บอกหมดเปลือก ข้อมูลสำหรับผู้สนใจหรือกำลังจะไปศึกษาต่อที่ UK

สวัสดีชาวพันทิปทุกคนครับ  เนื่องจากมีหลายๆคนแอด Line มาหาผมจากเว็บ pantown เพื่อสอบถามข้อมูลการเรียนต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ประกอบกับผมนึกถึงตัวเองตอนสมัยที่จะบินไปเรียนที่อังกฤษเป็นครั้งแรก ซึ่งตอนนนั้นในหัวผมเต็มไปด้วยความสงสัยมากมายว่ามันจะเป็นอะไรยังไงนะ แล้วก่อนบินเราต้องทำอะไรบ้าง ผมเลยคิดว่าน่าจะเป็นการดีถ้าผมรวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเรียนต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ไว้ที่กระทู้แห่งนี้ ชนิดที่ว่าเมื่อคุณอ่านกระทู้นี้จนจบ คุณจะมีประสบการณ์ใกล้เคียงกับผมที่อยู่มาเกือบจะสามปีก็ไม่ปาน เพื่อว่าใครก็ตามที่สนใจหรือกำลังจะไปเรียนต่อที่อังกฤษจะได้เตรียมพร้อมและล่วงรู้ถึงสิ่งที่จะต้องเผชิญเมื่อไปถึงอังกฤษ

ประเทศอังกฤษเป็นอีกหนึ่งในประเทศของโลกที่ใครๆก็นึกถึงเวลาจะมาเรียนต่อ ทั้งนี้ก็เพราะที่อังกฤษมีมหาวิทยาลัยดีเยี่ยมอยู่หลากหลายแห่งกระจายไปทั้งเกาะ มาเรียนก็ได้ภาษาติดเนื้อติดตัวกลับไปมากน้อยก็แล้วแต่ศักยภาพที่แต่ละคนจะรับได้ แถมหลายๆ หลักสูตรในระดับการเรียนปริญญาโท ใช้เวลาในการเรียนเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้นเอง ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนที่เห็นผลรวดเร็วมาก เด็กบางคนยังมิทันจะได้ภาษาเลย อ้าววว เรียนจบกลับบ้านละ นอกจากนั้นประเทศอังกฤษยังเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม  และสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ที่สวยงาม  ให้เราได้สำรวจศึกษาเชยชม

เพื่อให้ผู้อ่านย่อยข้อมูลได้ง่ายอย่างเป็นระบบ ผมขอแบ่งข้อมูลอออกเป็นสองหัวข้อนะครับ คือ 1. ข้อมูลก่อนการเดินทาง และ 2. ข้อมูลเมื่อเดินทางไปถึง

1. ข้อมูลก่อนการเดินทาง
1.1 มหาวิทยาลัยไหนดี
    หากคุณคิดไว้แล้วว่าจะไปเรียนต่อที่อังกฤษ คำถามที่ตามมาคือ แล้วเราจะไปเรียนมหาวิทยาลัยไหนดีหละ  ซึ่งการจะตอบคำถามนี้ได้ ก่อนอื่นคุณต้องรู้ก่อนว่าคุณจะไปเรียนอะไร (เช่น บริหาร, กฎหมาย. วิทยาศาสตร์, ... ) ระดับใด(ตรี, โท, เอก) รูปแบบของหลักสูตรเป็นแบบเรียนคอร์สเวิรค์  (ที่อังกฤษเรียกว่า Taught programme) หรือเรียนแบบทำวิจัย (Research programme)

