเบียดขับกันตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าสู่ระบบการศึกษา ที่บางแห่งสงวนสิทธิทั้งทางตรง และทางอ้อมแก่ผู้ที่สถานศึกษานั้นเห็นว่า “เหมาะสม” ที่จะเข้าศึกษาในสถาบันของเขา ต่อมาคือระหว่างกระบวนการการศึกษาที่จะมีการเบียดขับกันอยู่ไม่น้อย แต่ในขั้นนี้มิได้เกิดจากตัวสถาบันเอง หากแต่มักเกิดกับตัวเพื่อนร่วมชั้นที่อาจเบียดขับเพื่อนในกลุ่มที่มีลักษณะบางประการด้อยกว่าตน และสุดท้ายคือหลังจบการศึกษาเราจะพบการเบียดขับได้ในกระบวนการประกอบอาชีพ ที่แน่นอนว่าหน่วยงานต่างๆ จะทำการคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่ตนคิดว่า “เหมาะสม” กับหน่วยงานของตน ซึ่งโดยสรุปนั้นเราจะเห็นได้ว่าเราใช้คำว่า “เหมาะสม” ในการสร้างความชอบธรรมการเบียดขับบุคคลที่มีการศึกษาต่างกันอย่างดูเป็นปกติ และประหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั่นเอง

ศาสนา
    “ศาสนา” สถาบันที่เป็นหน่วยหลักในการขัดเกลามนุษย์ให้มีศีลธรรมจรรยา ปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น แต่ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันเราปฏิเสธมิได้เลยว่ามีการนำศาสนามาใช้ในทางที่ผิด เป็นตัวชี้นำในการเบียดขับผู้คนต่างศาสนา รุกไล่ผู้นับถือลัทธิอื่นๆ ออกจากดินแดน และสุดท้ายคือเป็นความชอบธรรมในการฆ่า
    นับแต่อดีตความขัดแย้งในศาสนามีอยู่อย่างเสมอทั้งความรุนแรงทางตรง และการใช้ “Soft Power” ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งของศาสนาในสงครามครูเสด การเข้ามาพยายามครอบงำทางศาสนาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความขัดแย้งของศาสนาในอินเดีย และความขัดแย้งเกี่ยวกับศาสนาอิสลามกับศาสนาที่แตกต่างอันยังผลไปถึงความขัดแย้งเรื่องโรฮิงญาในปัจจุบัน เหล่านี้ล้วนมีต้นเหตุมาจากการนำศาสนามาใช้ในทางที่ผิด การนำศาสนามาเบียดขับให้คนที่คิดต่างจากตนตกขอบไปนั่นเอง

สวัสดิการ
    “สวัสดิการ” สิ่งที่อาจเป็นรัฐ เอกชน หรือแม้แต่สมาชิกในชุมชนอาจจัดให้แก่บุคคลที่อยู่อาศัยร่วมกันในสังคมเพื่อเป็นการลดช่องว่างในการดำเนินชีวิตให้ไม่ยากลำบากเกินไป แต่ทราบหรือไม่ว่าการจัดสวัสดิการนั้นยังมีการจัดแบบเว้นวรรค กล่าวคือให้แก่คนที่เราเห็นควรว่าอยากให้เสียก่อน กรณีศึกษาเช่น การบริการทางการแพทย์ที่รัฐจัดให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติงานในระบบราชการซึ่งเป็นประชากรส่วนน้อยในประเทศ แต่กลับใช้งบประมาณมากกว่าการให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนทั่วไป เช่นนี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าเป็นการใช้สวัสดิการอย่างไม่ทั่วถึง ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะห่างออกจากคำว่า “รัฐสวัสดิการ” ที่เราใฝ่ฝันถึงแล้ว มันยังออกห่างจากคำว่าเท่าเทียมในเรื่องของการเบียดขับ หรือเหยียดอีกด้วย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
จากบทความของ Robert Hayles
เผยแพร่โดย
จากหนังสือชื่อ : The SAGE Encyclopedia of Intercultural Competence
หัวข้อ : " Racism, Institutional"
เว็บไซต์ : http://sk.sagepub.com/
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ติดตาม : สาระ/ความรู้/Info graphic กฎหมายใหม่/การพัฒนางานด้านกระบวนการยุติธรรม
ได้ที่ : www.facebook.com/weareoja
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่