มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือ ในที่ไหน, ใครคือผู้รู้คำตอบ ?

จากพระไตรปิฏก อันนี้สำนวนการแปลของท่านพุทธทาสครับ
--------------------------------------------
         ภิกษุ !  สำหรับปัญหาของเธอนั้น  เธอไม่ควรตั้งคำถามขึ้นว่า  “มหาภูตสี่  คือ  ดิน  น้ำ ไฟ  ลม  เหล่านี้  ย่อมดับสนิทไม่มีเหลือ  ในที่ไหน ?”  ดังนี้เลย ;  อันที่จริง เธอควรจะตั้งคำถามขึ้นอย่างนี้ว่า :-
    “ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่หยั่งลงได้ในที่ไหน ?  ความยาว  ความสั้น  ความเล็ก  ความใหญ่  ความงาม  ความไม่งาม  ไม่หยั่งลงได้  ในที่ไหน  ?  นามรูปดับสนิทไม่มีเหลือ ในที่ไหน ?”  ดังนี้ต่างหาก.  
    ภิกษุ !  ในปัญหานั้น คำตอบมีดังนี้ :-
    “สิ่ง” สิ่งหนึ่งซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏการณ์  ไม่มีที่สุด  มีทางปฏิบัติเข้ามาถึงได้โดยรอบ,  นั้นมีอยู่ ;  ใน  “สิ่ง”  นั้นแหละ  ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม  ไม่หยั่งลงได้  ;  ใน  “สิ่ง”  นั้นแหละ  ความยาว  ความสั้น  ความเล็ก  ความใหญ่  ความงาม  ความไม่งาม  ไม่หยั่งลงได้ ;  ใน  “สิ่ง”  นั้นแหละ  นามรูป  ดับสนิทไม่มีเหลือ ; นามรูป  ดับสนิท  ใน  “สิ่ง”  นี้  เพราะการดับสนิทของวิญญาณ ;  ดังนี้แล.

