ประปากับวิกฤตน้ำแล้ง 59

กระทู้ข่าว
ปลูกเรือนผิด คิดจนตัวตาย!...ภาษิตโบราณท่านว่าไว้ ยังคงเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจที่ใช้ได้ทุกยุคสมัย...แม้ในปัจจุบัน และใช้ได้กับทุกสถานการณ์ด้วยแม้กระทั่งการเลือกผู้นำองค์กร อย่างการแต่งตั้ง “พระสังฆราช” ที่กำลังระอุแดดอยู่ในเวลานี้ หรือการสรรหาผู้นำองค์กรในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่หลายหน่วยงานคัดสรรมาเป็นปียังไม่สะเด็ดน้ำ!

1 ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่กำลังถูกจับตาเวลานี้ก็คือการประปาส่วนภูมิภาค ที่กำลังสรรหาว่าที่ผู้ว่าการ กปภ.คนใหม่ แทนนางรัตนา กิจวรรณ ผู้ว่าคนปัจจุบันที่กำลังจะพ้นวาระในเดือนมีนาคมศกนี้ ซึ่งบอร์ด กปภ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่มีพลเอกวิชิต ศรีประเสริฐ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา โดยได้เริ่มกระบวนการสรรหามาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 58 ที่ผ่านมา

ล่าสุดความคืบหน้าของการสรรหานั้นนัยว่ากำลังระอุแดดไม่แพ้กรณีการแต่งตั้งองค์สังฆราชเลยทีเดียว เพราะผู้สมัครชิงดำว่าที่ผู้ว่าการ กปภ.แต่ละคนนั้น นัยว่าเมื่อพลิกโปรไฟล์เป็นรายบุคคลแล้วกินกันไม่ลงเลยทีเดียว มีทั้งอดีตผู้บริหาร รฟม. นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ นักบริหารมืออาชีพที่คลุกคลีอยู่กับการจัดหาน้ำเพื่อการอุปสรรคบริโภค รวมทั้งลูกหม้อใน กปภ.เอง ที่รู้ซึ้งตื้นลึกหนาบางวัฒนธรรมในองค์กร กปภ.เป็นอย่างดี

แต่โจทย์ใหญ่ของ กปภ.ยามนี้ก็คือจะต้องแสวงหาคนแบบไหนเข้ามารับหน้าที่ตรงนี้ บ้างก็ว่าควรเอานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำเข้ามาซึ่งก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่หลายฝ่ายก็ตั้งข้อสังเกตการณ์เอานักวิชาการ นักวิจัย เข้ามาขับเคลื่อนองค์กรอาจเป็นดาบ 2 คมที่ทำให้องค์กรไปไม่เป็นก็เห็นมาแล้ว เพราะงานวิชาการกับประสบการณ์ในการบริหารมืออาชีพนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อีกทั้งหน่วยงานด้านการเฝ้าระวังหรือพยากรณ์สภาพภูมิอากาศนั้นก็มีอยู่อย่างหลากหลายอยู่แล้ว บ้างก็มองว่าเหตุใดไม่เลือกคนในที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรดีอยู่แล้ว

หากย้อนไปในช่วงปี 2558 ถือเป็นปีแห่งวิกฤตภัยแล้งที่หนักหน่วง เพราะปี 57ประเทศไทยมีปริมาณฝนตกน้อยมาก แม้ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศจะไม่ต่ำมาก แต่ฝนไปตกมากแถวขอบประเทศนอกพื้นที่กักเก็บน้ำ และภาคใต้ ขณะพื้นที่หลักกลับมีปริมาณฝนน้อยเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี ทำให้น้ำต้นทุนทั้งในปี 57-58 อยู่ในระดับต่ำในรอบทศวรรษ

