ก่อนถึงวันสูญพันธุ์! จับตู้โทรศัพท์โมดิฟาย กลายร่างเป็นนวัตกรรมสุดทึ่ง

ตู้โทรศัพท์สาธารณะ...เพื่อนผู้แสนดีที่ทำหน้าที่เฝ้ารอเพื่อนผู้เดือดร้อนอย่างเราๆ มาหยิบจับติดต่อขอสื่อสารถึงคนแดนไกล แต่ ณ วันนี้ เพื่อนผู้แสนดีคนเก่ากลับแปรสภาพเป็นตู้กระจกไร้ค่า ปราศจากคนเหลียวแลเหมือนเช่นแต่ก่อน...

“ยุคทองของการให้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะ คือ ปี 2548 ทีโอทีสามารถทำรายได้สูงถึง 4,328 ล้านบาทต่อปี ทีโอทีไขเหรียญจากตู้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 3-4 พันบาทต่อเครื่อง แต่ทันทีที่สมาร์ทโฟนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทย รายได้จากตู้โทรศัพท์สาธารณะก็ถดถอยลง เหลือเพียงสัปดาห์ละ 100-200 บาทต่อเครื่องเท่านั้น” คำบอกเล่าจากปากของสมหมาย สุขสุเมฆ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาคขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 บริษัท ทีโอที คงจะเป็นการการันตีถึงสภาวะของเพื่อนผู้แสนดีได้อย่างกระจ่างชัดที่สุด

เพื่อนผู้แสนดีกลายเป็นสิ่งไร้ค่าได้ แต่เพื่อนผู้แสนดีจะอยู่อย่างไร้ประโยชน์ต่อไปไม่ได้...โอกาสนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไม่รอช้า เสาะหาหนทางบันดาลตู้โทรศัพท์ให้กลายเป็นทรัพย์สมบัติมีราคา พร้อมครองใจปวงประชาได้อีกคราแน่นอน!

กาลเวลาเปลี่ยนผ่าน ตู้โทรศัพท์ถูกเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

ถามจากปากทีโอที ตู้โทรศัพท์สาธารณะ กำไร หรือ ขาดทุน?

ตู้โทรศัพท์ อนุสรณ์สะท้อนความเฟื่องฟูในยุคหนึ่งของระบบโทรคมนาคมไทย ที่ ณ วันนี้เปลี่ยนผ่านตามกระแสเทคโนโลยี จนจากหายไปเพราะไร้ความสำคัญ โดย นายสมหมาย สุขสุเมฆ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาคขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT บอกเล่าถึงความถดถอยของเพื่อนรักตู้โทรศัพท์สาธารณะว่า ในปี พ.ศ.2548 ทีโอทีเปิดให้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะในนครหลวงราว 6 แสนเครื่อง โดยมีรายได้ 1,317 ล้านบาทต่อปี และในส่วนภูมิภาค หรือต่างจังหวัด ทีโอทีให้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะมากถึง 2.4 ล้านเครื่อง โดยมีรายได้ 3,011 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสิ้นตลอดทั้งปี มีรายได้สูงลิ่ว 4,328 ล้านบาทต่อปี และในอดีต รายได้จากตู้โทรศัพท์สาธารณะนับเป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักของทีโอที

ขณะที่ การลงทุนในบริการตู้โทรศัพท์สาธารณะ สมหมาย สุขสุเมฆ ให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทีโอจะต้องสั่งซื้อตู้โทรศัพท์สาธารณะจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตได้เอง โดยทีโอทีไม่ได้ลงทุนเพียงครั้งเดียว แต่จะเป็นการลงทุนในรูปแบบทยอยลงทุน ซึ่งแต่ละครั้งจะตกอยู่ที่หลักร้อยล้านบาทต่อครั้ง และเม็ดเงินในจำนวนนี้จะได้ตู้โทรศัพท์ราว 300-400 เครื่อง ตกราคาเครื่องละ 30,000-50,000 บาท

