คำว่า Engineering sense คืออุปนิสัยที่มีติดตัว หรือสิ่งที่สถานศึกษาปลูกฝังให้?

Engineering sense สามัญสำนึกทางวิศวกรรม
ในความเข้าใจของจขกท. คือ กระบวนการคิดโดยใช้การสังเกตและตั้งคำถาม เพื่อหาเหตุผลในการตัดสินใจโดยมีหลักการทางวิศวกรรมรองรับ

จากประสบการณ์ที่ได้เป็นผู้สัมภาษณ์งานวิศวกรน้องใหม่หลายท่าน
พบว่าบางคนถึงแม้มีผลการเรียนดี เกรดสูง จากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง
แต่ตอบคำถามได้แค่ในตำรา เหมือนท่องมาตอบ ไม่สามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์รอบตัวได้

จึงมองว่าเป็นเพียง บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่โดยหน่วยก้านนั้นไม่เหมาะกับงานวิศวกร
หมายเหตุ: โดยลักษณะงานนั้นๆ อาศัยการฝึกฝนและใช้เวลาเรียนรู้ด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งต้องอาศัยไหวพริบของผู้รับการฝึกด้วย

จึงเกิดความสงสัยว่า Engineering sense ในความคิดเห็นของชาวพันทิป คิดว่า คืออุปนิสัยที่แต่ละคนมีติดตัวมา หรือว่า เป็นสิ่งที่สถาบันปลูกฝังให้คะ?
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
คำถามดีครับ เวลาคุยกับนิสิตนักศึกษาผมชอบสังเกตในลักษณะนี้เหมือนกัน

ความเห็นส่วนตัวผมว่ามาจากทั้งสองทาง แต่ทั้งสองทางก็มาจากการเรียนรู้ทั้งสิ้น ความรู้ทางวิศวกรรมมาจากการเรียนการสอนอยู่แล้ว ส่วน engineering sense ผมเข้าใจว่าคือความช่างสังเกต การตั้งคำถาม การประมาณค่าเบื้องต้น การหาคำตอบแบบ empirical ความแม่นยำในใช้สูตรคำนวณภายใต้ข้อจำกัดทางวิศวกรรมต่าง ๆ เรื่องเหล่านี้นักเรียนมีโอกาสฝึกบ้างในวิชาปฏิบัติการ จากที่สอนวิชาปฏิบัติการหลายภาคเรียน ผมสังเกตว่านักเรียนส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานดีแต่เลือกมาใช้ไม่เป็น วางแผนการทดลองไม่ได้ มีเป็นบางคนเท่านั้นที่มีมุมมองของวิศวกรมาบ้างแล้ว ส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าขึ้นกับผู้สอน ถ้าผู้สอนมีประสบการณ์การทำงานทางวิศวกรรมมาก่อนจะสามารถชี้แนะรูปแบบการนำความรู้พื้นฐานไปประยุกต์ในงานจริงได้มากกว่าผู้สอนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงาน

ติงนิดนึงว่าการสอบสัมภาษณ์นั้นสั้นมาก ไม่สามารถบอก engineering sense ของผู้สมัครได้ชัดนัก ผู้สมัครอาจมีความตื่นเต้น ตื่นกลัว บางคนเก่งแต่ไม่มีปฏิภาณ (โต้ตอบได้เร็วและแยบคาย) ผู้สัมภาษณ์ต้องสังเกตและตั้งคำถามให้ถูกจึงจะเห็นศักยภาพของผู้สมัครว่าบกพร่องเรื่องใดที่สามารถพัฒนาได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่