รีวิว Spotlight บนจรรยาบรรณของสื่อที่เกิดขึ้นกับคุณ ปอ ทฤษฎี



เมื่อครั้งผมเพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมบังเอิญได้ฟังบทสนทนาของพี่ที่ทำงานคนหนึ่งที่เขาเป็นนักข่าววิทยุคลื่นบังเทิง ไปสัมภาษณ์ดาราคนหนึ่งที่รับคนตาบอดเข้ามาเป็นพนักงานบริษัท พี่นักข่าวคนนั้นถามดาราคนนั้นว่า

“ที่ทำไปนี่เพราะสร้างภาพหรือเปล่า ?”

แน่นอนว่าดาราคนนั้นโกรธมาก แล้วต่อว่านักข่าวคนนั้นกลับว่า “เอาอะไรคิด ?” แล้วก็มีประโยคต่อว่าอีกมากมายตามมา ทำให้นักข่าวคนอื่นๆที่อยู่ตรงนั้น หันมามองพี่นักข่าวคนนี้เป็นสายตาเดียวกัน เมื่อกลับมาถึงที่ทำงาน พี่นักข่าวคนนี้ก็ไปปรึกษาพี่ที่อาวุโสกว่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และพี่คนนั้นก็แนะนำว่า ถ้าดาราหรือใครต่อว่ามาแบบนั้นอีก ให้ถามกลับไปว่า

“จบไหมคะ ?”

แล้วให้เดินออกไปเลย

ผมนั่งฟังแล้วผมก็รู้สึกอึ้งๆในใจ รู้สึกคัดค้าน แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกมา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสื่อของไทยเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ทั้งในทางที่ดีและในทางที่ไม่ดี ซึ่งจะว่าไปแล้ว สื่อนั้นก็พัฒนาตามพฤติกรรมของผู้เสพย์ หลายปีมาแล้ว ผมเคยเปิดดูหนังสือข่าวดาราและมักจะเห็นภาพถ่ายกางเกงในของดาราเมื่อไปร่วมงานอีเว้นท์ต่างๆ ราวกับว่านี่คือเรื่องปกติที่ทุกคนทำได้ เมื่อดารานั่งไม่เรียบร้อยหรือนั่งไม่ระวัง ช่างภาพก็มีสิทธิ์ถ่าย แล้วหนังสือก็มีสิทธิ์ตีพิมพ์ ที่น่าตลกไปกว่านั้นคือ ผู้คนก็ซื้อหนังสือเหล่านี้กันตามปกติ ไม่ต่างอะไรกับบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่จะต้องมีรูปภาพศพคนตาย วัฒนธรรมการเสพย์สื่อของคนไทยค่อนข้างออกไปทางแนวประหลาดๆ เราเหมือนฝูงลิงที่อยากรู้อยากเห็นโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลในเชิงปัญญาหรือเส้นกั้นของจริยธรรมที่ขีดไว้ หากมีข่าวเรื่องอุบัติเหตุให้เสพย์ เราไม่ได้อยากรู้สาเหตุของอุบัติเหตุเพื่อเป็นอุทาหรณ์หรือเอาไว้เตือนสติเราไม่ให้ประมาทหรอกเหรอ ทำไมเราถึงอยากเห็นว่าสภาพศพของคนที่ประมาทนั้นเป็นเช่นไร หลายครั้งผมเกิดคำถาม และคำถามทำให้ผมเป็นคนขวางโลก เมื่อผมเป็นคนขวางโลกและรู้สึกหงุดหงิดกับสิ่งเหล่านั้น ผมจึงเลือกที่จะหันหลังให้มัน นั่นล่ะคือเหตุผลที่ผมไม่ค่อยเสพย์ข่าว เพราะว่าถ้ามันเป็นข่าวที่ใหญ่จริงๆ มันก็คงจะมาผ่านสายตาของผมไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง และถ้าหากว่าผมสนใจผมก็จะค่อยไปค้นคว้าหรือตามอ่านเรื่องราวของข่าวเหล่านั้นอีกทีก็ได้ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผมจะสามารถเบือนหน้าหนีจากข่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมด หลายครั้งข่าวที่เกิดขึ้นก็ส่งผลต่อความสนใจของผม อารมณ์ของผม และคำถามที่เกิดขึ้นต่อความคิดความอ่านของคนไทย ดั่งเช่นข่าวของนักข่าวและช่างภาพที่รุมถ่ายการเคลื่อนย้ายศพของคุณปอ ทฤษฏี ในวันนี้ ซึ่งหลายคนก็ต่อว่าเหล่าบรรดาคนข่าวที่กระหายจะได้ภาพมาออกสื่อแบบนี้ และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งมีเหตุการณ์ในกรณีเดียวกันกับข่าวการเสียชีวิตของคุณ สิงห์ Sqweeze Animal ที่นักข่าวรุมกันผ่ายภาพของพ่อแม่และคนรักของคุณสิงห์ อย่างไม่คิดเอะใจสักนิดเลยว่านี่คือ สิ่งที่ไม่ถูกต้อง