“วินาทีนี้ ถือว่า ทีโอทีมีกำไรจากการให้บริการผ่านตู้โทรศัพท์แล้วหรือไม่?” ผู้สื่อข่าวถาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาคขายฯ นครหลวงที่ 4 ซึ่งได้รับคำตอบว่า “ทีโอทีได้กำไรจากการให้บริการผ่านตู้โทรศัพท์สาธารณะเกินทุนมานานแล้ว แต่ ณ ขณะนี้ ไม่สามารถระบุตัวเลขได้ เนื่องจากต้องย้อนไปดูตัวเลขเก่า”

คืนวันผันผ่าน กาลเวลาชักพาสมาร์ทโฟน ฉุดตู้โทรศัพท์ฯ ห่างเหินหัวใจ

สมหมาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาคขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 ทีโอที เล่าถึงลูกค้าขาประจำของตู้โทรศัพท์สาธารณะให้ทีมข่าวได้ฟังว่า ผู้ที่นิยมใช้ตู้โทรศัพท์มากที่สุด ได้แก่ 1. นักโทษ ซึ่งทีโอทีได้ติดตั้งตู้โทรศัพท์ฯ ไว้ในเรือนจำ โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ อีกทั้งยังมีซอฟต์แวร์ในการควบคุมไม่ให้มีการใช้งานนอกลู่นอกทาง 2. นักเรียนจ่าอากาศ ซึ่งทางโรงเรียนจ่าอากาศมีกฎห้ามไม่ให้นักเรียนนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปใช้งาน จึงทำให้นักเรียนเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้งานตู้โทรศัพท์สาธารณะ และกลุ่มที่ 3 คือ ประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะพบว่า ในบางชุมชนยังมีความต้องการใช้งานตู้โทรศัพท์สาธารณะอยู่

“พอเข้าปี 2549 พฤติกรรมการใช้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง เดิมทีจะมีรายได้หลักจากบรรดาสาวโรงงาน เนื่องจากทีโอทีเข้าไปติดตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะบริเวณโรงงานอุตสาหกรรมทั่วทุกหัวระแหง แต่ปัจจุบันสาวโรงงานเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้โทรศัพท์มือถือกันหมด จึงทำให้ยอดการใช้โทรศัพท์สาธารณะลดน้อยถอยลงอย่างมาก” สมหมาย สุขสุเมฆ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาคขายฯ ทีโอที พูดถึงอดีตทาร์เก็ตหลัก


ปัจจุบัน ตู้โทรศัพท์สาธารณะถูกหมางเมินอย่างไม่ไยดี

แม้ว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะจะตายจากใจของใครบางคนไปแล้ว แต่ ทีโอที นั้น ไม่สามารถยุติการให้บริการได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ระบุว่า ระบบสื่อสารโทรคมนาคมของชาติต้องบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับดูแล มีหน้าที่กำหนดมาตรการให้มีการกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม

“ทีโอทีจะสามารถพลิกโฉมตู้โทรศัพท์ให้เป็นของมีค่า มีราคาได้อย่างไรบ้าง?” ทีมข่าวถามกับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาคขายฯ นครหลวงที่ 4 โดยได้รับคำตอบว่า “หากจะนำตู้โทรศัพท์สาธารณะมาประดิษฐ์คิดค้นเป็นสิ่งของใดๆ ก็คงจะยากลำบาก แต่เท่าที่ทำได้ ณ ตอนนี้ คือ ตู้โทรศัพท์สามารถให้บริการแก่ผู้มีรายได้น้อย และทีโอทีก็จะต้องบำรุงรักษาของที่มีอยู่ต่อไป”

