.....คนรวยจริง ส่วนใหญ่อยู่อีสานจริงหรือไม่???..... วัชรานนท์

กระทู้คำถาม
ดูเหมือนว่าคนอีสาน  และภาคอีสาน  จะเป็นดินแดนที่ด้อยกว่าภาคอื่นๆ ในหลายๆ ด้าน   แต่สิ่งหนึ่งที่คนอีสานและภาคอีสานร่ำรวยและเด่นมากมายกว่าภาคอื่นๆ เห็นจะเป็นเรื่อง “ศีลทาน”   สังเกตุว่าหมู่บ้านในชนบทของภาคอีสานยากจนมาก   แต่วัดประจำหมู่บ้านบางหมู่บ้านนั้นไม่น้อยหน้าวัดในเมืองบางวัดเลย    พระสงฆ์ที่เพรียบพร้อมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ส่วนใหญ่ก็มาจากภาคอีสาน  สายปฏิบัติก็ไ้ด้แก่  หลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว  หลวงปู่แหวน  หลวงปู่เทสก์  หลวงปู่วัน  หลวงพ่อชา  หลวงตามหาบัว ฯลฯ  สายปริยัติก็ได้แก่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(อ้วน ติสโส)  สมเด็จพระธีรญาณมุนี(ธีร์ ปุณณโก) สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ)หรืออาจจะรวมไปถึงสามเณรเปรียญธรรม ๙ ประโยครูปแรกจากมหาสารคามอย่างอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก  และล่าสุดรวมไปถึงสามเณรเปรียญธรรม ๙ ประโยคที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างสามเณรสันติราษฏร์ พวงมะลิจากศรีษะเกษ



คนอีสานถูกมองว่าโง่และดักดานมาตลอด(ในสายตาของคนบางกลุ่มและหลายกลุ่ม)  ทั้งๆ ที่ขึ้นชื่อว่า “มนุษย์” ย่อมมีการพัฒนาและปรับตัวสม่ำเสมอ  แต่สำหรับคนอีสานในสายตาของคนบางกลุ่มแล้ว  โง่อย่างไรก็ยังโง่อย่างนั้น    แต่ก็ช่างเถอะนะ!...นั่นเป็นเรื่อง “ตีค่า” ของมนุษย์ต่อมนุษย์ในทางโลกด้วยกัน   แต่หากมองในทางธรรมแล้ว    คนอีสานส่วนใหญ่นี่แหละคือ “เศรษฐี” ของประเทศไทย  เหมือนบทกวีของท่านพุทธทาสที่ว่า

คนจะงาม  งามน้ำใจ  ใช่ใบหน้า
คนจะสวย   สวยจรรยา  ใช่ตาหวาน
คนจะแก่  แก่ความรู้   ใช่อยู่นาน
คนจะรวย  รวยศีลทาน  ใช่บ้านโต


คนอีสานแยบยลในการเรื่องทำศีลทำทานมาอย่างยาวนาน  จนผูกพฤติกรรมของพวกเขาให้กลายเป็นประเพณีวัฒนธรรมสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน   ยาวนานที่แม้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ก็ไม่อาจมาทดแทนได้  เช่นบุญประเพณีบั้งไฟ   บุญประเพณีแห่นางแมว     และงานบุญประเพณีที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังนี้เป็นบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน   ทางอีสานเรียกว่า “บุญผะเหวด”   คำว่า “ผะเหวด” กร่อนมาจากคำว่า “พระเวส” คือพระเวสสันดรนั่นเอง    งานบุญผะเหวดเป็นงานบุญที่ระลึกถึงการบำเพ็ญเพียร “ทานภาวนา” ของพระเวสสันดรที่ถือว่าเป็น “ชาติสุดท้าย” ของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


บุญผะเหวดคือความแยบยลในการทำบุญของคนอีสาน  แม้พระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก็ยังต้องนำมาทำเป็นงานบุญประเพณี  เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระเวสสันดรที่ยอมสละ ลูก(กัญหา ชาลี)  เมีย(พระนางมัทรี)เพื่อบรรลุ “ทานบารมี” เพื่อที่จะได้เสวยชาติมาเป็นพระพุทธเจ้าของพวกเรา


จริงๆ แล้ว “บุญผะเหวด” เป็นบุญเดือนสี่(ภาคอีสานจะมีประเพณีทำบุญต่างๆ ทุกเดือน)    บางจังหวัดบางหมู่บ้านในภาคอีสานจะเริ่มทำกันตั้งแต่วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมคือวันนี้ก็มี  และสามารถทำกันได้ไปจนถึงปลายเดือนห้า


ประเพณี “บุญผะเหวด” ถือว่าเป็นงานบุญที่สำคัญมากสำหรับชาวบ้าน   สำคัญถึงขนาดต้องมีการอาราธนารูปปั้นพระอุปคุตมาให้ช่วยคุ้มครองดูแลงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยไม่มีอุปสรรค    ขออนุญาตเล่าตำนานของพระอุปคุตแบบย่อๆ  พระอุปคุตเป็นพระเถระที่เกิดหลังพระพุทธเจ้าสองร้อยกว่า  สำเร็จอรหันต์ทรงอภิญญาชั้นสูง   ท่านปลีกวิเวกโดยไปนั่งสมาธิที่สะดือทะเล    เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช   ทรงเริ่มฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียขึ้นมาใหม่(หลังถูกมุสลิมรุกราน)   พระเจ้าอโศกทรงรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุไว้เกือบทั้งหมด   จากนั้นก็จะจัดงานพิธีสมโภชน์พระบรมสารีริกธาตุเป็นเวลา ๗วัน ๗คืน   แต่พระองค์ทรงกลัวว่างานจะไม่ราบรื่นเพราะเกรงว่า “พญามารวัสสวดี”(อ่านว่า วัด-สะ-วะ-ดี) จะมาก่อกวน  จริงๆ แล้วมารวัสสวดีตนนี้เป็นจอมเทพแห่งสวรรค์ชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี   แต่มีนิสัยชอบไประรานคนอื่นกำลังทำความดี    ตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังจะตรัสรู้...ก็พญามารตนนี้แหละที่พยายามเข้าไปขัดขวางการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า   มิหนำซ้ำยังส่งลูกสาวหรือที่เรียกว่า “ธิดาพญามาร” ทั้งสามคนมาเต้นรำยั่วยวนพระพุทธเจ้าตอนบำเพ็ญเพียรเพื่อไม่ให้พระองค์ตรัสรู้ด้วย