เข้าใจคำว่า “เอะใจสักนิดว่านี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” ไหมครับ ?

คนไทยเป็นเชื้อชาติที่รักความ “สะดวก” และเรามักเห็นความสะดวกมาก่อนความถูกต้องเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ การทิ้งขยะ หรือแม้แต่การโกงต่างๆ เรามักจะเห็นแม่ค้าแม่ขายที่มักจะบ่นเรื่องการถูกไล่ที่หรือการที่ถูกเทศกิจมาจับ แต่กลับไม่มีใครนึกเอะใจว่าเขาสามารถเทน้ำก๊วยเตี๋ยวลงท่อระบายน้ำข้างทางได้มั้ย ? หรือเรามักจะฝ่าไฟแดงตามๆกันด้วยเหตุผลที่ว่า ไหนๆคันข้างหน้าก็ออกไปแล้ว ก็ขับตามๆกันไปเลยละกัน เคยคิดบ้างไหมว่าทำไมถึงไม่เป็นเราที่เป็นคนที่เลือกที่จะ “ไม่ทำ” หรือจะต้องเป็นเราที่จะเป็นคน “คัดค้าน” สิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ อันนี้ผมไม่ได้พูดไปไกลถึงเรื่องใหญ่ๆอย่างการเมือง หรือการต่อสู้เพื่อไม่ให้สร้างเขื่อนแต่อย่างใด แต่ผมหมายถึงปัญหาเล็กๆทั่วๆไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ว่าทำไมถึงไม่เป็นเราที่รู้สึกขัดแย้งแล้วหยุดที่จะไม่กระทำ

ผมไม่แปลกใจที่ช่างภาพพากันพังรั้วกั้นเพื่อไปจ่อกล้องถ่ายภาพศพของคุณปอ ทฤษฏี
แต่ผมกลับแปลกใจที่ไม่มีใครเอ่ยขึ้นมาซักคำว่า “พี่ๆครับ ไม่เอาครับ ทำแบบนี้มันไม่ถูกต้องครับ”

เมื่อมีคนนึงทำ ก็ย่อมมีคนอื่นทำตาม และทำตามต่อๆกัน เพราะว่าทุกคนมัวแต่คิดว่าถ้าอีกสำนักหนึ่งได้ภาพนี้ไป แต่สำนักของเราไม่ได้ภาพ เราอาจจะต้องโดนว่า เราอาจจะต้องโดนเจ้านายตำหนิ คนคงจะไปดูช่องอื่นที่เห็นภาพได้ใกล้ชิดกว่าและไม่ดูช่องของเรา เราจึงเอาความ “สะดวก” ไว้ก่อน เพื่อให้ได้ภาพนี้ไว้ และนั่นก็จะเป็นคำถามย้อนกลับมาที่คนไทยว่า

“แล้วทำไมเราถึงดู”

ในเมื่อเรามีสิทธิ์ที่จะเสพย์สื่อที่ทำงานบนความถูกต้อง หากว่าเราไม่นึกสะดวกที่จะเสพย์ภาพที่ตอบสนองความสะใจของเราโดยตรง เราก็คงไม่เห็นด้วยและประนามการกระทำแบบนี้เช่นกัน และเมื่อของบางอย่างไม่มีคนต้องการ แน่นอนว่ามันก็จะค่อยๆหายไป และกลายเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นอีกในสังคม นั่นคือคำถามที่ไม่ได้ถามไปที่ “พวกเขา” แต่เป็นการย้อนถาม “ตัวเรา” ที่ต้องหาคำตอบให้กับตัวเราเอง

