...ก็เยี่ยงนี้แหละชีวิต ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง จะใหดี๊ดีไปเสียทั้งหมดก็คงจะจืดชืดเหลือคณา......by วัชรานนท์

ไม่นานมานี้ได้อ่านกระทู้คุณนิด(เพชรน้ำนิล)เขียนเล่าชีวิตเด็กอีสานไป   อ่านแล้วให้เห็นภาพและระลึกชาติได้เลย   วิถีชีวิตคนอีสานส่วนใหญ่ยังคงเรียบง่าย  ยิ่งห่างตัวเมืองออกไปก็จะเห็นความเรียบง่ายและความเป็น “บ้านนอก” อย่างชัดเจน
      

เป็นความจริงที่ต้องยอมรับกัน ว่าถ้าพูดถึงภาคเหนือ>>>ภาพแห่งขุนเขา  สายหมอก และความอ่อนช้อยงดงามของประเพณีจะผุดขึ้นในความคิด    ถ้าพูดถึงภาคใต้>>>ภาพชายหาดทรายสีขาว  ทะเลสีใสใต้ฟ้าสีครามคือสัญญลักษณ์      ถ้าพูดถึงภาคอีสาน >>> ความแห้งแล้ง  และความทุรกันดารและสภาพที่ล้าสมัยคืออัตตลักษณ์ของภูมิภาค    เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องยอมรับโดยทั่วไป   ในส่วนของคนอีสานนั้นแม้จะต้องเผชิญชะตากรรมจากธรรมชาติที่โหดร้ายกว่าภาคอื่นๆ   แต่ดูเหมือนว่าคนอีสานส่วนใหญ่ยังคงพอใจที่จะอยู่ในถิ่นฐานของตัวเองกัดฟันกลมกลืนกับสภาวะธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้    และการทิ้งถิ่นฐานส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นไปรูปแบบขายแรงงานและเพื่อการศึกษาที่ดีกว่า   และท้ายที่สุดแล้วคนอีสานก็มักจะ “โงโค้งต่าวอีสาน” (แปลว่าบ่ายหน้ากลับสู่อีสาน)เหมือนเดิม



ภัยจากธรรมชาติอย่างหนึ่งที่อยู่คู่มากับอีสานมาตลอดก็คือความแห้งแล้ง   อย่างที่คุณนิดเคยเขียนไว้นั่นแหละครับว่าเนื่องจากทำเลที่ตั้งทางภุมิศาสตร์ไม่เอื้ออำนวย   น้ำเป็นปัจจัยสำคัญด้านเกษตรและบริโภค     คนที่ใช้ชีวิตในเมืองที่มีน้ำปะปาใช้อาจจะไม่เลึกซึ้งถึงภาวะความลำบากตรงนี้เท่าไหร่   เพียงแต่บิดหัวก๊อกน้ำก็จะไหลออกมา   แต่สำหรับคนอีสานในชนบทหลายพื้นที่ ๆ กว้างไกล    กว่าจะได้น้ำมาบริโภคต้องเดินทางเป็นกิโลๆ เพื่อตัดน้ำใส่ชลอมมาใส่ตุ่มที่บ้าน   บางหมู่บ้านน้ำพื้นดินใต้บาดาลมีรสเปรี้ยวดื่มไม่ได้   ก็ต้องเดินทางไกลข้ามหมู่บ้านอื่นเพื่อไปหาแหล่งน้ำที่ไม่มีรสเปรี้ยวหรือเค็ม  ชาวบ้านบางคนไปนอนค้างคืนใกล้บ่อน้ำเลยเพื่อที่จะได้น้ำก่อนใครอื่นก็มี   


ในด้านประวัติศาสตร์   ดินแดนอีสานเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมร่วมพันปี    หากแต่ว่าประวัติศาสตร์ในยุคที่มนุษย์เริ่มรู้จักขีดเขียนและจดบันทึกแล้วนั้น  ดินแดนอีสานแทบจะไม่มีบทบาทหรือความสำคัญโลดแล่นบนหน้าประวัติศาสตร์ไทยเลยเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ  และนี่คงอาจจะเป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุผลกระมังที่ภาครัฐให้ความสำคัญของดินแดนแห่งนี้ไม่มากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับแผ่นดินอันกว้างใหญ่สุดในประเทศไทย (ไม่ได้บ่นหรือน้อยใจอะไรนะครับ  อย่าเข้าใจผิด)


สมัยผมเป็นเด็ก.....หน้าที่อย่างหนึ่งของผมที่ต้องตื่นแต่เช้าก็คือไปตักน้ำมันยางจากต้นยาง(ไม่ใช่ต้นยางพารา  แต่เป็นต้นไม้ยืนต้นที่สูงใหญ่ที่คนอีสานเรียกว่าต้นยางใหญ่)  เพื่อนำไปคลุกกับขุยไม้แล้วทำเป็นไต้เพื่อจุดไฟให้แสงสว่าง    ที่ต้นยาง   พ่อจะเจาะโพลงขนาดย่อมๆ แล้วจุดไฟทิ้งไว้หลายชั่วโมง  จากนั้นต้นยางใหย่จะคลายน้ำมันออกมาขังไว้ในโพรงที่พ่อเจาะไว้  ทุกๆ เช้าผมก็จะไปตักเอามาเพื่อให้ความสว่างในบ้าน