สิ่งที่ตามมาก็คือ วิกฤติภัยแล้งจนเกิดการแย่งน้ำภาคเกษตร รัฐบาลต้องสั่งห้ามปลูกข้าวนาปรัง เลื่อนปลูกข้าวนาปีให้จ้าละหวั่น ทหารต้องลงไปคุม ไล่จับเกษตรกรที่แอบสูบน้ำ ผลผลิตเกษตรตกต่ำเป็นประวัติการณ์ (แต่ราคาสินค้าเกษตรก็ยังต่ำอยู่ดี) ถนนทรุดพังไปหลายเส้นทางเพราะน้ำในคลองแห้งขอด ส่งผลไปถึงการผลิตน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนโดยทั่วไปอย่างรุนแรง การประปาต้องหยุดผลิตจ่ายน้ำในหลายพื้นที่ ส่งผลกระไปต่อประชาชนในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการพยากรณ์น้ำ พยากรณ์อากาศนั้น จะว่าไปก็คล้ายกับ "หมอดูคู่หมอเดา" วันวานหน่วยงานอุตุนิยมวิทยุบ้านเรา บอกฝนหลงฤดูที่เข้ามานี้จะหมดแล้วจากนี้ไปเตรียมรับวิกฤติภัยแล้งของจริง แต่ยังไม่ทันไร้เช้าตรู่วันพุธที่20 มกราคมที่ผ่านมากรุงเทพและปริมณฑลเจอฝนตกซู่เข้าเต็มเปาทำเอานิคมฯบางปูจมบาดาล โรงงานอุตสาหกรรมเดือดร้อนเจ๊งกันระนาว

เหมือนก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 นักวิชาการพากันออกมาฟันธงทั่วโลกและไทยกำลังเจอวิกฤติภัยแล้ง “เอลณิญโญ่-ลานิญญ่า” ผู้คนพากันแตกตื่น รัฐต้องสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกักเก็บน้ำกันให้เต็มพุงแต่พอเจอฝนเทกระหน่ำไม่หยุดหย่อนเอาปี 2554 ก็ทำเอาประเทศไทยเจอวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ เพราะระบายน้ำเก่า-ใหม่กันไม่ทัน แต่พอมาปี 2555 มีนักวิชาการขาประจำออกมาพูดให้คนไทยได้ตกใจกันอีกว่า วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 55 จะหนักหนาสาหัสพอๆ กับปี 54 หรืออาจจะรุนแรงยิ่งกว่า ทำเอารัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำในเขื่อนทิ้งกันทั้งวันทั้งคืน เอาเข้าจริงกลับกลายเป็น “หนังคนละม้วน”

ดังนั้นการเอานักวิชาการเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร จึงหาใช่จะเป็นคำตอบสุดท้ายของการตัดสินใจเลือกผู้นำองค์กรเสมอไป แต่โจทย์ใหญ่ของการประปาภูมิภาคในยามนี้ นอกจากจะต้องสรรหาผู้บริหารมืออาชีพที่จะเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร โดยเฉพาะการเป็นกลไกสำคัญของรัฐ ในการรับมือวิกฤตน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคของผู้คน ยิ่งในห้วงที่หลายฝ่ายพากันตีปี๊บวิกฤติภัยแล้งในปี 2559 นี้ คงจะทอดยาวมากกว่าปีก่อนๆ บ้างก็ว่าอาจจะยิ่งกว่าวิกฤติเอลณิญโญ่ ในอดีตด้วยแล้ว

ผู้บริหารใหม่ กปภ. ที่จะก้าวเข้ามารับหน้าที่นั้น ต้องเผชิญกดับการรับศึกหนักตามมาแน่ ในขณะที่ต้องบริหารองค์กร, รายได้, การลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นทักษะคนละด้านกับความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำ หากใช้คนผิดทักษะไม่ตรงกับงานก็จะเกิดปัญหามากมาย อาจทำให้งานมีปัญหาหรือล้มเหลวสร้างผลกระทบให้กับประเทศชาติและประชาชนเป็นวงกว้างเอาได้

ทั้งหมดคงต้องจับตาอนาคตของหน่วยงานการประปาภูมิภาคนี้ เพราะเชื่อว่าต่อไปจะเป็นองค์กรที่ถูกพูดถึงหรือถูกเรียกร้องมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง เพราะอย่างที่กล่าวสร้างบ้านผิดคิดจนตัวตาย เลือกผู้บริหารผิดองค์กรก็อาจมีสภาพไม่ต่างไปจาก 6-7 รัฐวิสาหกิจที่วันๆ เอาแต่จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการไม่รู้จักจบสิ้นอยู่ในเวลานี้!!!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่