‘ประจิน’ติวเข้ม ๔ ผู้ว่าฯ นครชัยบุรินทร์

รองนายกรัฐมนตรี “พล.อ.อ.ประจิน” ประชุมติดตามการปฏิบัติราชการนครชัยบุรินทร์ ผู้ว่าฯ ๔ จังหวัดนำเสนอผลปฏิบัติงาน ผสานเสียงขอเพิ่มศักยภาพการบิน ชื่นชมบุรีรัมย์มีพัฒนาการที่เกิดจากประชารัฐ กระเซ้าระวังโคราชถูกแซงหน้า ส่วนสนามบินหนองเต็งยากฟื้นเส้นทาง “โคราช-กรุงเทพฯ” เสนอเชื่อมต่อภูมิภาค พร้อมเร่งมอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่สู่อีสาน



เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ประชุมกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค เขตตรวจราชการที่ ๑๔ นครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) เพื่อกำกับและติดตามการดำเนินการ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และผลการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง ๔ จังหวัดเข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายชูศักดิ์ ตรีสาร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยทั้ง ๔ จังหวัดมีการนำเสนอผลการดำเนินการในเรื่องที่กำกับและติดตามผ่านวิดีทัศน์และผู้ว่าฯ นำเสนอเพิ่มเติม เริ่มจากจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีสาระสำคัญดังนี้

          นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เสนอภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมา ผ่านวิดีทัศน์ เช่นเดียวกับผู้ว่าฯ อีก ๓ จังหวัด ทั้งนี้นายชูศักดิ์ ตรีสาร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวเสริมว่า ในเบื้องต้นพี่น้องประชาชนชาวชัยภูมิ มีความพึงพอใจในโครงการต่างๆ ซึ่งทางจังหวัดเน้นย้ำให้ประชาชนพยายามเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากโครงการอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดผลดีต่อรายได้ของประชาชน และภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่ สำหรับในมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งนั้น ทางจังหวัดได้จัดทำข้อมูลเพื่อบริหารจัดการน้ำเป็นข้อมูลระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีการวางแผนควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งในเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งนี้ทางจังหวัดได้ขยายผลในเรื่องส่งเสริมการปศุสัตว์เพิ่มเติม เช่น การผลิตโคเนื้อ โคนม กระบือ สุกร สัตว์ปีก เนื่องจากจะสามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร

"ผสานเสียงขอเพิ่มการบิน"

          นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า อยากให้ช่วยดูแลป่าดงใหญ่ซึ่งเป็นมรดกโลกมากขึ้น รวมทั้งช่องสายตะกูเป็นด่านผ่านแดนระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณอำเภอบ้านกรวด ซึ่งมีชาวกัมพูชาทะลักเข้ามาจำนวนมาก เขมรมีปราสาทขอมคือนครวัดนครธม แต่เรามีปราสาทสายฟ้า(ทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด) และมีสนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลก มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกเช่นกัน มีผู้คนเดินทางจากทั่วโลกเข้ามาที่บุรีรัมย์ทุกสัปดาห์ แต่สนามบินที่ตั้งอยู่ในอำเภอสตึกไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้โดยสาร  จะต้องรีบยกระดับสนามบินบุรีรัมย์ให้เป็นระดับอินเตอร์ หากสามารถดำเนินการได้จะส่งผลทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยมาก

          นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์มี ๑๗ อำเภอ มีประชากร ๑.๔ ล้านคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพื้นที่เกษตรกว่า ๓.๖ ล้านไร่ หรือร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่ทั้งหมด มีการสนับสนุนให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ที่สำคัญคือมีอาณาเขตติดต่อกับกัมพูชา มีด่านสำคัญคือด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม ซึ่งเป็นด่านการค้าและการท่องเที่ยวที่สำคัญ นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ยังได้ฝากประเด็นเรื่องสนามบินเช่นกัน โดยกล่าวว่า เรื่องสนามบินเป็นปัญหามาก เพราะชาวสุรินทร์ต้องไปใช้สนามบินอุบลราชธานี ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางถึง ๒ ชั่วโมงครึ่ง บางส่วนก็มาที่สนามบินบุรีรัมย์ (อำเภอสตึก) ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง ประกอบกับเที่ยวบินที่อำเภอสตึก ไม่เพียงพอ เพราะมีผู้โดยสารเต็มเป็นประจำ โดยเฉพาะเสาร์อาทิตย์จะเต็มทุกครั้ง คนสุรินทร์ไม่สามารถเดินทางได้  เที่ยวบินน้อย ประกอบกับสุรินทร์ก็มีสนามบินอยู่แล้ว เคยดำเนินการบินในเชิงพาณิชย์มาแล้ว แต่ภายหลังต้องยกเลิกไป และได้ทำเรื่องเสนอไปที่กรมการบินพลเรือนแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา หากสามารถกลับมาบินอีกก็จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดสุรินทร์ สามารถเชื่อมต่อการท่องเที่ยวกับกัมพูชาที่บริเวณด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม ที่จะเดินทางต่อไปยังเสียมเรียบ(กัมพูชา) ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก โดยความจำเป็นเหล่านี้ ทาง กรอ.จังหวัดสุรินทร์ได้ประชุมและเห็นควรที่จะเสนอเรื่องให้กรมการบินพลเรือนพิจารณาอนุมัติให้มีสายการบินมาเปิดบริการอีกครั้ง ประกอบกับเคยมีสายการบินขนาด ๖๐ กว่าที่นั่งมาบินอยู่แล้ว และมีสายการบินอื่นๆ ที่พร้อมจะมาเปิดบริการ จึงต้องขอการสนับสนุนจากรองนายกรัฐมนตรีให้ช่วยผลักดันด้วย

"ห่วงรายได้ต่อหัวประชากร"

          พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมภายหลังการรับฟังรายงานจากทั้ง ๔ จังหวัดว่า แต่ละจังหวัดมีจุดเด่นในหลายๆ เรื่อง สำหรับโคราช ผู้ว่าฯ วิเชียรบอกว่ามีประชากร ๒.๖ ล้านคน ถือว่ามีจำนวนมาก รายได้ประชากรประมาณ ๙๐,๐๐๐ บาทเศษ ถือว่าอยู่ในระดับกลาง ประชาชนมีอาชีพหลักคือ เกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งโคราชมีจุดที่จะดึงดูดได้เยอะ ส่วนปัญหาคือการเดินทางของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เป็นปัญหาที่มีมานาน เพราะโคราชเป็นประตูสู่อีสาน ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ทุกคนต่างมุ่งสู่โคราชเพื่อเดินทางต่อไปยังอีสานเหนือและอีสานใต้ แม้ว่าจะมีการตัดถนนหรือขยายถนนมากขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ส่วนชัยภูมินั้นก็มีประชากร ๑.๓ ล้านคน แต่รายได้ประชากรถือว่ายังน้อยมาก และยังมีปัญหาภัยแล้ง ถ้าเส้นทางคมนาคมดี และมีแม่เหล็กดึงดูดเพิ่ม ก็จะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรดีขึ้น  ส่วนเรื่องศูนย์ดำรงธรรมก็สามารถแก้ไขปัญหาได้มากเช่นกัน ส่วนที่ต้องดูแลกันต่อไปคือ เกษตร ท่องเที่ยว ปศุสัตว์ และการสร้างฝายต่างๆ เพิ่มขึ้น

"บุรีรัมย์น่าอิจฉา"

          รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจังหวัดบุรีรัมย์ว่า “เป็นจังหวัดที่ค่อนข้างดี มีพัฒนาการที่สูงมาก จังหวัดข้างเคียงคงอิจฉา โคราชคงต้องระวังเดี๋ยวบุรีรัมย์จะแซงหน้า ผลดีนี้เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ช่วยกัน ซึ่งบุรีรัมย์เป็นตัวอย่างที่ดีของโครงการที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงคือ โครงการประชารัฐ เพราะภาครัฐ และประชาชนช่วยกันคิด ลงทุน และสร้างสรรค์ขึ้น ผลประโยชน์จึงตกแก่ประชาชน คือประชาชนได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงขึ้น เพราะร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น คนก็มาเที่ยวมากขึ้น ส่วนเรื่องสนามบินจะช่วยผลักดันให้มีการพัฒนาต่อไป ส่วนเรื่องช่องสายตะกูก็จะช่วยดูเพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้วย รวมทั้งเรื่องมรดกโลกจะต้องพูดคุยกับกระทรวงวัฒนธรรม สำหรับสุรินทร์ถือว่ามีประชากรมากเช่นกัน ๑.๔ ล้านคน อาชีพหลักคือเกษตรกรรม แต่ต้องระวังและจับตาเป็นพิเศษเพราะช่วงนี้ได้ข่าวว่ามีข้าวหอมมะลิของเขมรที่จะเข้ามา และเริ่มมีบทบาทสูงขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ ปัญหาเรื่องอ่างเก็บน้ำที่มีน้อยก็ต้องช่วยกันดูแล รวมทั้งมีเขตแดนติดกับกัมพูชาบริเวณช่องจอมซึ่งมีความโดดเด่นและสำคัญ เป็นแหล่งการค้าที่ดี สามารถส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวได้

"ยิ่งขยายถนนรถยิ่งเยอะ"

          พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง กล่าวถึงโครงสร้างพื้นฐานที่มีความต้องการมากที่สุดในปัจจุบัน ๓ ประการคือ ถนน สนามบิน และทางรถไฟ ว่า ในส่วนของถนนมีเส้นทางสายหลักคือถนนมิตรภาพ โดยจะเร่งให้กระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์จากบางปะอินมาโคราช เป็นการลดภาระคอขวดช่วงตั้งแต่เขาใหญ่(ปากช่อง) และก่อนเข้าตัวอำเภอสีคิ้วได้มาก จะทำให้ใช้เวลาเดินทางน้อยลง เชื่อว่าระยะทาง ๑๙๖ กว่ากิโลเมตร คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน ๒ ชั่วโมง ซึ่งในสมัยที่ถนนเป็น ๒ เลน(ช่องจราจร) ตนขับรถจากกรุงเทพฯ มาโคราชแค่ ๒ ชั่วโมง แต่เคยขับได้เร็วที่สุดสมัยเป็นเสนาธิการกองบิน ๑ ใช้เวลาแค่ ๑.๔๕ ชั่วโมง แต่ปัจจุบันจะขับอย่างไรก็ไม่มีทางมาถึงโคราชภายใน ๒ ชั่วโมง เพราะปริมาณรถเยอะขึ้น ยิ่งขยายถนนเป็น ๔ เลน ๖ เลน หรือ ๘ เลน รถก็ยิ่งเยอะ เพราะฉะนั้นอย่างเก่งก็แค่ ๒ ชม.ครึ่ง จึงต้องช่วยกันประสานงานในเรื่องถนนให้ดี เพราะงบฉุกเฉินคงไม่สามารถตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ได้ งบฉุกเฉินจะไปใช้ในโครงการเฉพาะพื้นที่เท่านั้น แต่ก็ต้องไปบูรณาการว่า โครงสร้างพื้นฐานหลักกับงบฉุกเฉินจะไปเสริมกันอย่างไร ฝากผู้ว่าฯ และทางหลวงช่วยกันดูแลและบูรณาการด้วย เพื่อลดปัญหาคอขวด และสภาพผิวจราจรที่จะก่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

"เลิกฝันบินโคราช-กรุงเทพฯ"

