***บันทึกขึ้นภูกระดึงเมื่อต้นปี 2558 โดย อ.ศศิน เฉลิมลาภ***

บันทึกขึ้นภูกระดึงเมื่อต้นปี 2558 (1)

ผมตัดสินใจเดินทางกลางดึกมาที่อำเภอภูกระดึงเพราะอยากเห็นภูเขายอดตัดที่กำลังถูกตัดสินชะตากรรมว่าจะมีพาหนะผ่านรางลวดที่เรียกว่ากระเช้าลอยฟ้าพาผู้คนขึ้นไปเที่ยวชมหรือไม่ หลังจากมีแนวคิดเรื่องนี้ผ่านมาหลายสิบปี แต่ก็ติดปัญหาที่มีคนคัดค้านเป็นจำนวนมาก


ผมพบตัวเองมาหมดแรงง่วงงุนหาที่พักเล็กๆ อยู่ระหว่างทางเข้าอำเภอภูกระดึง ที่แยกจากทางหลวงสายหลักหมายเลข 201 ที่ตรงขึ้นเหนือไปยังเมืองเลย ในตอนรุ่งสางท่ามกลางอากาศหนาวเอาเรื่อง ก่อนผมหลับไปพยายามทบทวนเรื่องที่ตัวเองมาก่อนจะขึ้นภูกระดึงเป็นครั้งที่สาม ในระยะเวลาห่างจากครั้งแรกและครั้งที่สองกว่า 20 ปี

แม้ในวันนี้เหตุผลใหญ่ของการคัดค้านกระเช้าขึ้นภูกระดึงในเวทีสื่อสารสมัยใหม่ ที่เมื่อไหร่มีใครโพสต์ประเด็นนี้ขึ้นมา ก็จะมีความเห็นในเรื่องคุณค่า ความหมาย เชิงนามธรรมในเรื่องความประทับใจ ความภาคภูมิใจในการได้เดินขึ้นไปเห็นป้าย “เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” ที่บริเวณยอดภูที่เรียกชื่อกันว่า “หลังแป” อย่างมากมาย

หากลองไล่เรียงอ่านความเห็น ก็น่าจะพบความคิดสนับสนุนให้สร้างกระเช้าแทรกมาเป็นจำนวนที่เทียบกันไม่ได้ ในเหตุผลเรื่องสิทธิ ในการเข้าถึงความงามบนภูของคนสูงวัย และผู้ไม่พร้อมในทางสุขภาพด้านอื่นๆ ที่น้อยกว่านั้นก็จะพยายามอภิปรายกันในเรื่อง “ข้อมูล” ที่ได้รับ หรือคิดไตร่ตรองกันไป ต่างๆ นานา

ข้อมูลที่ว่าก็คือ กระเช้าภูกระดึง เป็นการก่อสร้างที่ตัดต้นไม้น้อยมาก ใช้พื้นที่ก่อสร้างเพียงแค่เสาสูง และอาคารรับกระเช้าบนหลังภูซึ่งเป็นลานกว้างอยู่แล้ว ทำแล้วก็ขนคนป่วย คนเจ็บลงมาได้ ด้วย ใครอยากเดินก็เดินไปสิ ไม่ได้ห้ามเดิน เส้นทางเดินก็ยังมีอยู่ ดังนั้นใครจะหาความภาคภูมิใจอะไรที่ว่ากระเช้าก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางอะไรของใครเลย

นอกจากนั้นแล้งคนที่ได้ข้อมูลลึกขึ้นไปกว่านั้นก็จะอภิปรายในมิติของ “การจัดการ” พื้นที่ท่องเที่ยวบนภูกระดึง ได้แก่ การใช้กระเช้าใส่ขยะลงมาข้างล่าง และใช้กระเช้าเป็นเครื่องมือในการ “จำกัด” คนค้างอ้างแรม ในช่วงเทศกาลที่ทราบกันว่ามัน “มากไป” เกินขีดจำกัดการรองรับของธรรมชาติ ทั้งที่กินที่นอน ที่ขับถ่าย อะไรก็ว่ากันไป