ข่าวงานสมโภชน์เฉลิมฉลองพระบรมสารีริกธาตุของพระเจ้าอโศก  ล่วงไปถึงหูของพญามารถึงชั้นสวรรค์   พญามารสวัสสวดีจึงรีบรุดลงจากสวรรค์ลงมาเพื่อจะ “ป่วน”   ทางด้านพระเจ้าอโศกก็ขอให้พระภิกษุเมืองปาฏลีบุตรแหวกน้ำทะเลลงไปนิมนต์พระอุปคุตเถระมาช่วยปราบพญามาร    พญามารพยายามป่วนงาน  เป่าลมเป็นพายุใหญ่หวังจะพัดให้งานกระจุยกระจาย  แต่พระอุปคุตก็ปราบไว้ได้หมด   สุดท้ายพระอุปคุตก็เอาหมาเน่าผูกติดไว้กับคอพญามาร   โดยใช้สายปะคตเอวเป็นเชือกคล้องเอาไว้   สั่งเอาไว้ว่าถ้าไม่ใช่พระอุปคุตแล้วก็ไม่มีใครเอาหมาเน่าตัวนี้ออกจากคอพญามารได้   พญามารอับอายเหลือคณา  จึงหลีกหนีไป   ขอให้จอมเทพในสวรรค์ชั้นต่างๆ ให้เอาหมาเน่าออกจากคอให้   แต่ไม่มีใครเอาออกได้   แม้แต่ท้าวสหัสพรมที่ชื่อได้ว่าเป็นเทวดาชั้นสูงสุดในสวรรค์   สุดท้ายพญามารก็ต้องไปขอขมากับพระอุปคุตและสำนึกบาปที่เคยทำไว้กับพระพุทธเจ้าตอนพระองค์กำลังตรัสรู้ใหม่ๆ



ดังนั้น   ก่อนที่ประเพณีงาน “บุญผะเหวด” จะเริ่มขึ้น   จะมีการ “แห่พระอุปคุต” เป็นนิมิตหมายอารารธนานิมนต์พระอุปคุตก่อน    โดยชาวบ้านจะจำลองเหตุการณ์ที่พระภิกษุเมืองปาฏลีบุตรแหวกน้ำทะเลลงไปนิมนต์พระอุปคุตที่สะดือทะเล    ชาวบ้านจะนำรูปปั้นของพระอุปคุตไปประดิษฐ์ไว้ในน้ำที่หนองหรือบึงในหมู่บ้าน   จากนั้นชาวบ้านก็จะดำน้ำลงไปนิมนต์รูปปั้นพระอุปคุตขึ้นมาแล้วแห่แหนเข้าไปประดิษฐานบนปะรัมพิธีที่จัดตั้งไว้    นั่นแหละ....งานประเพณีบุญผะเหวดถึงจะเริ่มขึ้นได้ในวันถัดมา



งานวันถัดมาก็จะมีการแห่ “กัญหา  ชาลี”   ตรงนี้ชาวบ้านจะจำลองเหตุการณ์หลังจากที่ขอทานชูชกได้ไปขอ กัญหาและชาลีกับพระเวสสันดรได้แล้ว   โดยคนในหมู่บ้านจะเลือกเด็กหญิงและเด็กชายแสดงเป็นกัญหาและชาลี   และชาวบ้านสูงอายุเป็นชูชกใช้เชือกผูกแขนและแส้เฆียนกัญหาและชาลีตระเวณรอบๆ หมู่บ้าน   ชาวบ้านที่เห็นก็จะเกิดสงสารให้น้ำบ้าง  ให้ข้าวบ้าง ให้เงินแก่กัญหาและชาลี   แล้วสุดท้ายชูชกก็ต้องปล่อยกัญหาชาลีไป



งานวันถัดมาก็จะเป็นวันสุดท้ายคือการแห่ “พระเวสสันดรเข้าเมือง”   ตรงนี้ก็จะจำลองเหตุการณ์ตอนชาวบ้านชาวเมืองแห่พระเวสสันดรขึ้นช้างกลับเข้าสู่พระนคร  โดยให้ชาวบ้านแสดงเป็นพระเวสสันดร   และตั้งขบวนแห่กันรอบๆ หมู่บ้าน   ให้ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ได้ยกมืออนุโมทนากับการบำเพ็ญเพียรชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า   จากนั้นก็จะไปรวมตัวกันที่วัด  แล้วฟังเทศน์ที่เรียกกันว่า “เทศน์มหาชาติ” ที่พวกเรารู้จักดีกันนั่นเอง


ปล. นี่เป็นประเพณีความเชื่อนะครับ  หากบางเหตุการณ์อาจจะดูพิสดารเหนือโลกไม่เข้ากับวิทยาศาสตร์หรือโลกปัจจุบัน  ก็ปล่อยผ่านไปก็ได้นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่