[CR] Color of the North: เชียงราย...ร่องรอยแห่งแรงบันดาลใจจากแม่ฟ้าหลวง บนถนนคนเดินที่สูงที่สุดในโลก



เชียงราย
ร่องรอยแห่งแรงบันดาลใจจากแม่ฟ้าหลวง


ระหว่างทางขึ้นเขาอันคดเคี้ยวและสูงชันมุ่งหน้าขึ้นไปดอยตุง แสงอาทิตย์ยามสายส่องกระทบกับต้นไม้ดอกไม้ดูสวยงามจนฉันลืมอาการเวียนหัวไปชั่วขณะ เรากลับมาเยือนเชียงรายอีกครั้งในฤดูหนาว ที่นี่ต้อนรับเราด้วยอุณหภูมิประมาณ 19-20 องศาเซลเซียส

เล่ากันว่า…เมื่อก่อนแถบนี้เป็นเขาหัวโล้นและเป็นแหล่งปลูกฝิ่นที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เนื่องจากการขาดโอกาสในการเข้าถึงสถานพยาบาลของชาวเขา ทำให้พวกเขาใช้ฝิ่นเป็นยารักษาโรค แต่ที่เราเห็นต้นไม้สีเขียวชอุ่มอย่างทุกวันนี้ได้ เป็นเพราะการริเริ่มของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ท่านเคยเสด็จมาเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขาในถิ่นทุรกันดารและตรัสว่าจะปลูกป่าพร้อมกับปลูกคน จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงขึ้นเมื่อปี 2515 โดยมีโครงการพัฒนาดอยตุงเป็นหน่วยงานสำคัญเพื่อพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2531 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 93,515 ไร่

ช่วงนี้ดอยตุงคึกคักเป็นพิเศษด้วยกำลังมีเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 2 จะเรียกว่าที่นี่เป็นถนนคนเดินที่สูงที่สุดในประเทศไทยก็ได้ เพราะมีงานออกร้านของชาวเขาและคนในพื้นที่ เรียกว่า “กาด” นำเสนอผลิตภัณฑ์งานมือและอาหารพื้นเมืองกว่า 50 ร้าน เช่นชุดชาวเขา เครื่องเงิน กระเป๋าผ้า น้ำผึ้งป่า เชอรี่ดอย ข้าวฟืน ข้าวกันจิ้น ข้าวคลุกเลือด ฯลฯ มันอาจไม่แปลกตาสำหรับคนที่นี่ แต่น่าตื่นตาเป็นอย่างมากสำหรับคนกรุง เช่นเดียวกับการแสดงและการละเล่นที่สะท้อนวิถีชีวิตและประเพณีของชนเผ่า ได้แก่ อาข่า ลาหู่ ไทใหญ่ ไทลื้อ ลัวะ และจีน



ส่วนดอกไม้ที่เราเห็นกำลังเบ่งบานอยู่ในสวนแม่ฟ้าหลวง แต่ละปีเขาจะมีการปรับเปลี่ยนธีม และดอกไม้ในสวนก็มีการเปลี่ยนทุกเดือน แต่ในงานนี้พิเศษตรงที่มีงานศิลปะจากกลุ่มศิลปินในเชียงราย สร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้จากโรงงานของโครงการดอยตุงฯ แทรกตัวอยู่ด้วยอย่างกลมกลืน นอกจากนี้ยังจำลองบ้านของชาวเขาเผ่าอาข่าและลาหู่ ที่ภายในบ้านจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ ทั้งยุ้งข้าว ยุ้งฉาง เครื่องครัว และเมื่อเดินต่อไปอีกนิดจะเห็นดอกไม้สีๆ ที่อยู่ตรงโซนประติมากรรมต่อเนื่องซึ่งเขาเลือกสีจากลายผ้าของเผ่าต่างๆ ทั้ง 6 เผ่า




หลังจากเดินเล่นและเติมความสดชื่นด้วยกาแฟที่ Café Doitung แล้ว ฉันแวะทำเวิร์กช็อปการเย็บสมุดกระดาษสา และปั้นเซรามิก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ความยากไม่ได้อยู่ที่รูปทรงของเซรามิกว่าจะเอาแบบเรียบง่ายหรือซับซ้อน แต่อยู่ที่น้ำหนักมือและสมาธิที่เราต้องควบคุมให้ได้ มันยากกว่าที่คิดแต่ก็สนุกมากๆ เลยล่ะ




นอกจากอาหารและหัตถกรรม โครงการพัฒนาดอยตุงฯยังมีธุรกิจด้านการเกษตรอย่างการจำหน่ายต้นไม้และรับออกแบบจัดสวน รวมไปถึงธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เริ่มจากสถานที่ใกล้ๆ อย่าง ‘หอแห่งแรงบันดาลใจ’ ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวของราชสกุลมหิดลและพระราชจริยวัตร ปรัชญา และหลักการทรงงานที่เรียบง่าย นั่งรถต่อไปอีกหน่อยคือ ‘วัดพระธาตุดอยตุง’ ประดิษฐานอยู่บนยอดดอย เป็นสถาปัตยกรรมแบบเชียงแสนย่อมุมไม้สิบสอง ภายในบริเวณวัดเต็มไปด้วย ‘ตุง’ (ธง) อันเป็นสัญลักษณ์ของชาวล้านนา หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองและชัยชนะ และนั่นก็เชื่อมโยงกับความหมายของชื่อดอยตุงด้วย




