[บทความกากๆ] จรรยาบรรณ จริยธรรม มารยาท กับ กรณีสื่อ คุณคิดว่าคุณรู้ความหมายจริงๆของคำเหล่านี้ไหม?

สวัสดีครับ  ช่วงนี้ข่าวคุณสรยุทธ ค่อนข้างเป็นกระแสอยู่มาก  จนผมเปิดทีวี เล่นเน็ตก็จะต้องเจอข่าวนี้อยู่ตลอด  จนผมค่อนข้างเอียนเลยล่ะ  แต่ที่น่าประหลาดใจ กับคนที่เคยได้รับการสอนเรื่อง จรรยาบบรรณ มาแล้วบ้างนั้นทำให้ผมค่อนข้างขัดใจอยู่บ้างเล็กๆ ว่า การที่เค้าพูดๆกันเนี้ย จริงๆแล้วจะมีสักกี่คนที่เข้าใจคำว่า จรรยาบรรณ  จริยธรรม หรือแม้กระทั่งคำว่า มารยาท จริงๆกันมากน้อยเพียงไร

            อ้อ... และที่สำคัญครับ  ผมไม่ใช่ติ่งช่องใดช่องหนึ่ง ผมไม่ฝักใฝ่ฝั่งการเมืองใด เพราะผมคิดว่า จะฝั่งการเมืองใดก็ มีซึ่งผู้ที่ชั่วคอยแบ่งปันผลประโยชน์แก่พวกพ้องกันหมดสิ้น  ผมเองก็มีชีวิตอยู่มาก็ค่อนข้างนานแล้วอย่างน้อย 14 ปีตามอายุหัวใจ ผ่านช่วงเวลาบ้านเมือง รับรูเหตุการณ์ต่างๆ พฤษภาทมิฬ  ที่ประชาชนต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร(ซึ่งมันก็อีหรอบเดิมอย่างตอนนี้เว้นแต่มันยังไม่ประท้วงกันเท่านั้น) ต้มยำกุ้ง ที่คนเคยรวยมันก็จน ถึงขั้นเอาของแบรนด์เนมมาเปิดท้ายขายของ ส่วนคนจนก็จนลง แถมยังต้องเป็นหนี้ IMF หัวโตกันทั้งประเทศ  ส่วนนักการเมืองก็ยังคง concept ของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น คือโทษฝ่ายตรงข้ามว่าผิด ตัวเองถูก  นักวิชาการต่างๆก็ไม่ต่างกัน  ออกมายึดถือแนวทางเดียวกัน  จนปัจุบันได้ดีเป็นนักการเมืองบ้าง ได้รับการแต่งตั้งบ้าง  ได้ดิบได้ดีจากการเลือกข้างการเมืองอย่างในปัจจุบัน  

           ดังนั้น ตัดไปได้เลย  หน้าม้า ติ่ง  ฝักใฝ่ เลือกข้าง  ถ้าให้เลือก ผมขออยู่#ทีมซ่อมแซมประเทศไทย  ที่ต้องการซ่อมแซมปรับปรุงให้ประเทศไทยได้ใกล้กับคำว่า "ประเทศที่ดี" กับเขาบ้าง  หลังจากบางคนกระหายชัยชนะ แข่งขันต่อสู้กันจน ประเทศมีรอยร้าว สังคมแตกแยก  ครอบครัวเกลียดกัน  ความคิดผู้คนบิดเบี้ยว ไร้สติ  ไร้ความรู้  นี่แหละก้าวเดินของประเทศที่จะนำไปสู่ความมืดมน  ประเทศไทย และสังคมไทยไม่ใช่สนามฟุตบอล ที่จะลงไปเยียบย่ำเพื่อแย่งชิงชัยชนะของฝั่งตัว แต่ควรเป็นสวนผลไม้หลากหลายชนิดที่ทุกคนช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแล เพื่อที่จะได้เก็บผลไม้นั้นมาแบ่งปันกันกิน

          อารัมภบทมาเยอะล่ะครับ  เรามาเริ่มเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ ว่า จรรยาบรรณ จริยธรรม มารยาท  จริงๆแล้ว มันเป็นยังไงกันดีกว่านะครับ

จรรยาบรรณ แท้จริงแล้วคืออะไร

         ตามความหมายง่ายๆตามพจนานุกรม ดังนี้ ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกําหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้.