การแข่งขันของสื่อในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกของการนำเสนอเป็นอย่างมาก สื่อกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิด ต่ออำนาจ ต่อพลังของกลุ่มคน ทุกวันนี้คนธรรมดาก็สามารถทำหน้าที่สื่อได้ แล้วอะไรคือสิ่งที่จะมาแยกแยะล่ะว่า นี่คือสื่อมืออาชีพ และนี่คือสื่อมือสมัครเล่น จริงอยู่ว่าสื่อมืออาชีพมักจะยกอ้างถึงคำว่า “จรรยาบรรณ” เพราะถูกเรียนและถูกสอนมา แต่ในยุคปัจจุบันด้วยความที่สื่อมืออาชีพเองก็ต้องแข่งขันให้ได้ข่าวและเนื้อหาข่าวที่หวือหวากว่าสื่อมือสมัครเล่น บางครั้งจึงทำให้มองข้ามคำว่า “จรรยาบรรณ” ไป

จรรยาบรรณสื่อ :

มีรากศัพท์มาจากคำว่า “จริยธรรม” ที่แปลว่า “ธรรมอันบุคคลควรประพฤติ” และเมื่อนำมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรจึงกลายเป็นคำว่า “จรรยาบรรณ” หรือ “หลักจริยธรรมที่ผู้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนพึงประพฤติและถูกเขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร”

หากคุณเป็นแค่สื่อมือสมัครเล่น คุณก็พึงมีจริยธรรมของคนในสังคมปกติก่อนที่คิดจะทำอะไร และถ้าหากว่าคุณเป็นสื่อมืออาชีพคุณก็พึงมี “จรรยาบรรณ” ไว้ในใจก่อนที่จะเริ่มลงมือเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน เพราะวิธีเดียวที่จะรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับความถูกต้องได้ เราจะต้องยืนอยู่บนความถูกต้องเสียก่อน เช่นเดียวกับกลุ่มนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ Boston Globe ที่เรียกตัวเองว่า “Spotlight”

Spotlight เล่าถึงกลุ่มคนข่าวกลุ่มหนึ่ง ที่สืบค้นเรื่องราวเบื้องหลังของการลวนลามทางเพศเด็กผู้ชายของบาทหลวงคาธอลิก ก่อนจะมาตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ในวันที่ 6 มกราคม ปี 2002 การตีแผ่ความจริงของพวกเขา ไม่ใช่เป็นแค่เพียงหน้าที่การงานที่ต้องทำ แต่เป็นการยึดมั่นบนความถูกต้องในฐานะ “สื่อ” ที่เปรียบเสมือนผู้ที่ต้องแจ้งความจริงให้กับสังคมทราบ ว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร โดยหนังเล่าเรื่องของคนกลุ่มนี้ที่ทำงานตามความจริง โดยไม่ยกยอหรือเสริมเติมแต่งให้บุคคลเหล่านี้เป็นอะไรไปมากกว่า “คนที่ทำงานสื่อสารมวลชน” ธรรมดาๆ หากแต่ว่าสิ่งที่เค้าเหล่านี้ที่พวกเขา ทำ และ ทุ่มเท กลับบอกบอกถึงความไม่ธรรมดาที่จิตใจของพวกเค้านั้น มุ่งมั่น และ ตั้งมั่น บนจริยธรรมมากมาย การค่อยๆปะติดปะต่อข้อมูลแต่ละชิ้น การเอาตัวเองเข้าไปสัมผัสกับผู้ที่เจอกับการกระทำเหล่านั้นจริงๆ ทำให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องจริงที่พวกเขาค้นหา และต้องการที่จะรายงานเรื่องราวทั้งหมดให้สังคมได้ทราบ โดยตัวหนังถูกเยินยอว่านี่คือ “เต็งหนึ่ง” ของหนังรางวัลออสการ์ประจำปีนี้ แต่ถ้าเราคาดหวังความหวือหวาของการดำเนินเรื่อง เราคงไม่เห็นความสวยงามของรายละเอียดของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะ Spotlight ไม่ใช่หนังที่ปรุงแต่งขึ้นมาให้สนุก แต่เป็นหนังที่สะท้อนความเป็นคนที่ยึดมั่นที่จะทำหน้าที่ของตัวเองบนความถูกต้อง ผ่านความสมจริงของข้อมูลจริงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น และเมื่อเราดูจบเราก็จะได้คำถามสะท้อนกลับมาที่ตัวเราเช่นกันว่า

ทุกวันนี้ทุกสิ่งที่เราทำ เรายึดมั่นบนความถูกต้องแค่ไหน ?



ฝาก blog ด้วยนะครับ > https://nospoil.wordpress.com/2016/01/19/spotlight/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่