1.1.1 หากคุณจะมาเรียนเพื่อทำวิจัย สำหรับผม อันนี้ง่ายหน่อย เพราะสำหรับการเรียนทำวิจัย ที่ปรึกษา (supervisor) เปรียบดั่งเพราะเจ้า คุณควรจะเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์ที่ทำวิจัยในด้านที่คุณสนใจอยากจะศึกษา สำหรับคำค้นเร็วๆ ที่ช่วยในการหาบน google ก็เช่น สมมติคุณเป็นนักชีววิทยาอยากจะวิจัยทาง Animal behaviour  ก็บรรจงพิมพ์ไปบนกูเกิ้ลว่า Animal behaviour UK university หลังจากนั้นก็คลิ๊กๆเลือกๆ หาอาจารย์ที่ถูกใจ แล้วก็ลองอีเมล์ไปจีบๆอาจารย์เค้าซักหน่อย โดยแนะนำว่าเราเป็นใคร เรียนจบอะไรมา สนใจจะทำวิจัยด้านไหน และคำถามสำคัญคือ ไม่ทราบว่าคุณรับเด็กทำวิจัยรึเปล่า  หากอาจารย์ต้องประสงค์ของเราอีเมล์กลับมา พร้อมแนะนำให้คุณกรอกใบสมัครแบบ online แล้วหละก็ เตรียมยิ้มไว้ได้เลยครับ ผมว่าเกิน 70% แล้ว ที่เค้ามีโอกาสจะรับเราเข้าเรียน จะยูดังยูไม่ดังก็ลองอีเมล์ไปคุยดูครับ ไม่ต้องกลัวว่าเค้าจะปฏิเสธ เพราะถ้าคุณไม่ส่งอีเมล์ นั่นแปลว่า 100% แน่ๆที่คุณหมดสิทธิ์เข้าเรียนยูนั้น แต่แล้วปัญหาก็อาจจะปรากฏ อุ๊! มีอาจารย์หลายคนจังเลยที่เราอยากได้  แบบนี้จะทำยังไงดี ผมแนะนำให้คุณอ่านเกณฑ์ต่างๆ ในย่อหน้าถัดไป