         ซึ่งที่มาของคำว่าจรรยาบรรณแล้ว  มาจากคำว่า จรรยา + บรรณ  หรือก็คือ
         จรรยา น. ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่ในคณะ เช่น จรรยาแพทย์ นิยมใช้ในทางดี เช่น มีจรรยา หมายความว่า มีความประพฤติที่ดี. (มีความหมายเดียวกับคำว่า จริยา )
         บรรณ บรรณ-[บัน บันนะ-] น. ปีก หนังสือ ใบไม้.

         นั่นซึ่งสามารถตีความได้เป็นความหมายของ  การที่คนกลุ่มหนึ่งมีบรรทัดฐานเดียวกันในการดำเนินวิชาชีพ เดียวกัน  ซึ่งในที่นี้  หมายถึงในการปฏิบัติ "หน้าที่"  ในการทำงาน  ไม่ได้ไปควบคุม "ชีวิต" ทั้งชีวิต ว่าห้ามทำผิดพลาดอะไรเลย  เป็นเพียงแค่กรอบการทำงาน ของกลุ่มคนที่มีอาชีพเดียวกัน  ไม่ได้เกี่ยวกับศาล  ไม่เกี่ยวกับกฏหมาย  เป็นกรอบที่ไม่ขึ้นตรงอยู่กับกฏหมายด้วยซ้ำไป  การถูกตัดสินโดยศาลว่าผิด จะมาบิดเบือนว่าไร้จรรยาบรรณ ไร้จริยธรรม  มันไม่ถูก

         กรอบการทำงาน และแนวทาง แต่ละอาชีพไม่เหมือนกัน  เพราะเป้าหมายในการทำงานต่างกัน สอนหนังสือ ให้ความรู้  รักษาผู้ป่วย หรือในกรณีนี้คือการรายงานข่าว ของวิชาชีพสื่อ  การมีจริยธรรมในวิชาชีพ  หรือจรรยาบรรณนั้น  ไม่ใช่การออกมาโจมตีผู้อื่นว่าไม่ดี  ออกมาเรียกร้องโวยวายว่าฉันถูกตบหน้า การมีจรรยาบรรณนั้น มีหลักการง่ายๆคือ  "การทำหน้าที่ของตัวให้ดีที่สุด การทำหน้าที่ของตัวให้สมบูรณ์พร้อม และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น "  นี่คือหลักคุณธรรมสำคัญที่ได้สร้างจรรยาบรรณของวิชาชีพขึ้นมา  ไม่ใช่การ" ไม่ต้องพัฒนาตัวเอง  แต่อาศัยพรรคพวก ทำลายผู้ร่วมวิชาชีพเดียวกัน เพื่อให้ยืนในจุดที่สูงกว่าผู้อื่นในวิชาชีพเดียวกัน"  ซึ่งแม้มันจะทำได้ และทำสำเร็จ ได้อยู่สูงกว่าคนอื่น  แต่มันก็ไม่ได้อยู่สูงกว่าจุดเดิมที่ตัวเองเคยอยู่ แค่เหยียบคนอื่นให้จมต่ำกว่า  หรือนี่คือหลักคุณธรรมที่คนที่เรียกตัวเองว่า ผู้มีจริยธรรม ใฝ่ฝันหา

มาดูตัวอย่างจรรยาบรรณของครูและหมอกันบ้าง

            จากเว็ปนี้ ค่อนข้างที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีมากในแง่การมีจรรยาบรรณครู เข้าไปอ่านกันก่อนนะครับ https://blog.eduzones.com/staffsab/123143
จรรยาบรรณครู 9 ประการ

             1. ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริมให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า
             2. ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัย ที่ถูกต้องดีงาม ให้เกิดแก่ศิษย์ อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ
             3. ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
             4. ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคมของศิษย์
             5. ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ใช้ให้ศิษย์กระทำการใด ๆ อันเป็นการหาผลประโยชน์ ให้แก่ตนโดยมิชอบ
             6. ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งทางด้านวิชาชีพด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทาง วิทยาการ เศรษฐกิจสังคมและการเมืองอยู่เสมอ
             7. ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครูและเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์กรวิชาชีพครู
             8. ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
             9. ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทย

