การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA แถลงข่าวเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

กระทู้ข่าว
เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2559 เวลา 10.15 น. นายถวิล เปลี่ยนศรี ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและประธานมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย นายไพบูลย์ ศิริภาณุเสถียร ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และนายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมแถลงข่าว ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคาร LED สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรุงเทพฯ


เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยทุกหมู่เหล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระแม่ของปวงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ทรงประกอบพระราชกรณียกิจตลอดมากว่า 6 ทศวรรษ ด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะ และพระราชหฤทัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาบารมี ที่สะท้อนให้เห็นพระราชปณิธานที่แน่วแน่ที่จะให้อาณาประชาราษฎร์ มีคุณภาพชีวิตที่อยู่ดีกินดีตามแนวพระราชดำรัสทุกครั้ง เหมือนแสงสว่างทางปัญญาส่องให้พสกนิกรเห็นหนทาง ชีวิตมีความสุขร่มเย็น และก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่พสกนิกรชาวไทย และเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอมีส่วนร่วมในปีมหามงคล จึงจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นพร้อมกัน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ PEA ใส่ใจทุกชีวิต บริจาคโลหิต 8.4 ล้านซีซี โครงการ PEA รักษ์น้ำ สร้างฝายถวายแม่ของแผ่นดิน โครงการคืนช้างสู่ป่าเฉลิมพระเกียรติ และ โครงการ 84 ชุมชนปลอดภัย ใช้ไฟ PEA



นายถวิล เปลี่ยนศรี ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวถึงที่มาของโครงการคืนช้างสู่ป่าเฉลิมพระเกียรติ นอกจากเฉลิมพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ยังเป็นการสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในเรื่องการอนุรักษ์ช้างไทย โดย PEA ร่วมกับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ จัดหาช้างจำนวน 8 เชือก ปล่อยช้าง ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเทิดพระเกียรติ ลดปัญหาช้างเร่รอน สร้างความสมดุลระบบนิเวศ รวมทั้งความสัมพันธ์ของพืชและสัตว์ในพื้นที่ป่าที่ดำเนินงาน อีกทั้ง เป็นการอนุรักษ์ช้างเอเชีย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก





ส่วนโครงการ PEA ใส่ใจทุกชีวิต บริจาคโลหิต 8.4 ล้านซีซี ที่จัดขึ้นในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจนประสบความสำเร็จ ได้โลหิตบริจาคเกินเป้าหมายสำหรับสนับสนุนโลหิตให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มีความจำเป็นในการรับบริจาคโลหิตเพื่อการรักษาโรค โดยที่ผ่านมาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดทำโครงการ PEA ใส่ใจทุกชีวิต บริจาคโลหิต 6 ล้านซีซี เมื่อปี 2558 มีผู้ร่วมโครงการบริจาคโลหิตมากถึง 20,176 คน ได้จำนวนโลหิตสูงถึง 7.547 ล้านซีซี เพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดี น้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งพนักงาน ลูกจ้าง ครอบครัวการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่สำนักงานใหญ่ และในส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศ จำนวน 487 แห่ง รวม 25,794 คน และประชาชนจึงได้พร้อมใจร่วมบริจาคโลหิตเพื่อให้ได้โลหิตบริจาคครบตามที่ต้องการ





นายไพบูลย์ ศิริภาณุเสถียร ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดต่อสังคม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวถึง โครงการ PEA รักษ์น้ำ สร้างฝายถวายแม่ของแผ่นดิน เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ PEA ดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งของประชาชนที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และมุ่งให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและสังคมในการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม มีเป้าหมายดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน 84 ฝาย ร่วมกับชุมชนในพื้นที่บริการของ PEA ทั่วประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากวัสดุ คอนกรีต เช่น เสาไฟฟ้า เสาตอม่อ ที่ไม่ใช้งานหรือชำรุด แล้วนำมาใช้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อชุมชนได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปี

ฝายชะลอน้ำของ PEA เป็นฝายแบบถาวร ใช้เสาไฟฟ้าที่ชำรุดเป็นวัสดุหลัก และมีวัสดุอื่นๆ เช่น หิน ปูน ทราย เป็นวัสดุในการก่อสร้าง ซึ่งก่อนการก่อสร้างฝาย PEA จะดำเนินการประชาคมโดยเชิญผู้นำชาวบ้านและลูกบ้าน มาร่วมพูดคุยเพื่อแสดงความคิดเห็นและเห็นชอบร่วมกัน
ฝายแต่ละแห่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้ใช้น้ำในการทำการเกษตร ประเภทข้าว มันสำปะหลัง พืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ช่วยส่งเสริมให้มีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นแล้ว พื้นที่บริเวณก่อสร้างฝายชะลอน้ำแต่ละแห่งยังสามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ประชาชนมีอาชีพเสริม ค้าขายให้กับนักท่องเที่ยวได้อีก นอกจากนี้ ยังสามารถใช้บริเวณฝายชะลอน้ำจัดเป็นสถานที่พักผ่อนให้กับประชาชนได้เข้ามาเที่ยวชม และให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น จัดแข่งกีฬาชุมชน (มวยทะเล แข่งพายเรือ ฯลฯ) จัดกิจกรรมประชุมผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การอบรมนักเรียน โครงการต่อต้านยาเสพติด 

ปัจจุบัน PEA จัดทำฝายทั่วประเทศไปแล้ว จำนวน 302 ฝาย มีส่วนช่วยประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่การเกษตร และปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนหรือน้ำหลาก เพราะช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมอย่างรวดเร็ว หากไม่มีฝายหรืออ่างเก็บกักน้ำไว้เพื่อชะลอน้ำ จะทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย แม้กระทั่งในฤดูแล้งประชาชนบางพื้นที่ต้องซื้อน้ำเพื่อใช้อุปโภค บริโภค เพราะไม่มีฝายไว้กักเก็บ เมื่อมีฝาย PEA สามารถชะลอน้ำไม่ให้ท่วมและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง สำนักงานเทศบาลสามารถสูบน้ำจากฝาย PEA เพื่อไปทำระบบประปาหมู่บ้านได้ ชาวบ้านสามารถจับสัตว์น้ำมาประกอบอาหาร และนำไปขายเป็นรายได้เสริม การจัดทำฝายยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ลดการพังทลายของหน้าดินและลดความรุนแรงของกระแสน้ำ ช่วงฤดูแล้งที่มักเกิดปัญหาไฟไหม้ป่า ฝายช่วยลดความรุนแรงของการเกิดไฟป่าได้




นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวถึง โครงการ 84 ชุมชนปลอดภัย ใช้ไฟ PEA การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพิจารณาเลือกชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ จังหวัดละ 1 ชุมชน รวม 74 ชุมชน และเลือกพื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซากในพื้นที่ภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง เขตละ 5 ชุมชน รวมทั้งสิ้น 84 ชุมชนทั่วประเทศ จัดกิจกรรมบริการประชาชน โดยพนักงานและลูกจ้าง PEA ให้ความรู้ แนะนำเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและปลอดภัย จัดเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงระบบไฟฟ้าในชุมชน เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่การให้บริการของ PEA โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย มีความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า สำหรับประชาชนที่ต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับไฟฟ้า ติดต่อสายด่วน PEA Call Center โทร.1129 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่