ฉันได้มีโอกาสเคารพสักการะเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุก่อนจะไปชมพระอาทิตย์ตกที่ ‘สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง ดอยช้างมูบ’ สวนรวมพันธุ์ไม้หายาก โดยเฉพาะกุหลาบพันปีสีแดงซึ่งเป็นสีโปรดของสมเด็จย่า นอกจากนี้ก็ยังมีพันธุ์ไม้เมืองหนาวอีกกว่า 50 สายพันธุ์ และถ้าเรามาถูกเวลา เราก็จะได้เห็นนกอพยพอย่างกางเขนท้องแดง นกตระกูลเดินดง อีเสือหลังเทา และนกจับแมลงบางชนิด บินมาอวดโฉมอยู่แถวๆ นี้ แต่เสียดายที่ปีนี้หนาวช้า ก็เลยได้เห็นนกพวกนี้แค่ในภาพ





แต่สิ่งที่รู้สึกว่าเกินคุ้มก็คือการได้เข้าเยี่ยมชม ‘พระตำหนักดอยตุง’ หรือ ‘พระตำหนักสมเด็จย่า’ ซึ่งสร้างอยู่บนเนินเขา มองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล ลักษณะสถาปัตยกรรมกลิ่นอายล้านนาเป็นบ้านปีกไม้ มีกาแล ผสมผสานกับลักษณะบ้านพื้นเมืองแบบสวิตเซอร์แลนด์ที่เรียกว่าชาเลต์ (chalet) ฉันไม่ได้ชื่นชมเพียงความสวยงามอบอุ่นของการจัด ‘บ้าน’ และดอกไม้นานาพันธุ์รอบพระตำหนักเท่านั้น แต่ยังได้รู้จักสมเด็จย่ามากขึ้นจากสิ่งของที่จัดแสดงอยู่ภายใน ฉันเพิ่งรู้ว่าพระแท่นบรรทมของท่านเล็กและเรียบง่ายมาก ฉันได้เห็นความใฝ่รู้ของท่านจากชั้นหนังสือในห้องบรรทมและห้องทรงงาน และเพดานดาวซึ่งบ่งบอกความสนใจของท่านในด้านดาราศาสตร์ ได้เห็นของทำมืออย่างงานถักครอสติช โครเชต์ และข้อความในการ์ดที่สมเด็จย่าทรงเขียนเพื่อมอบเป็นกำลังใจแก่ตำรวจและทหาร ฯลฯ แนวคิดในการดำเนินชีวิตของท่านเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำงานตัวเล็กๆ อย่างฉันได้มาก



พื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ท่านไม่ได้อยู่แค่บนดอยตุง ในวันที่เราลงจากดอยมาเที่ยวในเมืองเชียงราย เรายังได้ไปเยือนไร่แม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นสถานที่กำเนิดโครงการผู้นำเยาวชนชาวเขา ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ‘อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง’ สถานที่เก็บรักษาและให้ความรู้เกี่ยวกับมรดกล้านนา ภายในกว้างขวางและร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ เมื่อมาถึงปุ๊บ ก็มีขนมและน้ำชามาเสิร์ฟ เป็นชาดอกไม้ที่ทุกคนถึงกับเอ่ยปากพร้อมกันว่าหอมมมมมมมากกกกก




จุดเด่นของสถานที่คือหอคำ โครงสร้างเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาเป็นแป้นเกล็ด (ลักษณะเป็นแผ่นไม้นำมาเรียงต่อกัน) ซึ่งทำจากไม้สักประมาณ 300,000 แผ่น สร้างโดยการเข้าลิ่มไม้แทนการใช้ตะปู ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณและงานพุทธศิลป์ โดยเฉพาะเชิงเทียนเก่าหลากรูปแบบซึ่งมีความสวยงามอย่างยิ่ง แต่ไฮไลท์อยู่ที่ ‘พระพร้าโต้’ องค์พระพุทธรูปแกะสลักจากไม้แก่นจันทร์ด้วยมีดอีโต้เพียงเล่มเดียวอายุกว่า 322 ปี เชื่อกันว่ามีพระพุทธคุณด้านสุขภาพร่างกาย สร้างถวายสมเด็จย่าโดยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีดอนคำ ส่วนไม้ค้ำสีเงินและสีทองตรงโคนเสา คือไม้ที่ใช้ประกอบพิธีสืบชะตาหลวง (พิธีต่ออายุ) ซึ่งเคยใช้สืบพระชนมายุให้สมเด็จย่า




หลังจากเต็มอิ่มกับศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว วันสุดท้ายที่เชียงราย ฉันไม่พลาดที่จะไปแวะชิมชาอู่หลงที่ไร่ชา 101 ไร่ชาที่คว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดสุดยอดชาโลก ตั้งอยู่ระหว่างทางไปดอยแม่สลอง ก่อนจะมาผ่อนคลายด้วยการแช่เท้าในบ่อน้ำพุร้อนป่าตึง (โป่งน้ำร้อนห้วยหินฝน) ที่อำเภอแม่จัน และไปหาขนมหวานอร่อยๆ ทานรองท้องก่อนไปสนามบิน ที่ร้าน Melt in your Mouth ริมแม่น้ำกก ระหว่างนั้น…พระอาทิตย์ใกล้จะลาลับขอบฟ้า ทว่าภาพของพระอาทิตย์ตกที่สวนรุกขชาติ ดอยช้างมูบ เมื่อวันวานกลับปรากฏขึ้นในใจอีกครั้งอย่างชัดแจ้ง


Travel Tip
-เทศกาลสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 2 จัดที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2558 – 31 ม.ค. 2559 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://maefahluang.org และ www.doitung.org

Story: @LaVieEnRoad
Photos: @Jarareab
ตีพิมพ์คอลัมน์ The Escape นิตยสาร Harper's Bazaar Thailand เดือนมกราคม 2559

แวะไปอ่านเรื่องราวของการเดินทางสนุกๆ ต่อได้ที่ http://lavieenroad.com และ Facebook: La Vie en Road
ชื่อสินค้า:   เชียงราย
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่