[CR] เยือนเมืองเก่า--ชุมชนคลาสสิกบ้านสิงห์ท่า By Nuim Navigator



77 จังหวัดในเมืองไทย…ไปเที่ยวครบกันหรือยังครับ?

ผมเชื่อว่าหลายๆ คนยังไปไม่ครบทุกจังหวัด คนที่ชอบทะเล ชอบภูเขา ชอบน้ำตก หรืออะไรก็ตาม่ มักจะไปแต่ที่ที่คุ้นเคย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไร แต่เมืองไทยยังมีสิ่งน่าสนใจอีกมากมายนะครับ ผมจึงอยากแนะนำและไม่อยากให้พลาดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ที่หลายๆ คนอาจมองข้ามและยังไม่เคยไป นั่นคือ “ยโสธร”



รู้กันดีว่าจังหวัดที่อยู่ภาคอีสานตอนกลางนี้ มีประเพณีบุญบั้งไฟขอฝนเดือน 6 ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ยังไม่หมดเท่านี้ ที่ตัวเมืองยโสธรยังมีความ Unseen ซ่อนอยู่ ภายใต้เสน่ห์วิถีชีวิตที่ชื่อว่า “บ้านสิงห์ท่า”



ชุมชนนี้เก่าแก่พอสมควรเลยนะครับ ถ้านับปีนี้ พ.ศ. 2559 เข้าไปด้วย บ้านสิงห์ท่าจะมีอายุถึง 195 ปี นับย้อนไปก็จะตรงกับยุคที่ฝรั่งเศสล่าอาณานิคมเข้ามาปกครองประเทศลาวและดินแดนแม่น้ำโขงทางฝั่งซ้าย ซึ่งติดกับภาคอีสานของไทย วัฒนธรรมของชาวตะวันตกจึงค่อยๆ เข้ามาผ่านทางแม่น้ำโขงและแม่น้ำชีของชุมชนบ้านสิงห์ท่า โดยพ่อค้าชาวจีนครับ



เมื่อจีนและฝรั่งมาอยู่ด้วยกัน จึงเป็นที่ของศิลปะที่เรียกกันว่า “ชิโน-โปรตุกิส (Sino-Portuguese)” ชิโนมาจากไชน่า (China) โปรตุกิสก็มาจากโปรตุเกส (Portugal) โต้โผใหญ่ของยุโรปที่มักจะออกล่าเมืองขึ้นอยู่เสมอๆ และด้วยหลักภูมิศาสตร์ของชุมชนบ้านสิงห์ท่าที่อยู่ติดริมโค้งแม่น้ำชีพอดิบพอดี จึงเหมาะแก่การจอดเรือขนส่งสินค้าเป็นอย่างมาก บ้านเรือนและตึกแถวบริเวณนี้จึงเต็มไปด้วยชิโน-โปรตุกิสสไตล์ครับ







เวลาผ่านไปเกือบ 2 ศตวรรษ ชุมชนบ้านสิงห์ท่ากลับมีเสน่ห์มากขึ้น เหมือนเราได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนไปครับ ที่เห็นเด่นชัดมากๆ คือตึกแถวสีน้ำตาลเข้ม 5 ห้องติดกันหน้าวัดสิงห์ท่า ในอดีตคือโรงฝิ่นของคนจีน เรียกกันว่า “Smoke สถาน” ต่อมาเพี้ยนเป็นคำว่า “สมักขสถาน” ปัจจุบันเป็นร้านนั่งชิลล์สำหรับคนสิงห์ท่าและนักท่องเที่ยว ทุกตรอกซอกซอยยังสามารถเดินเชื่อมถึงกันได้หมดนะครับ บ้านที่ทำจากไม้หลายหลังจะมีหน้าต่างบานลูกฟักแบบช่องลมฉลุด้วยไม้อย่างสวยงาม บางหลังเป็นตึกแถวไม้ผสมปูนแบบโบราณ นั่นคือเป็นผนังที่สร้างด้วยอิฐเผาฉาบปูนดินเฟื้องผสมยาง ดินเฟื้องนั้นถือเป็นภูมิปัญญาของบ้านสิงห์ท่า ทำจากดิน ฟาง ขี้วัวและควาย นำมาผสมให้เข้ากัน ก็จะได้ดินที่เหนียวและมีความยืดหยุ่นสูง ทนต่อทุกสภาพอากาศ ไม่แตกร้าวและมีน้ำหนักเบามาก ปัจจุบันได้กลายมาเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการทำบ้านดินอย่างที่เห็นกันครับ











