โภชนาการของผู้ติดเชื้อเอชไอวี

นอกจากการตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ การใช้โภชนบำบัด หรือการดูแลทางด้านอาหารและโภชนาการที่เหมาะสม ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด ควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะสามารถช่วยชะลอหรือลดความรุนแรงต่อการเกิดโรคทางเมตาบอลิก ที่เกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านไวรัสเป็นเวลานานๆ เช่น เบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ได้ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในระยะยาว
เป้าหมาย “กินดี เพื่อสู้เอดส์”
            * เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงาน สารอาหาร วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ อย่างเพียงพอ ป้องกันภาวะขาดสารอาหารที่จะนำไปสู่ความเสื่อมของระบบภูมิคุ้มกัน
           * เพื่อรักษาน้ำหนักตัว ที่สำคัญเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ (lean body mass) เนื่องจากเชื้อเอชไอวีมีผลต่อการเผาผลาญอาหาร (Metabolism) โดยมีการนำเอาโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงานก่อนไขมัน ทำให้ผู้ติดเชื้อมีกล้ามเนื้อลีบ ทั้งๆ ที่น้ำหนักตัวยังสมส่วน หรือยังดูอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี
           * เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
           * เพื่อชะลอระยะเวลาการดำเนินโรคไปสู่ระยะโรคเอดส์เต็มขั้น
           * เพื่อช่วยให้มีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านเอดส์ดีขึ้น
           * เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

แนวทางในการเลือกกินอาหารเพื่อสร้างเสริมสุขภาพสำหรับผู้ติดเชื้อ
ไม่มีอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่ให้สารอาหารได้ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ (ยกเว้นน้ำนมแม่) สารอาหารที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อมีหลายชนิด ได้แก่ กรดอะมิโน (โปรตีน) กรดไขมัน คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินซี วิตามินบี1 วิตามินบี6 วิตามินบี12 โฟเลต ไนอาซีน และสารกลุ่มแอนตี้ออกซิแดนท์ หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ( เบต้าแคโรทีน คาโรทีนอยด์ ไบโอฟลาวานอยด์ ซีสเตอีน สังกะสี ซีลีเนียม เป็นต้น
           สารอาหารแต่ละชนิด มีคุณสมบัติหรือหน้าที่แตกต่างกันออกไป แต่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันในการเผาผลาญและดูดซึมเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด
           หลักการกินอาหารเพื่อสุขภาพของผู้ติดเชื้อนั้นสามารถใช้หลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ เพื่อเน้นให้ผู้ติดเชื้อได้รับสารอาหารที่หลากหลายในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
นอกจากเรื่องของสารอาหารแล้ว ก็ขอแนะนำผู้ติดเชื้อว่าต้องดูแลใส่ใจ หรือระมัดระวังในบางเรื่องเป็นพิเศษมากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย ได้แก่
           * ควรได้รับพลังงานจากอาหารต่อวันเพิ่มขึ้น
           -ผู้ติดเชื้อโดยทั่วไปควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้น10% สามารถเทียบได้กับการเพิ่มอาหารมื้อว่างขึ้นมา 1 มื้อ เช่น เพิ่มแซนวิชทูน่า 1 ชิ้น หรือ กินนมเพิ่มขึ้น 1 แก้ว เป็นต้น
           - ในผู้ติดเชื้อบางรายที่มีภาวะขาดสารอาหารอาจต้องการพลังงานมากกว่าปกติถึง 30% จึงควรเพิ่มอาหารว่างเป็น 3 มื้อ หรือเพิ่มอาหารมื้อหลักจาก 3 มื้อ มาเป็น 4 มื้อ เป็นต้น
           -เมื่อผู้ติดเชื้อได้รับพลังงานเพิ่มขึ้น สารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ ก็จะได้รับเพิ่มไปด้วยโดยปริยาย
           -ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ1-2 ลิตร หรือ 6-8 แก้ว
o การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร:
           * การรับประทานผัก และผลไม้หลากหลายชนิดร่วมกับการเสริมด้วยวิตามินรวม (Multivitamin) นับเป็นสิ่งที่จำเป็น
           * ผู้ติดเชื้อบางรายที่มีปัญหาทุพโภชนาการ หรือมีอาการบ่งชี้ของภาวะขาดสารอาหารหรือวิตามินบางชนิดอย่างชัดเจน อาจพิจารณาให้วิตามินชนิดนั้นๆ เสริมเพิ่มเติมจากวิตามินรวม
           * ผู้ติดเชื้อที่ติดเชื้อฉวยโอกาส อาจพิจารณาให้วิตามินเอ ซี และอี เพื่อเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ(antioxidant) เพื่อลดความรุนแรงของการอักเสบและการติดเชื้อ
           * ผู้ติดเชื้อที่มีอาการด้านระบบประสาท เช่น ชาบริเวณแขนขา หรือมึนงง อาจเสริมด้วยวิตามินบีรวม (Vitamin B-complex)
           
ขอขอบคุณข้อมูลจาก    โครงการศูนย์ร่วมมือไทย-ออสเตรเลียด้านโภชนาการเอดส์

Report by LIV APCO
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่