1.1.2 คุณอยากเรียนแบบ Taught programme คำค้นง่ายๆก็ใช้วิธีเดิม นั่นคือ ระดับปริญญา สาขาที่อยากเรียน ตบด้วย UK university เช่น MSc Risk Management UK university เท่านี้คุณก็จะพอได้เห็นว่ามียูอะไรบ้างที่เปิดสอนโปรแกรมที่คุณต้องการเรียน แต่เนื่องจากคุณอยากเรียนแบบ  Taught programme ผมแนะนำให้คุณเพิ่มเกณฑ์ต่างๆต่อไปนี้ลงไปในการช่วยประกอบการตัดสินใจ
    1.1.2.1 รายวิชาที่ต้องเรียน มีอะไรที่ชอบ อะไรที่กลัว  อะไรที่บังคับต้องลง อะไรเป็นวิชาเลือก และต้องเรียนทั้งหมดกี่ตัว เพื่อช่วยในการคำนวณว่าเราจะเรียนได้อย่างสบายมากน้อยเพียงใด หากคุณหารายวิชาที่ต้องการเรียนไม่เจอ ลองใช้คำค้นง่ายๆ เช่น (สมมติคุณสนใจ Southampton) MSc Risk Management University of Southampton “modules” นอกจากนี้ถ้าคุณว่างๆ จะลองตรวจดูตารางสอบก็ดีนะครับว่าสอบเมื่อไหร่ เรียนเสร็จสอบเลย หรือปิดเทอมก่อนแล้วค่อยมาสอบ หรือเรียนให้จบทั้งปี แล้วค่อยมาตามเก็บสอบทีเดียว ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ามีมหาวิทยาลัยไหนจัดสอบแบบแรกรึเปล่า แต่สองแบบหลังมีแน่นอนครับ
    1.1.2.2 อันดับของมหาวิทยาลัย สำหรับเกณฑ์ตัวนี้  ผมได้ยินหลายๆ คน บอกว่า ไม่ต้องไปสนใจมันหรอกบ้างหละ หรือมันไม่ได้สำคัญอะไรแบบนั้นบ้างหละ แต่สำหรับผม เชื่อผมเถอะครับ มันต้องมีเหตุผลอยู่แล้ว ว่าทำไมยูนี้ถึงอยู่อันดับต้นๆ และทำไมยูนี้ถึงอยู่อันดับท้ายๆ  ถึงกระนั้นก็อย่าไปลงหลักปักฐานว่าเราต้องสมัคร top rank ของโลกเท่านั้น เพราะสำหรับผมแล้ว ถ้าคุณได้จดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัยที่อยู่ใน 100 อันดับแรกของโลก ก็ไปเลยครับที่ไหนก็ได้ ยิ่งเลือกยูอันดับไกลๆหน่อยก็น่าจะเรียนสบายหน่อย ไม่ต้องมาหืดขึ้นคอ น้ำตาเล็ดน้ำตาไหลนั่งแต่ง essay สัปดาห์ละ 3 ชิ้นแบบที่ Oxford (อันนี้มีเพื่อนมาเล่าให้ผมฟังว่าโดนสั่งงานแบบนี้จริงๆ)  อันที่จริงผมว่ายูไหนอันดับดีกว่าเสาหลัก จุฬาลงกรณ์ ของเรา ก็สามารถสมัครเรียนได้ตามสบายเลยครับ
        ส่วนตัวแล้ว ถ้าอันดับยูแย่กว่าจุฬาฯ  ผมว่ามันก็ออกแนวสิ้นเปลืองนะ ถ้าเราจะต้องมาเสียเงินค่าเรียนเกือบล้าน ค่ากินอยู่ที่แสนแพง ค่าที่พักแสนโหด เพื่อไปเรียนต่อ เว้นแต่ว่าทางบ้านคุณจะมีเงินสามารถสนับสนุนได้แบบสบายๆ อ้อลืมบอกไปคาถาง่ายๆนะครับ ที่จะช่วยให้คุณทราบว่าค่าเรียนที่ต้องจ่ายราคาเท่าไหร่ คือ Tuition fees เช่น MSc Risk Management University of Southampton tuition fees ทั้งนี้ทั้งนั้น เวลาดูต้องระวังนิดนึง ค่าเรียนอาจมีหลายเรท ราคาสำหรับชาวไทยแบบพวกเราต้องเป็นแบบ international students นะครับ
    สำหรับวิธีการเช็คอันดับมหาวิทยาลัย ผมแนะนำค่ายยักษ์ใหญ่ในใจผมสองอันคือhttps://www.timeshighereducation.com/world-university-rankings  และ http://www.topuniversities.com/qs-world-university-rankings ปัญหาที่อาจจะตามมาอีกก็เช่น อุ๊ย อันดับของสองที่ไม่เห็นตรงเลย ยกตัวอย่างเช่น University of Exeter ที่นึงจัดให้ยูนี้อยู่อันดับ 161 แต่อีกเจ้านึงจัดไว้ที่อันดับ 93 เอาไงดีหละ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้นะครับ ผมแนะนำ ให้เลือกเอาแบบที่เราสบายใจ  ซึ่งก็คือ 93 นั่นเอง แหม่ เพียงเท่านี้เวลาไปโม้ก็ค่อยดูดีขึ้นมาหน่อย เพราะอย่าลืมเลข 93 นี้ก็ย่อมมีที่มาว่าทำไมเค้าถึงจัดไว้ให้อยู่อันดับนี้ ส่วนอีกเจ้าจะ 161 ก็มิเป็นไร Exeter แค่ไม่ค่อยตรงกับเกณฑ์ชี้วัดของเจ้านั้นแค่นั้นเอง ฮ่าๆ เห็นมั้ยครับ เอาแบบที่สบายใจสุดๆ
    1.1.2.3 เมือง มหาวิทยาลัยก็ต้องอยู่ในเมืองถูกมั้ยครับ ดังนั้นก็ควรเช็คนิดนึงว่าเมืองที่จะไป ใหญ่เล็กยังไง ห่างไกลจากลอนดอนมากแค่ไหน มีอะไรให้ทำให้เที่ยวเยอะมั้ย ร้านจีน ร้านอาหารไทยมีเยอะรึเปล่า ถ้าเมืองที่คุณจะไปสมมติมีร้านจีนแค่ร้านเดียว ผมว่าคุณต้องเอะใจละนะ เอ๊ะ ทำไมเหล่าชาวจีนที่สามารถหาได้ง่ายทั่วทุกมุมโลก ถึงไปปักหลักเปิดร้านอยู่ที่เมืองนี้ร้านเดียวเองหละ? ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ google map สามารถช่วยเราได้ครับ เพียงคุณลองป้อนคำค้น ชื่อเมืองตามด้วย city centre เช่น Durham city centre เท่านี้คุณก็จะพอเห็นว่าใจกลางเมืองของเมืองนั้นใหญ่มั้ย มีร้านเยอะรึเปล่า มีอะไรให้ไปช๊อปได้จุใจมั้ย สำหรับการตรวจนับประชากรร้านจีนก็เช่น Chinese stores Durham แล้วก็นับดูซิว่าโผล่มาเยอะรึเปล่า นอกจากนั้นการใช้ฟังก์ชันลองไปสำรวจพื้นที่แบบจริงๆเลยบน google map ก็ช่วยคุณได้เยอะเลยนะครับ ลองทำดู!

อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกยูได้ง่ายขึ้น ก็คือการไปสอบถามผู้หยั่งรู้ ที่สามารถหาได้ง่ายตามพันทิปนี่หละครับ ไม่เชื่อคุณลองเสิชดูว่า “Durham ดีไหม” เพียงเท่านี้คุณก็จะได้รับฟังเสียงเสียงหนึ่งจากผู้ที่มีประสบการณ์ที่เคยหรือกำลังศึกษาอยู่ ณ เมืองนั้น ยิ่งถ้าผู้หยั่งรู้เรียนสาขาตรงโป๊ะเช๊ะหรือใกล้เคียงกลับเรา ก็จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่
      
นอกจากนี้บางคนอาจจะแนะนำว่าให้ดูชื่อเสียงของเมืองด้วย เอาแบบยูที่ชื่อเมืองมันติดหูคนไทยอ่ะ แบบฟุตบอลดังๆอ่ะ แบบ Swansea, Liverpool, Manchester ไรงี้ ไปสิไปเรียนสิ  ซึ่งสำหรับตัวผม ผมไม่แคร์นะครับว่ายูที่ผมจะไปเรียนมันจะติดหูคนไทยมากน้อยแค่ไหน  แต่ผมแคร์เกณฑ์สามข้อที่กล่าวไปมากกว่า ซึ่งถ้าเมืองมันติดหูคนไทยและตอบโจทย์เกณฑ์สามข้อนั้นก็ยิ่งเป็นเรื่องดีใหญ่ (เช่น  Manchester) ตัวอย่างประกอบยูดีไม่ติดหูคนไทยก็เช่น  University of Bristol ยูนี้อันดับยอดเยี่ยม top 50 ของโลกด้วยซ้ำ แต่ถามว่าคนไทยรู้จักมั้ย ผมว่าน้อยครับ แต่ถ้าได้จดหมายตอบรับยูนี้เอาดีมั้ย ผมมองว่าน่าสนใจอยู่มากเลยนะถ้า Bristol ตอบโจทย์คุณด้วยเกณฑ์ทั้งสามข้อ อย่าลืมนะครับว่าหลังจากเราจบปริญญาโทหรือเอก สังคมของเรามีโอกาสที่จะแวดล้อมไปด้วยเหล่านักวิชาการ ยิ่งถ้าเป็นนักวิชาการต่างชาติแล้ว Bristol ต้องคุ้นหูเค้าบ้างหละครับ ส่วนคนทั่วๆไปบ้านเราจะไม่รู้จักก็ไม่เห็นจะเป็นไร

