“ฎีกาวาเลนไทน์” เตือนสติคนผิดหวังรัก ยกคดีอัจฉริยะ “เสริม” หั่นศพเป็นต้นแบบ

เปิด “ฎีกา”สุดคลาสสิก 12 ปี ไม่มีเบื่อ “จำเลย” อ้าง เพราะความรักทำให้บันดาลโทสะ ฎีกาแย้งฟังไม่ขึ้น เพราะนิยามของความรักคือเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ รักที่แท้จริงคือความปรารถนาดีต่อคนรัก ยินดีที่คนรักมีสุขและอภัยเมื่อทำผิด
       
       14 กุมภาฯ วันวาเลนไทน์...หลายคนกำลังมีความสุขมองไปทางไหนมีแต่สีชมพู ดอกกุหลาบสีแดงอันเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่มอบให้แก่กันในทุกๆ ปี ปีนี้มามาดใหม่อาจหันไปใช้ดอกกล้วยไม้ตามเทรนด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และไม่ว่าจะเป็นดอกอะไร หรือแม้แต่ส่งข้อความแสดงความปรารถนาดีต่อกันฝ่ายผู้รับและผู้ให้ต่างรู้สึกอิ่มเอมใจ....
       
       ต่างกับคนอกหัก...ประเภทรักคุดไม่สมหวังแทบไม่กล้าเห็นดอกกุหลาบ ยิ่งเห็นใครควงคู่อาจจะรู้สึกจื้ดจ๊าด เหมือนกับคำที่ว่า...ยามรักน้ำต้มผักก็ยังว่าหวาน พอยามชังแม้แต่หน้าก็ยังไม่อยากเจอ...ที่เคยพร่ำว่ายอมตายแทนกันได้กลับมาเป็นเธอกับฉัน หรือกับกูอย่า อยู่ร่วมโลกกันเลย ต้องตายกันไปข้าง
       
       เพื่อไม่ให้ตกกระแสวันแห่งความรัก “ทีมข่าวอาชญากรรม ASTV ผู้จัดการ” ขอนำเรื่องราวอันมีชนวนเหตุมาจากความรักจนนำไปสู่เลือด น้ำตา และความตายจาก 5 คดีดังในอดีต...แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญคนไทยจากเงื้อมมือ “นายแพทย์” ที่คนไทยทั้งประเทศที่ไม่เคยลืมกัน
       
       เปิดแฟ้มคดีเก่าตั้งแต่สมัยที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคย หรือรู้จักวันแห่งความรัก เมื่อปี 2502 หรือ 56 ปีที่ผ่านมา นายแพทย์อธิป สุญาณเศรษฐกร (รามเดชะ)แพทย์หนุ่มสุดหล่อประจำโรงพยาบาลรถไฟ วางแผนสังหาร น.ส.นวลฉวี เพชรรุ่ง พยาบาลสาวด้วยเหตุจัดสรรความรักไม่ลงตัว ปมประเด็นมาจากรักสามเส้าหลังจากคบกับพยาบาล “นวลฉวี” มาได้ระยะหนึ่งฝ่ายชายเกิดไปพบหญิงคนใหม่จนเกิดเป็นปัญหาระหองระแหงกันมาโดยตลอด
       
       ฉากของความรักปิดลงเมื่อวันที่ 12 ก.ย. มีผู้พบศพนวลฉวี ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากสะพานนนทบุรี ไม่มากนักซึ่งต่อมาชาวบ้านเรียกสะพานดังกล่าวจนติดปากว่าสะพานนวลฉวี จากการชันสูตรศพพบบาดแผลถูกแทงตามร่างกาย และพบแหวนนามสกุล “รามเดชะ” จนเป็นหลักฐานสำคัญนำไปสู่การสืบสวนจนพบสมุดบันทึก “รักขม” กับนายแพทย์ อธิป และจับกุมในที่สุดโดยหมออธิป สารภาพว่าร่วมมือกับสมัครพรรคพวกอีก 4 คนวางแผนฆ่า น.ส.นวลฉวี เพราะผู้ตายไม่ยอมเลิกจนอาจกระทบหน้าที่การงานได้จึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีสิ้นคิด
       