แทบไม่มีฝ่ายสนับสนุนสร้างกระเช้าในเวทีอภิปรายทั่วๆ ไป อภิปรายเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดเลย ของอำเภอภูกระดึง ว่าตั้งเป้าให้กระเช้าเป็นจุดขายใหม่ของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายผู้มาเยือน ทั้งๆ ที่ เหตุผลนี้คือเป้าหมายที่จริงแท้กว่าเรื่องใดที่ว่ามา

ข้อมูลเรื่องกระเช้าพาคนป่วยเจ็บ และไม่พร้อมขึ้นไป ก็จะมักจะมีตัวอย่างของคนสูงวัย เยาวชน คนอ้วน ผู้ทุพลภาพต่างๆ ที่สามารถขึ้นไปได้ และลงมาอย่างปลอดภัย มาหักล้าง แต่ส่วนใหญ่เสียดายเรื่องความภูมิใจ ที่ได้เป็นคนพิเศษที่ได้ขึ้นไปเพราะ “ใจและร่างกาย” ของตัวเอง และเสนอว่าคนไม่พร้อมก็ไม่น่าจะต้องขึ้นไป เนื่องจากมีที่เที่ยวอื่น ที่รถเข้าถึงได้ง่ายๆใกล้ๆ อยู่แล้ว มีเหตุผลแย้งอื่นบ้างบ้างในเรื่องผลกระทบต่ออาชีพ “ลูกหาบ” ที่เป็นอาชีพเสริมรายได้ให้ชาวบ้านผู้แข็งแรงแถวนั้นมาเนิ่นนาน

ส่วนมิติการจัดการขยะการอภิปรายก็จะนำไปสู่การจัดการจำกัดปริมาณขยะตามทฤษฎีต่างๆ นานา ว่าจริงๆ แล้วที่เที่ยวแบบนี้มันควรสะดวกสบาย พาขยะขึ้นไปอะไรมากมายปานนั้นหรือไม่ รวมถึงการคาดเดาว่า การจัดการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว มีความน่าจะเป็นที่จะไม่สำเร็จ ในที่สุดแล้วนักท่องเที่ยวก็อยากนอนค้างเต็มภูไปหมด คนที่ทราบมิติการจัดการลึกไปกว่านั้น ก็จะพูดเรื่องสำคัญคือเมื่อคนขึ้นภูไม่มีความพร้อมเรื่องการเดินทางขึ้นเขาจะมีสักเท่าไหร่ที่มีความพร้อมเรื่องการเดินเที่ยวบนภูที่มีระยะบนทางราบไกลหลายกิโลเมตร โดยเฉพาะจุดไฮไลต์อย่างหน้าผาชมวิวพระอาทิตย์ตกชื่อ “ผาหล่มสัก” ดังนั้นการพัฒนาถนนหนทาง และนำพาหนะขึ้นไปวุ่นวายทำลายสิ่งต่างๆ บนเขายอดตัดสวยงามย่อมตามมา

ในการอภิปรายเรื่องรูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ ก็จะวิพากษ์กันในเชิงนามธรรม เรื่อง การเห็นแก่ธุรกิจฉาบฉวยทำลาย ไม่ยั่งยืน และน้อยมากที่จะลงลึกถึงความคุ้มไม่คุ้มในเชิงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ทั้งความคุ้มทุน และความเสี่ยง แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องคุยกันยาวแบบวิชาการ

ในวงการอนุรักษ์เองก็ไม่มีฉันทามติเสียทีเดียวว่าควรทำหรือไม่ เพราะฝ่ายที่ต้องดูแลอย่างเป็นทางการอย่างกรมอุทยานแห่งชาติก็แตกกัน ว่าหากทำการการเมืองสั่งมาก็ควบคุมความเสียหายได้ เห็นโอกาสในการจัดการง่ายขึ้น แต่ก็มีเสียงแย้งมากมายตามข้อมูลการจัดการที่จะเกิดผลเสียหายต่อระบบนิเวศในเรื่องต่างๆ ตามมา ทั้งข้อจำกัดในการจัดการของกรมเอง และความล้มเหลวในความพยายามที่จะจำกัดคนในทุๆแห่งของการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล

