The Big Short



ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากปัญหาจากการก่อการร้ายแล้ว ก็คงจะมีปัญหาโลกร้อนเนี่ยแหล่ะ ที่มนุษย์เราดูจะกังวลเป็นพิเศษ นั่นก็เพราะว่ามนุษย์เราไม่อาจหนีจากความจริงที่ว่า “เราคือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ” บนโลกใบนี้ไปได้เลย ไม่ว่าเราจะทำอะไร จะคิดค้นอะไรใหม่ๆขึ้นมาได้ สุดท้ายเราก็คงยังต้องพึ่งอากาศในการหายใจ ยังคงต้องการอุณภูมิที่พอเหมาะในการอยู่อาศัย เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และอื่นๆอีกมากมาย ความอยู่รอดทุกอย่างของมนุษย์ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติ ราวกับว่าเป็นโหลแก้วโหลใหญ่ที่ขังเราอยู่ เราไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้ ไม่อาจคาดเดาภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมใจ เรียนรู้และปรับตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์เราไม่ได้มีเพียงธรรมชาติเท่านั้นที่มีอำนาจเหนือชีวิตของเรา แต่เรากลับมีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากอำนาจและอารยธรรมของเราเองนั้นก็คือ

“เศรษฐกิจโลก”

ด้วยความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ณ วันที่เราเริ่มต้นแลกเปลี่ยนสิ่งของที่เรามีซึ่งกันและกัน เราก็ได้เริ่มสร้าง “เศรษฐกิจ” ขึ้น และ “เศรษฐกิจ” ที่ว่านี้ ก็เริ่มมีอำนาจและขยายขอบเขตใหญ่โต จนกลายเป็นสิ่งที่ชี้ขาดคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์เราจนถึงปัจจุบัน จนทำให้ทุกวันนี้เรามีแนวโน้มที่จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพราะเศรษฐกิจ มากกว่าเพราะสาเหตุจากธรรมชาติเสียอีก

เมื่อปีพ.ศ. 2550 ได้เกิด “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ขึ้น ซึ่งเป็นวิกฤติการทางเศรษฐกิจที่เริ่มต้นขึ้นที่สหรัฐอเมริกา โดยเกิดจากการปล่อยสินเชื่อในการกู้ซื้อบ้านมากเกินไปจนเกิดสภาวะฟองสบู่ และเมื่อธนาคารและสถาบันการเงินต่างไม่สามารถแบกรับภาระเหล่านี้ได้ไหว ก็เกิดสภาวะฟองสบู่แตกเกิดขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย ส่งผลกระทบไปยังยุโรป และลามเข้าสู่เอเชีย ทำให้เกิดผลเสียเป็นวงกว้าง คนจำนวนมากตกงาน ธนาคารกลายเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ ผู้คนต้องใช้ชวิตด้วยความยากลำบากเป็นเวลาหลายปีจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ถึงแม้ว่าปัญหานี้ได้เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว แต่ก็อดที่จะแปลกใจไม่ได้ว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤติการทางเศรษฐกิจ ปัญหาจะแผ่ขยายเป็นวงกว้างเสมอ ทั้งๆที่วิกฤตินี้เกิดจากสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง แล้วก็ ผิดพลาด ด้วยการกระทำของเราเอง แต่กลับกลายเป็นการตอกย้ำว่า เศรษฐกิจ นั้น สำคัญเหนือกว่าทุกสิ่งและสามารถชี้ชะตาความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งโลกได้ ไม่ต่างอะไรกับ ธรรมชาติ ที่ทำให้เรากลายเป็นเพียง “สิ่งมีชีวิตเล็กๆ” ที่ต้องยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเป็นไปของมัน

The Big Short เป็นหนังที่เล่าถึงเรื่องราว 2 ปีก่อนวิกฤติทางเศรษฐกิจปี 2550 โดยเล่าผ่านคน 3 กลุ่ม ที่เริ่มเอะใจกับตัวเลขทางการเงินที่ไม่ชอบมาพากล แล้วก็เริ่มที่จะหาคำตอบจากข้อมูลเหล่านั้น โดยในตัวหนังจงใจใช้ภาษาทางการเงินที่ยุ่งยากและซับซ้อนเต็มไปหมด แต่ก็ใช้เทคนิคการนำเสนอที่กวนประสาท บวกกับอารมณ์ขันเพื่อมาแบกรับภาระน่าปวดหัวเล่านั้น ทำให้ตัวหนังเรื่องนี้ มีโทนการเล่าเรื่องไปในทิศทางของการเป็นหนังตลก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่เพราะว่าตัวผู้กำกับเอง (Adam Mckay) นั้น กำกับแต่หนังตลกมาก่อน แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ โทนหนังตลกปนกวนประสาทที่แทบจะทำให้เกลียดในช่วงต้นของเนื้อเรื่อง กลับค่อยๆขยายความจริงจังเข้าสู่ความมืดหม่นและความน่ากลัวของปัญหาใหญ่ระดับโลกได้อย่างจริงจัง จากตลกกลายเป็นความน่ากลัว จากความโลภกลายเป็นการย้อนถามถึงหลักมนุษยธรรม ทำให้ The Big Short กลายเป็นหนังเกี่ยวกับการเงินที่แตกต่างจากเรื่องหนังการเงินเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ Margin Call เมื่อปี 2011 เพราะถ้าเปรียบลักษณะหนังของ Margin Call ที่เป็นหนังดราม่าที่มีโทนการเล่าเรื่องและการแสดงที่จริงจังตั้งแต่ต้น ก็คงเหมือนกับการเปรียบเทียบการออกแบบแฟชั่นของ Karl Lagerfeld ที่เรียบหรูกับงานของ Jeremy Scott ที่เลอะเทอะแต่สนุกสนาน ซึ่งโดยความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว หนังที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับงานเงิน มักเป็นหนังที่ดูและเข้าใจยากเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงทำให้ The Big Short กลายเป็นหนังที่เล่าเรื่อง “ยาก” ได้ สร้างสรรค์ และ สนุกกว่า อีกทั้งยังแฝงมิติที่ลึกกว่าอยู่ในนั้น แต่ก็อย่างที่รู้กัน การที่คนทั่วไปจะสนใจและเตรียมใจที่จะดูหนังที่พูดถึงสภาวะการเงินและสถานการณ์เศรษฐกิจมันไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว ยิ่งถ้าคนดูไม่ได้มีความสนใจในสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอยู่แล้วด้วย คงเป็นเรื่องยากที่จะมีส่วนร่วมกับหนังได้ แต่อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ทำมาจากหนังสือขายดี (ของ Michael Lewis) ซึ่งเขียนมาจากเรื่องจริง ดังนั้นการได้ดู The Big Short จึงทำให้เราเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจ และขอบเขตความเสียหายที่มันสามารถสร้างขึ้นมาได้ ยิ่งถ้าเรากังวลว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจมักเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี และปีนี้คือ 2 ปีก่อนที่วิกฤติครั้งต่อไปจะเกิดขึ้น มันจึงทำให้เราสามารถรับรู้ได้ว่า อีกไม่ช้า ... เราทุกคนคงได้กลายเป็นเพียง “สิ่งมีชีวิตเล็กๆ” ที่ต้องตกอยู่ภายใตเกลียวคลื่นของปัญหาเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกครั้งหนึ่ง


ฝาก blog ด้วยนะครับ : )

https://nospoil.wordpress.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่