ปั้นดินให้เป็นดาว! จับตู้โทรศัพท์ แปลงร่างเป็นสิ่งของยอดฮิต

ปั้นดินให้เป็นดาว 1
นายทรงศักดิ์ แต่สุวรรณ เลขานุการชมรมกีฬาจักรยานทีโอที ผุดไอเดียสร้างสรรค์ให้ทันยุคสมัย พร้อมเปิดใจกับทีมข่าวว่า ปัจจุบันคนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งการปั่นจักรยานถือว่าเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่ประชาชนให้ความสนใจตลอดปีที่ผ่านมา ดังนั้น ทางชมรมกีฬาจักรยานทีโอที จึงเกิดไอเดียที่จะพัฒนาตู้โทรศัพท์สาธารณะให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยนำตู้โทรศัพท์ที่มีสภาพดีพร้อมใช้งาน มาดัดแปลงให้เป็นจุดซ่อมบำรุงดูแลรักษาจักรยานเบื้องต้นด้วยตนเอง ซึ่งทีโอทีเรียกขานว่า TOT Bike Repair Station หรือ สถานีซ่อมจักรยานด้วยตนเอง

อานุภาพ อัศวกุล ผู้ช่วยเลขานุการชมรมกีฬาจักรยานทีโอที สาธิตวิธีการใช้ตู้ TOT Bike Repair Station
“ทีโอทีได้นำแผง Solar Cell มาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในตู้ TOT Bike Repair Station โดยจะเก็บพลังงานไว้ในช่วงกลางวัน เพื่อให้แสงสว่างได้อย่างเพียงพอในช่วงกลางคืน และภายในตู้ยังมีช่อง USB ถึง 2 ช่องที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ให้แก่อุปกรณ์ Smart Phone ได้ตลอดทั้งวันอีกด้วย” เลขานุการชมรมกีฬาจักรยานทีโอที บอกเล่าอย่างเป็นมิตร พร้อมใช้งาน ตู้ TOT Bike Repair Station โชว์ทีมข่าว

ตู้โทรศัพท์อเนกประสงค์ สามารถชาร์จสมาร์ทโฟนได้

อุปกรณ์สำหรับซ่อมจักรยานที่ถูกบรรจุไว้ในตู้โทรศัพท์
อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 ทีโอที ตั้งเป้าหมายติดตั้งตู้ TOT Bike Repair Station จำนวน 20 ตู้ทั่วประเทศ โดยแต่ละตู้จะใช้งบประมาณ 6,000 บาท

ปั้นดินให้เป็นดาว 2
สมหมาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาคขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 บริษัท ทีโอทีฯ กล่าวถึงการต่อยอดประโยชน์จากตู้โทรศัพท์ว่า ทีโอที ได้ร่วมมือกับ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด ติดตั้งเครื่องโทรศัพท์สาธารณะรุ่นบุญเติมจำนวน 416 ตู้ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่นครหลวง โดยประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์ และสามารถเติมเงินมือถือได้จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ โดยในปี 2559 มีเป้าหมายที่จะจัดทำเป็นตู้บุญเติมจำนวน 1,000 ตู้ในนครหลวง และ 1,000 ตู้ทั่วภูมิภาค

สมหมาย สุขสุเมฆ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาคขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 บริษัท ทีโอที

“ผลตอบแทนที่ทีโอทีจะได้รับจากสัญญาให้เช่าตู้ ตกอยู่ที่ 650 บาทต่อตู้ โดยมีอายุสัญญา 3 ปี ส่วนค่าไฟของตู้โทรศัพท์ ทีโอที คือ ผู้จ่าย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาคขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 บริษัท ทีโอทีฯ ให้ข้อมูลรายรับรายจ่าย

ปั้นดินให้เป็นดาว 3
สมหมาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ภาคขายและบริการลูกค้านครหลวงที่ 4 บริษัท ทีโอทีฯ ให้ข้อมูลอีกว่า ทีโอทีได้ดัดแปลงตู้โทรศัพท์สาธารณะมาใช้เป็นตู้บรรจุหนังสือธรรมะ และหนังสือที่เป็นประโยชน์กับเยาวชนและชุมชน โดยมอบให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 100 ตู้ ใน พื้นที่ กทม.จำนวน 10 แห่ง และภูมิภาค 90 แห่ง ซึ่งโครงการดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า โครงการตู้หนังสือ ทีโอที วชิรเมธี

