ทำไมแมวที่เลี้ยงด้วยกันมาตั้งนาน อยู่ดี ๆ ก็ลุกขึ้นมากัดกันซะอย่างงั้น?

กระทู้สนทนา
ทำไมแมวที่เลี้ยงด้วยกันมาตั้งนาน อยู่ดี ๆ ก็ลุกขึ้นมากัดกันซะอย่างงั้น?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องมารู้จักระบบทางสังคมของแมว (The Social System of the Cat) กันซะก่อน



ปกติแล้วถ้ามีอาหารและที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ สุขสบาย เจ้าเหมียวเหล่านี้จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ แต่เมื่อไรที่อาหารขาดแคลน ที่อยู่เริ่มคับแคบไม่เพียงพอ พวกมันจะปรับเปลี่ยนให้กลุ่มเล็กลง หรืออาจถึงขั้นแยกออกมาอยู่ตัวเดียว เป็นแมวแสนโดดเดี่ยวในคืนวันวาเลนไทน์ (นี่พูดถึงแมวหรือผู้เขียน?) เรียกว่ากลุ่มทางสังคมของแมวนั้นค่อนข้างยืดหยุ่นพอสมควร

โดยทั่วไปแล้ว ลูกแมวที่เกิดมาจะอยู่กับแม่ของมันในช่วง 6-12 เดือนแรก จากนั้นจะเริ่มแยกตัวไปหาอาหารเองตามพื้นที่ของตัวเอง หากมีอาหารและที่อยู่ให้พวกมันอิ่มหนำ นอนหลับสบาย เจ้าแมวเหล่านี้ก็จะอยู่กันอย่างสงบเสงี่ยมเป็นมิตรที่ดีต่อกัน

เมื่อแมวน้อยเติบโตกลายเป็นแมวหนุ่ม มันจะเริ่มออกลาย คอยลาดตระเวนไปทั่วบริเวณเพื่อข่มขู่แมวตัวอื่น ๆ ซึ่งมันจะมีพฤติกรรมนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแยกตัวออกจากกลุ่มครอบครัว แต่แมวตัวเมียส่วนมากยังคงอยู่ในกลุ่ม

แมวเด็กหญิงตัวน้อย ๆ พอเริ่มเป็นสาว นางจะมีอาณาเขตของตนเองที่แยกจากตัวเมียตัวอื่น ๆ ส่วนแมวหนุ่มกลัดมัน จะมีอาณาเขตขนาดใหญ่ ที่แวดล้อมไปด้วยฮาเร็มแมวตัวเมียหลาย ๆ ตัว นี่มันสวรรค์เลยนี่!

แมวเริ่มจะมีอาณาเขตของตนเองตั้งแต่อายุ 2-4 ปี โดยแมวหนุ่มจะปฏิบัติการขับไล่แมวตัวผู้อื่น ๆ ออกจากอาณาเขตของตนเอง เพื่อเป็นที่หาอาหารและพังพิง รวมทั้งเป็นฮาเร็มแมวสาวส่วนตัวของมัน

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมแมวที่เลี้ยงด้วยกันมาอยู่ดี ๆ ในช่วง 0-4 ปีแรก ถึงได้ดูรักใคร่กลมเกลียว แต่หลังจากที่มันโตเป็นหนุ่มเต็มวัยก็ไฝ้ว์กันเอาเป็นเอาตาย ยังกะไม่เคยรู้จักกันมากก่อน สรุปคือแย่งอาหาร อาณาเขต และแมวตัวเมียตามพฤติกรรมที่มีในสันชาตญาณนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยด้านพฤติกรรมทางสังคมแล้ว การที่แมวจะกัดกัน หรือรักกัน มีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ซึ่งคราวหน้าจะค้นมาเขียนให้เพิ่มเติมนะจ๊ะ

จขกท. เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของบทความ Aggression in household cats ของ Victoria L. Voith, DVM, PhD, and Peter L. Borchelt, PhD
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่