นอกจากความคลาสสิกของชุมชนบ้านสิงห์ท่าในแง่ของวันเวลาแล้ว ยังมีเรื่องของการผสมผสานชีวิตความเป็นอยู่ได้อย่างลงตัวสุดๆ ไม่ว่าจะเป็น “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” สถาปัตยกรรมความงามแบบจีนร้อยเปอร์เซ็นต์กลางใจเมือง รายล้อมด้วยวัดไทยสำคัญๆ ถึง 3 วัด ได้แก่ “วัดมหาธาตุ” วัดคู่บ้านคู่เมืองที่มีพระธาตุอานนท์และบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ “วัดศรีธรรมาราม” พระอารามหลวงสำคัญริมน้ำชี และยังมี “เจดีย์ทรงไทอีสาน” ที่หาดูได้ยากมาก รวมถึง “วัดสิงห์ท่า” ที่สร้างขึ้นมาพร้อมๆ ชุมชนแห่งนี้นี่เอง



ด้วยพื้นที่ที่ไม่ใหญ่เกินไปของชุมชนบ้านสิงห์ท่า ทำให้เราเดินเที่ยวชมและซึมซับบรรยากาศอดีตในวิถีชีวิตเรียบง่ายได้อย่างสบายๆ ไม่เร่งรีบ เราจะเห็นสีต้นไม้เขียวๆ ริมน้ำชีเบ่งบานเต็มที่ ตัดกับสีของบ้านเรือน ทั้งสีน้ำตาล สีส้ม สีเบจ สีส้ม สีขาว ช่วยเพิ่มอารมณ์และความสวยงามเข้าไปได้อีกมากเลยครับ



มาเปิดศักราชการท่องเที่ยวปีลิงนี้ ด้วยชุมชนคลาสสิกบ้านสิงห์ท่า

…รับรองว่าไม่เหมือนใครและชุ่มฉ่ำหัวใจแน่นอนครับ





• ยโสธรมาจากคำว่า “ยศสุนทร หมายถึง ทรงไว้ซึ่งยศ” เป็นชื่อที่ตั้งโดยรัชกาลที่ 2 และมี “พระสุนทรราชวงศา” เป็นเจ้าครองเมืองคนแรก
• อยากไปเที่ยว “ถนนคนเดินบ้านสิงห์ท่า” ...ต้องมาวันพุธเท่านั้นนะครับ
• กลางเมืองยโสธรมีร้านกาแฟน่ารักๆ ที่ชื่อว่า “Lovely Cake” และร้านอาหารสุดชิลล์ “ริมชี ริเวอร์ไซด์”...แล้วจะรู้ว่าเมืองนี้ HIP & CHIC ไม่ใช่เล่น
• ของฝากที่นี่คือ “ลอดช่องและปลาส้ม” ...หาซื้อได้ทั่วเมืองครับ



ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงสระบุรีจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านนครราชสีมา มุ่งหน้าอำเภอพิมาย และอำเภอบ้านไผ่ ขอนแก่น จากนั้นเลี้ยวขวาที่ทางหลวงหมายเลข 23 มุ่งหน้ามหาสารคาม ร้อยเอ็ด และสิ้นสุดที่ยโสธร รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 600 กม.

• เดอะกรีนปาร์คแกรนด์ 045-714-700 ถึง 04
• เจ พี เอมเมอรัลด์ 045-724-848 ถึง 55
• Lovely Cake 045-714-822
• ริมชี ริเวอร์ไซด์ 045-714-597
• สำนักวัฒนธรรมจังหวัดยโสธร 045-715-137
• ททท. สำนักงานอุบลราชธานี (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร) 045-243-770 / 045-250-714

ชื่อสินค้า:   บ้านสิงห์ท่า อ.เมือง จ.ยโสธร
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่