ปั้นดินให้เป็นดาว 4
โดยในข้อนี้ ทีมข่าวได้พูดคุยกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อหาแนวทางพลิกโฉมตู้โทรศัพท์สาธารณะให้กลายเป็นทรัพย์สมบัติมีราคา ซึ่งได้รับคำตอบจาก นายกันต์ วีระกันต์ ผู้จัดการฝ่าย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ว่า ปัจจุบันที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ดำเนินการอยู่ คือ การนำตู้โทรศัพท์สาธารณะไปใช้ในงานจราจรเพื่อตรวจสอบรถติด โดยให้เจ้าหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ในตู้โทรศัพท์ เพื่อใช้วัดความเร็วของรถทุกประเภทที่วิ่งผ่าน และส่งสัญญาณไปยังแผนที่จราจรเพื่อวิเคราะห์ว่าบริเวณนั้นๆ มีรถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าไร รถติดหรือไม่

ปั้นดินให้เป็นดาว 5
ผู้จัดการฝ่าย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เสนอแนะไอเดียอีกว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะสามารถนำมาจัดคิวรถเมล์ได้ กล่าวคือ หากคุณต้องการที่จะทราบว่า อีกกี่นาทีรถเมล์สายที่คุณต้องการใช้บริการจะวิ่งมาถึงที่ป้ายแห่งนี้ ก็สามารถทราบได้ทันที

โดยวิธีการพัฒนา ก็คือ นำอุปกรณ์ส่งสัญญาณไปติดไว้บนรถเมล์และบริเวณฝ้าด้านบนของตู้โทรศัพท์ เมื่อรถเมล์วิ่งผ่านจะจับสัญญาณบอกได้ว่าถึงตรงจุดใดแล้ว และอีกกี่นาทีจะถึงป้ายต่อไป หรือถ้าบริเวณใดไม่มีตู้โทรศัพท์ จะใช้วิธีติดตั้งอุปกรณ์ตามสี่แยกแทน โดยตามแยกจะมีกล้อง CCTV อยู่ ซึ่งสามารถนำอุปกรณ์ไปติดไว้ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้ระบบขนส่งมวลชนไทยมีความอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น

ปั้นดินให้เป็นดาว 6
นอกจากนี้ ตู้โทรศัพท์สาธารณะส่วนใหญ่ มักจะถูกนำไปตั้งไว้ในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน โดยกันต์ ผู้จัดการฝ่าย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ แสดงทรรศนะว่า รัฐอาจจะยกระดับจากรถเข็นขายของริมถนน ที่เวลาทำอาหารจะเลอะเทอะบนทางสาธารณะ ไม่มีสุขอนามัย ไม่ค่อยสะอาด แปรเปลี่ยนเป็น Food Box ตู้จำหน่ายอาหารสำเร็จรูป โดยปรุงสำเร็จมาจากโรงงาน เมื่อลูกค้าต้องการซื้ออาหารสำเร็จรูปก็เดินเข้าไปยังตู้โทรศัพท์และนำอาหารออกมาจากตู้ ก่อนที่มีอุปกรณ์อุ่นร้อนให้ภายในตู้นั้นด้วย และด้วยความที่พื้นที่ในตู้ค่อนข้างแคบ จึงอาจจะใช้เป็นเคาน์เตอร์อาหารที่สามารถพับเก็บได้

ของไร้ค่า มีราคาได้ ใช่เพียงคิด
ติดอยู่ที่ รัฐสนไหม ไม่เบือนหนี
หากทุกฝ่าย ร่วมมือ เกื้อกูลดี
สุดท้ายนี้ ตู้โทรฯ ฉัน สร้างศรีเอื้อประชา.

http://www.thairath.co.th/content/591211

นอกจาก 6 อย่างนี้ คิดว่าใช้มันทำอะไรอีกดี...
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  เทคโนโลยี การบริหารจัดการ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่