       พ.ศ.2536 เกิดคดีนายแพทย์จ้างวานฆ่าภรรยา กลายเป็นข่าวครึกโครมที่สุดอีกข่าวหนึ่งและน่าสะเทือนใจอย่างที่สุดตรงที่พบว่ามีบุตรสาววัย 2 ขวบเศษของผู้ตายนั่งร่ำให้กอดศพผู้เป็นมารดาอยู่ด้วย คดีดังกล่าวมีต้นเหตุมาจาก “รักสามเส้า” หรือชายมากรักโดยนายแพทย์ บัณฑิต โฆษิตชัยวัฒน์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
       
       สามี น.ส.ศยามล ลาภก่อเกียรติ อดีตผู้ช่วยพยาบาล อยู่กินกันฉันสามีภรรยาจนเกิดพยานรักเป็นเด็กหญิง 1 คน
       
       ต่อมาฝ่ายชายไปชอบพอกับหญิงคนใหม่จึงพยายามผลักไสให้ภรรยาย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อเปิดทางสะดวกกับชู้รักแต่ด้วยสัญชาติญาณของคนเป็นเมียเมื่อทราบว่าผัวเปลี่ยนไปจึงสืบจนระแคะระคายว่าเขากำลังมีคนใหม่ เรื่องราวรักสามเส้าจึงจบลงแนวเดียวกับคดี “นวลฉวี” นายแพทย์ บัณฑิต วางแผนจ้างวานคนร้ายลงมือฆ่าภรรยา และจัดฉาก อำพรางคดีว่าเป็นการข่มขืน หากแต่เป็นการลักพาตัว น.ส.ศยามล พร้อมกับลูกสาวขณะไปทำธุระในตัวเมือง
       
       ต่อมามีผู้พบศพ น.ส.ศยามล ในรถเก๋งนิสสัน ซันนี่ สีขาวทะเบียน ก 2344 ประจวบคีรีขันธ์ สภาพนอนอยู่บนเก้าอี้ข้างคนขับที่ปรับเอน มีบาดแผลถูกแทงหน้าอก 3 แห่งช่วงเข่าพบกางเกงชั้นในรูดมากอง แต่ที่น่าอนาถใจต่อผู้พบเห็นคือภาพลูกสาววัย 2 ขวบนั่งร้องไห้สะอึกสะอื้นจนเสียงแหบแห้ง ต่อมาตำรวจสอบสวนขยายผลตามจับคนร้ายได้ทั้งหมดรวมทั้ง นายแพทย์บัณฑิต ผู้จ้างวาน คดีนี้ศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต ต่อมาได้รับการอภัยโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตและได้รับอภัยโทษเรื่อยมาจนเหลือจำคุก 40 ปี
       
       พ.ศ. 2541 ไม่มีใครไม่รู้จัก “เสริม สาครราษฎร์” อัจฉริยะอำมหิตผู้ก่อตำนานฆ่าหั่นศพ น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี แฟนสาว นักศึกษาแพทย์ ปี 5 เรื่องราวของรักต้องฆ่าครั้งนี้เกิดจาก นายเสริม สาครราษฎร์ นักศึกษาแพทย์ เกิดความแค้นอย่างสุดขีดเมื่อถูกฝ่ายหญิงบอกเลิก และเมื่อพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้กลับมาดีเหมือนเก่าแต่ไม่สำเร็จแน่เขาจึงออกอุบายชวน น.ส.เจนจิรา มาติวหนังสือยังหอพัก และอ้อนวอนขอคืนดีอีกครั้งแต่ผู้ตายยังคงยืนกรานต้องการเลิกอย่างเดียว เท่านั้นเองจากรักกลายเป็นแค้นนายเสริม คว้าปืน .38 ที่ซ่อนไว้ออกมาจ่อยิง น.ส.เจนจิรา ในระยะเผาขนเสียชีวิตทันที จากนั้นลงมือชำแหละศพแยกชิ้นส่วนลงชักโครก ส่วนกะโหลกศีรษะและกระดูกบางส่วนนำไปทิ้งแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
       