ภูกระดึง

สำหรับผมเอง แน่นอนว่าหัวจิตหัวใจย่อมอยู่กับฝ่ายไม่อยากให้มีกระเช้า 100% แม้ว่าจะจำอารมณ์เหนื่อยแทบตาย ตอนขึ้นไปสองครั้งได้ดี ไม่มีลืม

แต่ก็นั่นแหล่ะ หากจะขึ้นไปอีกเหมือนอย่างที่ตัดสินใจวันนี้ ก็พร้อมจะใช้เส้นทางไกลพิสูจน์ขนาดของหัวใจเหมือนเมื่อหนุ่มๆ

แต่ผมก็ชัดนะ ว่ามีกระเช้า ก็คงยั่วยวนให้ลัดเวลาแว๊บไป เกินความอยากจะพิสูจน์ขนาดของหัวใจอะไรที่ว่ามา

พูดง่ายๆ คือ ใครจะบ้าเดินฟร่ะ..... ในมุมของผมแล้วเรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ที่สุดของการใช้ประโยชน์จากประเทศไทย จาก “ภูกระดึง”

ถามผมว่าภูกระดึงได้ประโยชน์อะไรกับการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย ?

สำหรับผม ภูกระดึงน่าจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวด้วยการเดินปีนเขา (Trekking) ที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ใช่ไหม ?

คำว่า “ดีที่สุด” นี้ผมประเมินจากระยะที่พอวัดใจกันได้อย่างที่ว่า ไม่ไกล ไม่ใกล้ ใครๆถ้าฟิตร่างกาย ใจถึงๆส่วนใหญ่ก็ไปได้โดยไม่อันตรายอะไร คนป่วยคนเจ็บ ก็มีบ้างเป็นธรรมดาแต่ก็ไม่ได้มีมากอะไร ที่สำคัญคือ ด้านบนมีที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย สวยงามพอที่จะเป็นแหล่งนันทนาการ ดึงดูดให้คนขึ้นไปอย่างรู้สึก “คุ้มค่าเหนื่อย” เส้นทางเดินที่ว่าจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางไกลมากๆ อย่าง โมโกจู ดอยหลวงเชียงดาว ภูสอยดาว เขาพะเนินทุ่ง ที่ต้องใช้พลังและเวลารวมถึงการเตรียมการมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่ใครก็ไปได้เหมือนภูกระดึง ในขณะเดียวกันความงดงามด้านบนก็แสนจะคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเส้นทางระยะใกล้ๆ ในภูอื่นๆ

ที่ว่ามาคนจะรู้สึกผูกพัน และอยากปกปักรักษาธรรมชาติเกิดขึ้นได้เอง โดย ไม่ต้องอ่านป้ายสื่อความหมาย หรือ ต้องไปเรียนรู้พันธุ์ไม้ สัตว์ป่าระบบนิเวศ

ความรู้สึกที่ว่ามันเกิดภายในจิตวิญญาณได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อ “ผ่านความไกลมาใกล้ความงาม”

แน่นอน ผมเชื่อว่าประเทศไทย โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบภูกระดึงอย่างกรมอุทยานแห่งชาติ ก็คงไม่ได้คิดอะไรในมิตินี้อย่างจริงจัง ว่าเราควรเก็บผู้กระดึงไว้บ่มเพาะหัวใจให้ผู้คน รู้จัก ความงาม และรู้สึกอยากรักษาความงาม ในจำนวน ที่ภูกระดึงเป็น “โรงงาน” สร้างหัวใจให้อยากอนุรักษ์ ขึ้นมารุ่นแล้วรุ่นเล่าในราว 50 ปี ผ่านไปมีแต่จะมากขึ้นๆ ด้วยซ้ำ

ผมเดินทางมาเติมความรู้สึกแบบนั้นให้หัวใจ ก่อนที่มันจะถูกตัดสินชะตากรรมดีใจที่ได้พบกันอีกครั้งนะภูกระดึงไม่เจอกันตั้งนานแล้ว

(บันทึกไว้เมื่อต้นปี 2558 ในคอลัมน์ จากป่าสู่เมืองนิตยสารสารคดีเดือน ม.ค, ก.พ., มี.ค. 2558)

link: https://www.facebook.com/SeubNakhasathienFD/posts/10154162737740827
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่