          สำหรับในเรื่องสนามบินและสายการบินนั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อก่อนมีผู้ให้ความสนใจมากในเส้นทางบินโคราช-กรุงเทพฯ แต่เมื่อสนามบินหนองเต็งเกิดขึ้นก็รู้สึกว่า ต้องถอยหลังไป ด้วยระยะเวลาที่ต้องเดินทางไปสนามบินอีกประมาณ ๓๐-๔๐ นาที ถ้าสมมติขับรถไปกรุงเทพฯ ใช้เวลา ๒ ชม.ครึ่ง แต่เมื่อต้องเดินทางไปขึ้นที่สนามบินหนองเต็งก็เสียเวลาไปประมาณครึ่งชั่วโมง รอเวลาขึ้นเครื่องอีก ๑ ชม. ใช้เวลาบินอีก ๑ ชม. รวมเวลาก็ ๒ ชม.ครึ่งเหมือนกัน  ทำให้ธุรกิจการบินไม่ดี คงจะต้องหันไปสนับสนุนในเรื่องอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุง ติดปัญหาที่ว่าที่ดินบางส่วนเป็นของป่าไม้ แต่ก็ต้องมีการพูดคุยรายละเอียดกันต่อไป

          “ส่วนสนามบินบุรีรัมย์ค่อนข้างดี แม้ว่าเมื่อก่อนจะเงียบก็ตาม แต่เมื่อเกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนก็ประสบความสำเร็จ และมีความต้องการใช้สนามบินมากขึ้นถึงแม้จะไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มาก แต่ก็มีความสะดวก ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพง คงต้องดูว่าจะเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง เพราะทางสุรินทร์ก็ต้องมาใช้บริการด้วย จึงต้องฝากผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ไปคุยต่อว่า จะเพิ่มหรือขยายได้อย่างไรบ้าง ส่วนสุรินทร์ผมเคยไปหลายครั้ง สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อเตรียมการจะเป็นฐานการบิน ซึ่งมองว่าสุรินทร์ก็น่าจะมีศักยภาพด้านการบินพาณิชย์เช่นกัน แต่สุรินทร์-กรุงเทพฯ คงจะมีศักยภาพต่ำ จึงอยากจะฝากว่า หากเป็นการบินในส้นทางอื่น รวมทั้งโคราชที่อาจจะทำให้ฟื้นมาเด่นได้ หากทำไฟลท์จาก ๓ จังหวัดนี้ไปยังอู่ตะเภา เป็นการเชื่อมอีสานกับภาคตะวันออกคือที่ระยอง และเชื่อมไปยังภูเก็ตหรือหาดใหญ่(สงขลา) ได้อีกด้วย ขณะเดียวกันก็อาจจะเชื่อมไปที่เหนือและอีสานด้วยกัน เช่น อุดรธานี ขอนแก่น รวมทั้งภาคเหนือเช่น เชียงรายและเชียงใหม่ แต่อยากเสนอให้เชื่อมเส้นทางบินไปที่แม่สอด (ตาก) ด้วย เช่น ถ้าสามารถเชื่อมสุรินทร์ไปที่แม่สอดก็จะสามารถเชื่อมไทย-พม่า และไปกัมพูชา ทำให้เกิดการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ถ้าเชื่อมจากสุรินทร์ไปอุดรฯ ก็จะสามารถเชื่อมกับสปป.ลาวได้ จึงอยากให้เชื่อมโยงทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งต้องมีการพูดคุยกับทั้งกรมการบินพลเรือน กรมการท่าอากาศยาน และคุยกับสายการบินโดยตรง ทั้งสายการบินหลักและโลว์คอร์ส เพื่อที่จะดึงให้สายการบินต่างๆ มาเปิดบริการ และคงไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก แต่ถ้าจะบินไปแค่กรุงเทพฯ คงไม่สามารถพัฒนาได้” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว (มีต่อ)

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๓๘ วันจันทร์ที่ ๑๑ - วันศุกร์ที่ ๑๕ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่