       หลังจับกุมตำรวจต้องใช้เวลาคาดคั้นอยู่นายนายเสริม จึงสารภาพด้วยจนมุมต่อพยานหลักฐาน เมื่อสู่การตัดสินคดีศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ระหว่างจองจำปฏิบัติตัวเป็นนักโทษชั้นดีจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษเรื่อยมา รวมถูกคุมขังนาน 8 ปี
       
       หลังพ้นโทษ “เสริม สาครราษฎร์” เปลี่ยนชื่อมาเป็นนายไชยา ตันทกานนท์ และด้วยความเป็นบุคคลอัจฉริยะซึ่งสามารถพิสูจน์จากการที่เขาสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่ออายุเพียง 15 ปีและเมื่อจบปริญญาตรีก็ยังสามารถสอบเอนทรานซ์อีกครั้งที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กระทั่งเกิดเรื่องขึ้น ในระหว่างถูกจองจำ “เสริม สาครราษฎร์” สมัครเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และได้ปริญญาตรีมาอีกสาขาหนึ่ง หากไม่เคยมัวหมองมีประวัติอาชญากรร้ายแรงเส้นทางนักกฎหมายที่ปีนไปสู่ระดับผู้พิพากษาคงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เพียงแต่ติดกติกาสังคมเมื่อครั้งหนึ่ง “เสริม”ดอดไปสมัครสมาชิกเนติบัณฑิต แต่ถูกปฏิเสธ นั่นหมายถึงว่าหากไม่ผ่านขั้นตอนนี้เขาก็คงหมดสิทธิ์สวมเสื้อครุยทนายความ อันเป็นขั้นตอนหนึ่งของการไต่เต้าสู่ผู้พิพากษา
       
       และต่อไปนี้คือจังหวะหนึ่งของคดีฆ่าหั่นศพ “เสริม สาครราษฎร์” ที่มีฎีกาจำกัดความของ “ความรัก” ได้อย่างชัดเจนสุดคลาสสิก เป็นคำพิพากษาฎีกาคดีนายเสริม สาครราษฎร์ ผู้ต้องหาฆ่า น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี โดยนายเสริม ฎีกาว่ากระทำลงไปเพราะความรักทำให้บันดาลโทสะ
       
       ทำไมผู้คนถึงยกฎีกาคดีนี้เป็น “ฎีกาวาเลนไทน์” โปรดติดตาม
       
       .....คำพิพากษาฎีกาที่ 6083/2546 ศาลเห็นว่า... “ความรัก” เป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริงคือความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่รักมีความสุข การให้อภัย เมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก...
       
       ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า...จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเพราะจำเลยกับผู้ตายมีความสัมพันธ์ฉันคนรัก แต่ผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับจำเลยไปมีรักกับผู้ชายคนใหม่ จำเลยจึงบันดาลโทสะฆ่าผู้ตายนั้น...
       
       ศาลเห็นว่าจำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความคิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตายหาใช่ความรักไม่...
       
       ทั้งเป็นความผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง ดังนี้แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่จำเลยฎีกาก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจนเป็นการบันดาลโทสะ (มาตรา 72 ประมวลอาญา)
       
       กรณีนี้จึงไม่มีเหตุผลใดที่ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้....พิพากษายืน..
       
                เมื่อไม่สมหวังในรักก็คงไม่จำเป็นต้องปิดฉากด้วยเลือดและน้ำตาอีกต่อไป

       จาก  http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9580000018200

     วันนี้ 14 กุมภาพันธ์ สุขสันต์วันวาเลนไทน์พี่ๆทุกคนนะครับ อมยิ้ม29
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่