ไทยพาณิชย์สั่งสอนซีพี หยุดลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ ส่วนในพอร์ตจะทยอยปรับขายออก


ไทยพาณิชย์สั่งสอนซีพี หยุดลงทุนหุ้นและหุ้นกู้ ส่วนในพอร์ตจะทยอยปรับขายออก
ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

          บลจ.ไทยพาณิชย์ กองทุนขนาดใหญ่อันดับ 1 ของไทย ประกาศหยุดลงทุนหุ้นทุกตัวในกลุ่มซีพี คาดเป็น CPALL-TRUE-MAKRO และ CPF รวมถึงตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ในเครือซีพีทั้งหมด โดยเฉพาะการใช้สิทธิ์หุ้นเพิ่มทุน TRUE ที่มีกำหนดเพิ่มทุน 60,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ CPALL ที่มีกำหนดออกปลายปีนี้ 10,000 ล้านบาท จนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องธรรมาภิบาล เผยกองทุนทุกแห่งถือหุ้นใน CPALL รวมกว่า 30% รอฟังผลบอร์ดวันที่ 23 ก.พ.นี้ ก่อนจะปรับพอร์ตลงทุนต่อไป

          นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทยังคงรอท่าทีความชัดเจนของทางบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL กรณีผู้บริหารระดับสูงใช้อินไซเดอร์เทรดดิ้งหุ้น  MAKRO ในช่วงปีที่ผ่านมาว่าจะมีทิศทางออกมาอย่างไร

          โดยในวันที่ 23 ก.พ.นี้นั้น จะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท CPALL จะมีประเด็นเรื่องของผลประกอบการของบริษัท และยังมีการหารือเกี่ยวกับปัญหาของผู้บริหารที่กระทำผิดดังกล่าวประกอบด้วย

          “ในฐานะเป็นผู้ลงทุนที่ยึดหลักธรรมาภิบาล บริษัทจึงขอชะลอการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ ของเครือบริษัทซีพีในขณะนี้ โดยไม่มีการเพิ่มน้ำหนักในหลักทรัพย์ต่างๆ พร้อมไม่มีการลดน้ำหนักในหุ้นของเครือซีพีที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ด้วย รวมถึงตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ของกลุ่มซีพี จนกว่าผลการประชุมบอร์ดจะมีข้อสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นออกมา”

          อนึ่งสำหรับหุ้นในกลุ่มซีพี หลักๆ คือ CPALL-TRUE-MAKRO และ CPF
          นายสมิทธ์ กล่าวด้วยว่า หากการประชุมดังกล่าวไม่มีข้อสรุปใดๆ ทางผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ทั้งหมดที่ถือหุ้นปัญหาตัวนี้รวมกันเกือบ 30% จะขอใช้สิทธิในการขอเปิดประชุมวิสามัญเพื่อรับการชี้แจงกับทางคณะกรรมการฯ ถึงเหตุผลในการจัดการกรณีที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนหุ้นในกลุ่มซีพีอีกครั้ง

          "การ ที่นักลงทุนสถาบันรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องกับบริษัทในเครือซีพีที่มีประเด็นนั้น ไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้งแต่เป็นการใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ต้องเข้าใจด้วยว่าการกระทำที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นการเอาเปรียบกับนักลงทุนรายอื่นอย่างเดียว แต่เอาเปรียบบริษัทแม่ของเขาด้วย เพราะเจ้าตัวไปซื้อหุ้นตัดหน้าในราคาที่ถูกกว่าบริษัทแม่ที่เข้าไปซื้อ” นายสมิทธิ์ กล่าวและว่า

          “ถามว่าทำไมต้องเฉพาะบริษัทในเครือซีพีที่สถาบันเรียกร้องความถูกต้อง พูดง่ายๆ เลยว่าในอดีตมีผู้กระทำผิดแบบนี้หลายคนแต่สถาบันไม่ได้เข้าไปลงทุน ในบริษัทดังกล่าว ก็ไม่สามารถเข้าไปเรียกร้องได้ ซึ่งไม่เหมือนกับทางซีพี ออลล์ที่สถาบันต่างๆ มีอยู่ในพอร์ตกันแทบทั้งนั้น และด้วยหลักธรรมาภิบาลสถาบันต่างๆ ก็ต้องยึดหลักการดังกล่าวเป็นหลัก ทำให้ผลสะท้อนไปยังผู้บริหารที่กระทำผิด" นายสมิทธ์ กล่าว

          ก่อนหน้านี้ ผู้จัดการกองทุน ต่างกล่าวว่า พร้อมที่จะทยอยปรับหุ้น CPALL ออกจากพอร์ต โดยจะทยอยขาย เพื่อไม่ให้กระทบกับตลาดโดยรวม
          นายสมิทธ์ กล่าวว่า ด้านนโยบาย และทิศทางการดำเนินงานบริษัทในปีนี้ บริษัทมีเป้าหมายในการสร้างการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การ จัดการ  (AUM) โตเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาทจากปี 58 ที่มี AUM อยู่ที่ 1,163,079 ล้านบาท โดยการขยายฐานลูกค้าใหม่เข้ามา ทั้งลูกค้าสถาบันและรายย่อยควบคู่กับการรักษาฐานลูกค้าเดิม เพื่อให้สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมไว้ให้ได้

          การเติบโตของ AUM ปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการระดมทุนภาครัฐ ในลักษณะกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)  ซึ่งบริษัทมีแผนในการมีส่วนร่วมอย่างแน่นอน  เนื่องจากมีประสบการณ์การบริหารกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (Digital Telecommunications Infrastructure Fund) หรือ DIF ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

          “การที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมใน Infrastructure Fund ก็ต้องมีปัจจัยประกอบหลายอย่าง ทั้งการมีทีมวาณิชธนกิจเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้โครงสร้างกองทุนแข็งแกร่ง และต้องมีทีมขายที่มีความสามารถในการขายกองทุนที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์มีพร้อมทั้ง 2 อย่าง ประกอบกับที่ผ่านมาเรามี Roadshow เพื่อพบปะผู้ลงทุนต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกง ลอนดอน  และสิงคโปร์  ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลเชิงลึก ทำให้กองทุนมีความน่าสนใจและประสบความสำเร็จด้วยดี” นายสมิทธ์ กล่าว

          ช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทมี AUM รวม 1,163,079 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทก้าวสู่อันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 21% คิดเป็นอัตราเติบโตจากปี 2557 15.2% สำหรับกอง ทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์มีการเติบโตมากที่สุด ในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM ณ สิ้นปี 58 สูงถึง  245,035 ล้านบาท เติบโต 130% จากสิ้นปี 57 โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น  41. 5% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี 57

          สำหรับธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่  117,643 ล้านบาท เติบโต 6.7% จากปี 2557 และธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund)  มี AUM ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 800,401 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund มูลค่ารวม 71,194 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 57,977 ล้านบาท

          “ในปีนี้จะเห็น บริษัทออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น มีการดำเนินงานแบบ Active และมีการนำกลยุทธ์การลง ทุน Long/Short หรือ Absolute Return มาใช้เพื่อลดความผันผวนจากการลงทุน และให้ได้ผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม อาทิ High Net  Worth/Ultra High Net Worth อย่างไรก็ตาม บริษัทจะนำเสนอกองทุนดังกล่าว ควบคู่กับการเน้นให้ความรู้เรื่องการลงทุนแก่ผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะความรู้ด้านสินทรัพย์เสี่ยง โดยมุ่งหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนในระยะยาว เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนมากขึ้น" นายสมิทธ์ กล่าว

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 (หน้า 27)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่