ซีพีเอฟ ส่งเสริมบุคลากรบริหารจัดการเงิน สร้างองค์กรแห่งความสุข

กระทู้ข่าว

           บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดโครงการปลดหนี้สร้างสุข และ ส่งเสริมการออม  มุ่งแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต และหนี้นอกระบบให้กับพนักงาน ด้วยการจัดหาแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำ นำร่องในฟาร์มสุกร 12 แห่งทั่วประเทศ  พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีการบริหารจัดการด้านการเงิน และวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ และความสุขอย่างยั่งยืน

           นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญต่อ “พนักงาน” เพราะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เป้าหมาย และนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน บริษัทจึงริเริ่มโครงการและสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้น ซึ่ง “โครงการปลดหนี้สร้างสุข และ ส่งเสริมการออม” นับเป็นโครงการที่ช่วยปลดหนี้ให้พนักงาน โดย ร่วมกับธนาคารออมสิน ให้วงเงินกู้มาเพื่อ ช่วยเหลือลดภาระดอกเบี้ยจากเดิม 3-20% ต่อเดือน ให้เหลือประมาณ 0.5% ต่อเดือน ไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการออม และเสริมสร้างและเรียนรู้ด้านการเงินด้วยการทำบัญชีครัวเรือน  เพื่อสร้างวินัยการเงินที่ดีให้กับพนักงาน

           “โครงการนี้นับเป็นหนึ่งในการทำ CSR ให้กับพนักงาน จากมุมมอง 3 ด้าน คือ สุขภาพกาย  สุขภาพใจ และ และสุขภาพเงิน โดยเรื่องสุขภาพกาย และสุขภาพใจเราทำอยู่แล้ว แต่สุขภาพเงินนั้น จากการสำรวจพบว่าพนักงานยังมีปัญหาภาระการเงินอยู่จึงให้ทำแบบสำรวจโดยให้เขียนภาระการเงินของตน ซึ่งพบว่า 75% มีภาระหนี้สินทั้งในและนอกระบบ มีพนักงาน ที่มีหนี้สินจำนวนมาก และ ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สิ้นของตัวเองและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้  บริษัทจึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน มีฟาร์มนำร่องเข้าร่วมโครงการ 12 ฟาร์ม ทั่วประเทศ โดยมีพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 104 คน และได้เงินสินเชื่อจากธนาคารกว่า 13 ล้านบาท” นายสมพร กล่าว

           โครงการปลดหนี้สร้างสุขและส่งเสริมการออม   ได้ดำเนินโครงการใน 12 ฟาร์มใน 5 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วย ฟาร์มชัยภูมิ , จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย ฟาร์มคอนสวรรค์ และ ฟาร์มพนมสารคาม, จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย ฟาร์มเกษตรสันติราษฎร์ และ ฟาร์มไร่สาม, จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย ฟาร์มจอมทอง, จังหวัดสระบุรี ประกอบด้วย ฟาร์มคำพราน , ฟาร์มคำพราน 2 , ฟาร์มพระพุทธบาท , ฟาร์มแสลงพัน , โครงการส่งเสริมสระบุรี และฟาร์ม 5 ไร่

           ซีพีเอฟ ได้วางแนวทางในการดำเนินโครงการไว้ 8 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพด้านการเงิน 2. การสำรวจภาระการเงินส่วนบุคคล 3. การหาแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยต่ำ 4. การคัดเลือกผู้กู้ 5. การคืนหนี้ให้เจ้าหนี้และสถาบันการเงิน 6. การชำระเงินกู้คืนแก่ธนาคาร 7. การรณรงค์การออมเงิน ทั้งผู้ที่มีภาระหนี้สิน และชักชวนผู้ที่ไม่มีภาระหนี้สินมาร่วมออมด้วย ผ่านการเปิดสมุดบัญชีฝากประจำ, ซื้อฉลากออมสิน หรือ ฉลาก ธกส ฯลฯ และ 8. การติดตามผล เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับพนักงาน ส่งผลให้พนักงานกลับมามีความสุข ตั้งใจทำงาน ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพื้นฐานอนาคตที่ดีให้กับพนักงาน ซึ่งพนักงานเหล่านี้จะช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

           หนึ่งในพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ นายมาโนต-นางบุญหลง แจงตคุ พนักงานฟาร์มพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา  กล่าวว่า ตนเองและสามีมีหนี้บัตรเครดิตและหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นหนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลูกบ้านใหม่ เนื่องจากแยกครอบครัวออกมา ประกอบกับแม่สามีและพี่ชายสามีมาเสียชีวิต จึงทำให้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทั้งยังต้องส่งลูกในวัยเรียน 2 คน เรียนหนังสือ ทำให้การเงินมีปัญหา ซึ่งหลังเข้าร่วมโครงการทำให้สิ้นเดือนไม่ต้องเครียดหาเงินจ่ายบัตรเครดิต ทำให้มีความสุขมากขึ้น

           "พนักงานที่เข้าร่วมโครงการทุกคนต่างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะนอกจากพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทในการแก้ไขปัญหาแล้ว บริษัทยังสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้พนักงานกลับไปประสบปัญหาด้านการเงินอีกครั้ง ให้ด้วยการจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพด้านการเงิน  ได้เรียนรู้การทำบัญชีครัวเรือน ทำให้ทราบรายรับ-รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง อันนำไปสู่ความสามารถในการวางแผนทางการเงินและการวางแผนการออมในอนาคตได้เป็นอย่างดี” นายสมพร กล่าวทิ้งท้าย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่