          และจากเว็ปอีกเว็ปที่ได้กล่าวไว้ถึงจรรยาบรรณ์แพทย์เอาไว้ http://board.postjung.com/869977.html ว่า จรรยาบรรณแพทย์ มีอะไรบ้างกัน

            1.เน้นประโยชน์ผู้ป่วยสูงสุด (beneficence)
            2.สิ่งที่จะทำต้องเน้นไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายใดๆ เพิ่มขึ้น (Non-maleficence)
            3.ผู้ป่วยมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะรู้สาเหตุและอาการป่วยของตัวเองและเลือกวิธีรักษาตามความเหมาะสม (Autonomy)
            4.การรักษาต้องอาศัยความบริสุทธิ์ยุติธรรมไปตามสมุฏฐานโรคของผู้ป่วยแต่ละคนอย่างแท้จริง (Justice)
            5.ทั้งผู้รักษาหรือผู้ดูแลพยาบาลและคนไข้ต่างมีเกียรติและสมควรได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติ (dignity)
            6.แพทย์และพยาบาลต้องไม่ปิดอาการป่วยต่อผู้ป่วย และควรให้ผู้ป่วยรับรู้ความหนักเบาของอาการป่วยตามความจริง แต่ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมอย่างอื่นประกอบ เช่น สภาพจิตผู้ป่วยด้วย (Truthfulness and Honesty)

          คุณธรรม 10 ประการ (จรรยาบรรณแพทย์)

          มีเมตตาจิตแก่คนไข้ ไม่เลือกชั้นวรรณะ
          มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน
          มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป
          มีความละเอียดรอบคอบ สุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผล
          ไม่โลภเห็นแก่ลาภของผู้ป่วยแต่ฝ่ายเดียว
          ไม่โอ้อวดวิชาความรู้ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
          ไม่เป็นคนเกียจคร้าน เผอเรอ มักง่าย
          ไม่ลุอำนาจแก่อคติ 4 คือ
          ความลำเอียงด้วย ความรัก ความโกรธ ความกลัว ความหลง (โง่)

          ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่เป็นโลกธรรม 8 คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และความเสื่อม
          ไม่มีสันดานชอบความมัวเมาในหมู่อบายมุข

          ดังตัวอย่าง ของจรรยาบรรณของทั้งสองอาชีพ  เรามาดูจรรยาบรรณในการเสนอข่าว  ในส่วนของนักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ของประเทศไทยกันครับ จาก http://e-book.ram.edu/e-book/m/MC463(54)/MC463-3.pdf  มี 15 ข้อดังต่อไปนี้
           1.ไม่เสนอข่าวและภาพ  ซึ่งรู้อยู่แก่ใจว่า เป็นเท็จไม่ว่าลักษณะใดๆ
           2.ไม่เสนอข่าว และภาพ  ซึ่งทำให้ประชาชนเสียขวัญ  เกิดการแตกแยก กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศ
           3.ไม่เสนอข่าวและภาพอันลามกอนาจาร  ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อย  หรือศีลธรรมอีนดีของประชาชน
           4.ไม่เสนอข่าวและภาพไร้สาระ  ชวนให้หลงเชื่อ งมงาย
           5.ไม่เสนอข่าวและภาพด้วยความลำเอียงอันอาจทำให้สาธารณชน วินิจฉัยคลาดเคลื่อน
           6.ไม่สอดแทรกความคิดเห็นใดๆ ของตนในข่าว
           7.ในกรณีคัดลอกข้อความจากหนังสือพิมพ์หรือหนังสืออื่น  ต้องแจ้งให้ทราบ  ซึ่งแหล่งข้อมูลที่มาของข้อความนั้น
           8.ภาษาที่ใช้ในการเสนอข่าวและบรรยายภาพ  ต้องสุภาพ ปราศจากความหมายในเชิงเหยียดหยาม  กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เสียดสี
           9.ไม่ใช้การเสนอข่าวและภาพ เป็นไปในทางโฆษณาตนเอง
          10.ไม่นำเสนอข่าวและภาพ ซึ่งขัดกับสาธารณประโยชน์ของประชาชน และสังคมประเทศชาติ
          11.ไม่นำเสนอข่าวและภาพ  ซ้ำเติม ระบายสี บุคคล องค์กร สถาบัน ซึ่งตกเป็นข่าว
          12.ไม่นำเสนอข่าวและภาพ ในเชิงดูหมิ่น เหยียดหยามลัทธิความเชื่อในศาสนาใดๆ
          13.พึงให้ความเคารพ ต่อสิทธิของบุคคล องค์กร และสถาบันอื่นตามกฏหมาย
          14.พึงรับผิดและแก้ไขโดยเปิดเผย และไม่ชักช้า ถ้าเกิดความเสียหายแก่บุคคล องค์กร หรือสถาบัน ในการเสนอข่าวผิดพลาด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
          15.พึงละเว้นการรับอามิสสินจ้างใดๆ ที่ให้ทำ หรือละเว้นการกระทำเกี่ยวกับการเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา

          เอาล่ะ ลองมาดูหน่อยว่า  จรรยาบรรณข้อไหน ที่คุณสรยุทธ ทำผิดกันจนออกมาต่อว่า ไม่มีจรรยาบรรณกัน  และ,หรือ ผู้ใดกันแน่ที่เอาคำว่าจรรยาบรรณ มาเป็นเครื่องมือโดยการละเมิดซึ่งจรรยาบรรณนั้นซะเอง

ลองมาดูเหตุการณ์ตัวอย่างและจงคิดดูว่าไม่มีจรรยาบรรณหรือไม่
    
         ในประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคที่ประเทศประเทศหนึ่งใกล้ประเทศไทยนี่แหละ ปกครองด้วยระบบอคอมมิวนิสต์สุดโต่ง  ได้จับครูผู้สอนหนังสือไปตัดสินว่าผิด  ข้อหาให้ความรู้แกประชาชน เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ รัฐกลัวว่าจะปกครองยาก หรือเกิดการต่อต้าน จึงพิพากษาว่าผิด และนำตัวไปคุมขังและทรมาน ผู้คนจำนวนมากเห็นด้วย เมื่อบ้านเมืองกลับมาสงบสุข พ้นจากระบอบคอมมิวนิสต์สุดโต่ง  ครูคนนั้น จะยังเป็นครูอยู่ได้ไหม  ครูคนนั้นไร้จรรยาบรรณในวิชาชีพครูเพราะเคยถูกพิพากษาจำคุกหรือไม่  จงคิดเอา เคสแรก

         ครั้งหนึ่ง  หมอรับโจรคนหนึ่งซึ่งถูกตำรวจยิงได้รับบาดเจ็บ  หลบหนีเข้ามาในคลีนิค และได้ทำการรักษาอย่างเต็มใจจนพ้นขีดอันตราย เมื่อโจรได้สติ  ก็หลบนีไป ต่อมาตำรวจตามแกะรอยมา จนถึงคลีนิค  และได้จับเอาหมอไปดำเนินการพิจารณาความผิดด้วย  ในข้อหา ให้ความช่วยเหลือโจร  ตัดสินว่าผิด และถูกจำคุก  คำถามเดียวกัน  หมอคนนั้น จะยังคงเป็นหมออยู่หรือไม่  หมอคนนั้นไร้จรรยาบรรณในวิชาชีพแพทย์  เพราะช่วยโจร  เพราะถูกตัดสินว่าผิดกฏหมาย หรือเพราะเคยถูกพิพากษาให้จำคุกหรือไม่  

        จะเห็นได้ว่า จรรยาบรรณ  และกฏหมาย ไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกัน  เพราะถูกสร้างมาไม่เหมือนกัน  จรรยาบรรณ  ถูกสร้างมาด้วย การกระทำอันอ้างอิงมาจากสิ่งที่ควรทำ  ควรประพฤติปฏิบัติต่อผู้อื่น  ต่อสังคม  แต่กฏหมาย  ถูกสร้างมาด้วยผู้มีอำนาจควบคุมสั่งการสังคมไปในทิศทางที่ต้องการ ไม่ได้อิงถึงความชอบธรรม คุณธรรมเสมอไป  จะมีก็แต่ คุณหน่ะทำ  คือสั่งให้ผู้อื่นทำตามกฏที่ได้ตั้งเอาไว้ ถ้าไม่ทำก็มีบทลงโทษที่ชัดเจน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่