            - สี. ที. ๙/๒๘๙/๓๔๘-๓๕๐.
------------------------------------------------
ส่วนอันนี้สำนวนการแปลของฉบับหลวงครับ
ชอบฉบับใด สามารถอ่านฉบับนั้นๆ ได้ครับ (นอกจากนี้มีสำนวนการแปลของมหามงกฏและมหาจุฬาด้วย)
------------------------------------------------
               ดูกรเกวัฏฏ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุนี้เอง ได้เกิดความ
ปริวิตกอย่างนี้ว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้
ย่อมดับไม่มีเหลือ ในที่ไหนหนอ. ลำดับนั้น เธอได้เข้าสมาธิชนิดที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่
เทวโลกปรากฏได้. ครั้นแล้วเธอได้เข้าไปหาพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชถึงที่อยู่ แล้วถามว่าท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับ ไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว
         เทวดาชั้นจาตุมหาราชจึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้า ก็ไม่ทราบที่ดับไม่มิเหลือ แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้เหมือนกัน
แต่ยังมีท้าวมหาราชอยู่ ๔ องค์ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าวเธอคงจะทราบ. ลำดับนั้นภิกษุนั้นจึงไปหาท้าวมหาราช
ทั้ง ๔ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ
เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว
          ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้าอยู่อีก
เทวดาเหล่านั้นคงจะทราบ ภิกษุนั้นจึงเข้าไปหาเทวดาชั้นดาวดึงส์ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย
มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน?
เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว
          เทวดาชั้นดาวดึงส์จึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีท้าวสักกะ
จอมเทพซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้าอยู่อีก ท้าวเธอคงจะทราบ. ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้
ไปหาท้าวสักกะจอมเทพแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ
วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน? ดูกรเกวัฏฏ์ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว
            ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสตอบว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น
แต่ยังมีเทวดาชั้น ยามะ ... ท้าวสุยามะ ... เทวดาชั้นดุสิต ... ท้าวสันดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ...
ท้าวสุนิมมิต ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ... ท้าวปรนิมมิตวสวดี ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าข้าพเจ้า
อยู่อีก ท้าวเธอคงทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ
วาโยธาตุ เหล่านี้ได้.
    ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้นแล เธอได้เข้าไปหาวสวดีเทวบุตรแล้วถามว่า ท่าน
มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือใน
ที่ไหน เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว วสวดีเทวบุตรตอบว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีเทวดา
ผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกเราอยู่อีก เทวดาเหล่านั้นคงจะทราบ ลำดับนั้น
ภิกษุได้เข้าสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่พรหมโลกปรากฏได้.
     ดูกรเกวัฏฏ์ ต่อนั้น เธอได้เข้าไปหาเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมโลกแล้วถามว่า
ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับ
ไม่มีเหลือในที่ไหน? เมื่อเธอถามอย่างนี้ เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมจึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีพรหมผู้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ ผู้ใช้อำนาจเป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ
เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้วและยังจะเกิดต่อไป ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าว
มหาพรหมนั้นแล คงจะทราบ ก็บัดนี้ท้าวมหาพรหมนั้นอยู่ที่ไหน แม้พวกเราก็ไม่รู้ที่อยู่ของพรหม
หรือทิศทางที่พรหมอยู่ แต่ว่านิมิตทั้งหลายย่อมเห็นได้ แสงสว่างย่อมเกิดเอง โอกาสย่อมปรากฏ
เมื่อใด พรหมจักปรากฏองค์เมื่อนั้น การที่แสงสว่างเกิดเอง โอกาสปรากฏนั้นแล เป็นบุพพนิมิต
สำหรับความปรากฏแห่งพรหม ดูกรเกวัฏฏ์ ต่อมาไม่นาน มหาพรหมนั้นได้ปรากฏแล้ว.
     ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น เธอได้เข้าไปหามหาพรหมแล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูป
ทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน?
เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาพรหมนั้นได้ตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นมหาพรหม
เป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง
เป็นผู้เนรมิตร เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว
และยังจะเกิดต่อไป แม้ครั้งที่ ๒ เล่า ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมนั้น ดังนี้ว่า ข้าพเจ้า
มิได้ถามท่านอย่างนั้น แต่ข้าพเจ้าถามท่านว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้
ต่างหาก แม้ครั้งที่ ๒ เล่า ท้าวมหาพรหมก็ได้ตอบเธออย่างนั้นเหมือนกัน แม้ครั้งที่ ๓ เล่า
ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมนั้นดังนี้ว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านอย่างนั้น แต่ข้าพเจ้าถามท่านว่า
มหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้ต่างหาก.
    ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น จับแขนภิกษุนั้นนำไป ณ ที่ควร
ข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุ พวกเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมเหล่านี้เข้าใจเราว่า อะไรๆ
ที่พรหมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ประจักษ์ ไม่มี ดังนี้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงตอบต่อหน้า
เทวดาเหล่านั้นไม่ได้ว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ
อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล การที่ท่านละพระผู้มีพระภาค
เสีย แล้วมาเสาะหาการพยากรณ์ปัญหานี้ในภายนอกนั้น เป็นอันท่านทำผิดพลาดแล้ว นิมนต์กลับ
เถิด ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามปัญหานี้ พระองค์ทรงพยากรณ์แก่ท่านฉันใด ท่าน
พึงทรงจำข้อนั้นไว้ ฉันนั้น
.
    ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้หายไปที่พรหมโลก มาปรากฏข้างหน้าเรา
เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้อยู่ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดไว้เข้ามา ฉะนั้น. ต่อนั้น
เธอไหว้เราแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ถามเราว่า

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป ทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน
เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า
         ดูกรภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าเดินเรือทะเลย่อมจับนกตีรทัสสี (นกดูฝั่ง) ลงเรือไปด้วย เมื่อไม่เห็นฝั่ง เขาย่อมปล่อยนกตีรทัสสี
มันบินไปยังทิศบูรพา ทิศทักษิณ ทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศเบื้องบน ทิศน้อย ถ้ามันแลเห็นฝั่งโดยรอบมันก็บินเลยไป ถ้ามันแลไม่เห็นฝั่งโดยรอบ มันก็จะกลับมายังเรือนั้นอีก

          ดูกรภิกษุเธอก็ฉันนั้นแล เที่ยวแสวงหาจนถึงพรหมโลก ก็ไม่ได้รับพยากรณ์ปัญหานี้ ในที่สุดก็ต้องกลับ
มาหายังสำนักเรานั่นเอง ปัญหาข้อนี้เธอมิควรถามอย่างนั้น แต่ควรถามอย่างนี้
.
            
    ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน
อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน
นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้.


     ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใส โดยประการทั้งปวง
ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้.
    อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ใน
ธรรมชาตินี้.
    นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้.
    เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้นย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ ดังนี้.
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรมีใจชื่นชม เพลิดเพลิน
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
-----------------------------------------------------------------------------------------
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ศาสนาพุทธ พระไตรปิฎก
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่