แปลก....ประเทศไทยซื้อไฟฟ้าจากฝั่งลาวเป็นล้านๆ กิโลวัตต์มาหลายสิบปี(ปัจจุบันนี้ก็ยังซื้ออยู่)   แหล่งไฟฟ้าของลาวที่ส่งให้ไทยอยู่ใกล้หมู่บ้านผมแท้ๆ   แต่สมัยนั้นพวกผมไม่ได้มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้าเลย  ได้แต่อาศัยไฟจากไต้ที่ทำกันเองตามเล่าไปข้างบน  ไฟฟ้าที่ซื้อจากลาว(แหล่งผลิตที่เขื่อนน้ำงึม)ถูกส่งจากลาวผ่านจังหวัดต่างๆ ตรงลงเมืองหลวงและรอบๆ ปริมณฑลเฉยเลย


ในยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  เปลี่ยนtrend เป็นว่าเล่นนั้น    คนอีสานส่วนใหญ่ยังคงพึงพอใจกับความบันเทิงตามแบบฉบับที่หลายคนมองว่าบ้านนอกๆ ของพวกเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็น งานบุญบั้งไฟ  งานแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง   งานหล่อเทียนถวายพระวันเข้าพรรษา  งานทำบุญข้าวประดับดิน  งานบุญไหลไฟในแม่น้ำโขง ฯลฯ   เรียกได้ว่าที่อีสานจะมีงานบุญประเพณีทุกเดือนตามที่พูดกันติดปากว่า “ฮีตสิบสองคองสิบสี่”  “ฮีต” แปลว่าจารีตประเพณีที่สืบต่อกันมาทั้งสิบสองเดือน   ส่วนคำว่า “คอง” กร่อนมาจากคำว่า “ครรลอง” คือแนวทางการประพฤติปฏิบัติ  ครรลองสำหรับภรรยา  สามี  เจ้านาย  ลูกน้อง ฯลฯ ที่อิงแอบกับคำสอนพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “ฆราวาสธรรม” (ธรรมสำหรับผู้ครองเรือนนั่นเอง)


คนอีสานไม่ได้ร่ำรวยมากมายอะไรนักหากความร่ำรวยที่ว่าวัดกันที่เงินตราและรถราที่ขับ    แต่ถ้าหากเป็นความร่ำรวยด้าน “ศีลทาน” แล้ว  ฐานะของคนอีสานก็คงน่าจะอยู่ระดับต้นๆ ทีเดียว   หมู่บ้านในภาคอีสานบางหมู่บ้านดูสภาพแล้วยากจนมาก  แต่เมื่อไปเห็นวัดวาอารามแล้วกลับมีโบสถ์มีศาลางดงามไม่แพ้ในเมืองเลย   นั่นก็บ่งบอกได้ถึงสถานะความร่ำรวยทาง “ศีลทาน” ของคนในหมู่บ้าน   สมดั่งบทกลอนของท่านพุทธทาสที่ว่า

คนจะงาม งามที่ใจ ใช่ใบหน้า

คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน

คนจะแก่ แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน

คนจะรวย รวยศิลทาน ใช่บ้านโต
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
บรรยายได้เห็นภาพวิถีชีวิตคนอีสานดั้งเดิมได้ดีมากครับ ส่วนเหตุที่เราต้องได้ซื้อไฟฟ้าจากลาวเพราะลาวมีภูมิประเทศและทรัพยากรน้ำมากมาย สมบูรณ์กว่าเรา ที่ผมเห็นๆอยู่ก็จะมีพวกน้ำงึม น้ำเทิน เซเซด และตามลำน้ำธรรมชาติของเขาอีกนับไม่ถ้วน ลักษณะก็เป็นเครื่องปั่นไฟชนิด Bulb Turbine Type ที่ให้แรงบิดเพื่อไปหมุน Genarator ได้มากกว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำตามภาคอีสานบ้านเรา (ปัจจุบันกำลัง renovation อยู่) ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักของลาวเลยก็ว่าได้ที่นำไฟฟ้ามาขายให้กับ กฟผ. ในส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำของบ้านเราส่วนใหญ่เราจะเอาไว้เดินเสริมเฉพาะช่วง peak load หรือช่วงที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวันเท่านั้น เพื่อไปเสริมให้กับไฟฟ้าที่ได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ก๊าซ CNG ในการผลิต บางครั้งเขาก็จอดมันไว้เฉยๆเรียกว่าขายความพร้อม ตอนนี้ที่อุดรบ้านพี่วัชรานนท์ไม่ต้องเป็นกังวลใดๆเกี่ยวกับไฟฟ้าแล้วครับ เพราะใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนน้ำพอง(ก๊าซธรรมชาติเป็นต้นกำลัง) ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนแน่นอนครับผม

เห็นภาพการทำไต้จุดไฟเลยครับ สมัยเด็กๆก็เคยใช้เวลาไปเยี่ยมคุณยาย แต่ไม่ได้ใช้ส่องสว่าง ใช้เป็นต้นเพลิงจุดเตาอั้งโล่เผาปลากินกันครับ ได้บรรยากาศบ้านทุ่งมากๆ +1 ครับสำหรับกระทู้นี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่