1.2 ร่อนใบสมัคร ขั้นตอนนี้ผมว่าค่อนข้างน่าเบื่อนะ แต่คุณก็อย่าลืมว่ามันมีความสำคัญมากกกกก จงทำด้วยสติ ความรอบคอบ และความอดทน ถ้าคุณหาใบสมัครไม่เจอ ลองเสิชดูครับ (ตัวอย่างเช่น)  Apply online University of Birmingham และเพื่อไม่เป็นการเสียเวลาลองตรวจสอบก่อนนะครับว่า requirements ของเค้า คุณมีครบมั้ย มีหลักฐานที่เค้าต้องการครบหรือเปล่า เช่นเค้าอาจต้องการคนที่จบ first-class (เกียรนิยมอันดับหนึ่ง) หรือ upper second-class (เกียรตินิยมอันดับสอง) วิธีตรวจเช็คว่าเค้าต้องการไรบ้าง ก็ลองเสิชดูครับ Entry requirements University of Birmingham อะไรประมาณนี้  ในบางทีถ้าเกรดของคุณไม่ถึง แต่ถ้ามหาวิทยาลัยที่คุณจะไปเรียนค่อนข้างลึกลับเงียบเชียบเหมือนห้องแถว เงินของคุณอาจเป็นสิ่งที่สร้างความสนใจได้บ้าง ก็ลองร่อนใบสมัครไปดูนะครับ หรือในบางที (ครั้งที่สอง) สาขาที่คุณจะไปเรียนอาจไม่ได้ต้องการเกรดเฉลี่ยอันสูงค่าหากแต่ต้องการความสามารถหรือประสบการณ์มากกว่าก็เป็นได้ ฉะนั้นก็ลองร่อนใบสมัครไปดูนะครับ ไม่ต้องกลัวนะครับ ถ้าไม่ได้เดี๋ยวเค้าก็บอกเองหละว่าไม่ได้ แต่ถ้าได้ก็ เย่! ผมดีใจด้วยนะครับ

ว่าด้วยเรื่องของใบสมัคร มีหลายสิ่งที่น่าพูดถึงมากอาทิ
1.2.1 คะแนนสอบภาษาอังกฤษ อันนี้อาจจะเป็นอะไรที่โหดหน่อยสำหรับนักเรียนที่ไม่ได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษอยู่เป็นประจำเนืองนิตย์ สำหรับสถาบันจัดสอบที่เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายสำหรับคนไทยก็คือ IELTS และ TOEFL แต่เนื่องจากมีข่าวออกมาว่า TOEFL จะไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการขอสมัครวีซ่าได้ (เพราะอาจมีการโกงเกิดขึ้น) ฉะนั้น จงไปสอบ IELTS นะครับ ... ต้องขอบคุณ คห21-2 มากนะครับที่ช่วยอัพเดตข้อมูลนี้ให้ผม นอกจากนี้ คห 30 ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของการสอบ IELTS คนที่จะไปเรียน pre-sessional course อย่าลืมแวะไปอ่าน คห 30 ด้วยนะครับ สำหรับคนที่ไม่ทราบว่า pre-sessional course คือหยัง อ่านที่หัวข้อ 1.3.2 นะครับ

สำหรับวิธีเช็คว่าเค้าต้องการคะแนนภาษาเท่าไหร่ คุณก็แค่เพียงพิมพ์บนแถบกูเกิ้ลว่า english language requirements ielts university of Manchester

หากคุณยังไม่มีคะแนนภาษาหรือคะแนนยังไม่ถึงที่เค้ากำหนด ยังเพิ่งท้อใจไปนะครับ เพราะเราสามารถสมัครเรียนไปก่อนได้โดยที่ยังไม่ยื่นคะแนนภาษา หรือยื่นคะแนนที่ไม่ถึงเกณฑ์ไป (แต่ก็นะมันก็มีโอกาสที่เค้าจะบอกปัดเราถ้าเรายื่นคะแนนภาษาที่ต่ำต้อยไป)  ซึ่งถ้าเค้าอยากรับเรา เค้าก็จะส่งจดหมายตอบรับที่กำหนดเงื่อนไขมาว่า เธอไปสอบ IELTS ให้ผ่านนะ ซึ่งถ้าสมมติคุณสามารถสอบได้คะแนนที่ผ่านเกณฑ์  เพียงแค่ร่อนใบคะแนนนี้ไปใบเดียว คุณก็จะได้จดหมายตอบรับเข้าเรียนแบบที่คุณสามารถไปเรียนได้จริงๆ แต่ถ้าฟ้ายังไม่เข้าข้างเรา สอบกี่ที่คะแนนมันก็ยังไม่ถึงซะที ก็ยังมีอีกหนึ่งทางออกครับ (ดูหัวข้อ 1.3.2)

ว้าา ที่จะหมดแล้ว เดี๋ยวผมมาโพสต่อนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่