วสท. ลงพื้นที่วิเคราะห์สาเหตุสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถล่ม จ.อยุธยา

วสท. ลงพื้นที่วิเคราะห์สาเหตุสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถล่ม จ.อยุธยา
          วันนี้ (6 ม.ค. 59) เวลา 10.00 น. รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. พร้อมด้วย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุที่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ เกิดการถล่มขึ้นวานนี้ (5 ม.ค. 59)  ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 13 ราย ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นของกรมทางหลวงชนบท ที่รับผิดชอบในการก่อสร้างและใช้งบประมาณ โดยได้มอบหมายงานให้กับ บริษัท ประยูรวิศร์ จำกัด เป็นบริษัทผู้รับเหมาโครงการดังกล่าว
          สะพานดังกล่าวนี้เป็นสะพานคอนกรีตสร้างใหม่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากถนนสายอยุธยา-บางปะอิน (สายใน) ช่วง ต.เกาะเรียน ข้ามไปฝั่งตะวันตก ถนนสายวัดไก่เตี้ย-สำเภาล่ม ช่วง ต.สำเภาล่ม ใกล้หมู่บ้านโปรตุเกส ความยาว 380 เมตร 4 ช่องการจราจร เพื่อเป็นถนนเลี่ยงเมือง จากถนนสายเอเชีย ตัดข้ามไปถนนสาย(347) บางปะหัน-ปทุมธานี ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จไปแล้วประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์
          ด้าน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. กล่าวว่า “การลงพื้นที่เกิดเหตุในครั้งนี้ วสท.ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นของ วสท. เอง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิศวกร เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุปัญหา และจะมีวิธีการปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะมีการดำเนินการสร้างต่อให้แล้วเสร็จ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า สะพานที่กำลังก่อสร้างเป็นการก่อสร้างสะพาน 2 ทิศจราจร รวม 2 ตัว สร้างเสร็จไปแล้ว 1 ตัว เหลืออีก 1 ตัว ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดปัญหาขึ้น จากการดูโครงสร้างของตัวสะพานแถวที่สร้างเสร็จแล้ว ทำให้เห็นได้ว่ามีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งคานสะพานด้วยโครงเหล็กเลื่อน (Launcher) ที่เป็นตัวยกชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตสำเร็จรูป (Segment) ขึ้นมาเรียงต่อกันทีละชิ้นส่วนแล้วทำการเลื่อนมาประกบให้เต็มก่อนจะร้อยลวดอัดแรง ในการยกชิ้นส่วนสะพานใช้ตัวโครงเหล็กเลื่อน (Launcher) มีที่รองรับ วางบนฐานที่อยู่บนตอม่อร่วมกับหูช้าง (Bracket) เพื่อช่วยรับน้ำหนักบรรทุก สันนิษฐานว่าขณะที่โครงเหล็กเลื่อน (Launcher)  กำลังยกชิ้นส่วนสะพานอยู่นั้นโครงสร้างชั่วคราวอาจทรุดเอียงไปด้านหนึ่ง จึงทำให้โครงเหล็กเลื่อน (Launcher) เสียเสถียรภาพและพลิกร่วงลงมา ทำให้ชิ้นส่วนสะพานหรือเซ็กเมนท์ที่ห้อยติดไว้ใต้โครงเหล็กเลื่อน (Launcher) ร่วงหล่นลงมาด้วย ขณะเดียวกันปลายของฐานตอม่ออีกต้นหนึ่งที่สร้างเสร็จแล้วก็ถูกดึงจนหักไปด้วย คาดว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดในขณะก่อสร้าง”
          ส่วนทาง ศ.ดร. อมร พิมานมาศ กรรมการอำนวยการ วสท. และเลขาธิการสภาวิศวกร  กล่าวว่า “ลักษณะของการก่อสร้างสะพานแบบนี้ในประเทศไทยเรามีประสบการณ์มามากมาย สาเหตุอาจมาจากเรื่องของคน และขั้นตอนการทำงานว่าถูกต้องตามหลักมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งต้องใช้วิธีการสัมภาษณ์ และเก็บข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งเรื่องของวัสดุที่ใช้ รวมถึงวิศวกรผู้ควบคุมงานว่าเป็นไปตามหลักมาตรฐานวิศวกรรมหรือไม่ ทั้งนี้ต้องขอเวลาเพื่อวิเคราะห์อย่างรอบคอบ ในเบื้องต้น วสท. แนะนำ ให้ผู้รับเหมารื้อถอนชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตสำเร็จรูป (Segment) และโครงเหล็กเลื่อน (Launcher) ที่มีปัญหาออกให้หมด และไม่นำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับเสาตอม่อที่มีปัญหาแตกร้าวแนะนำให้ทุบทิ้งแล้วหล่อขึ้นมาใหม่ สำหรับการหลุดของตัวหูช้าง (Bracket) ที่ใช้รองรับน้ำหนักบรรทุกของชิ้นส่วนสะพาน และโครงเหล็กเลื่อน ต้องดูอีกทีว่ามีกำลังรับน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ ซึ่งต้องอยู่ที่วิธีการยึดหูช้าง (Bracket) เข้ากับตัวเสา จากเหล็ก 4 เส้น จึงต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้งว่า เหล็ก 4 เส้น สามารถรับน้ำหนักบรรทุกของชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตสำเร็จรูป และโครงเหล็กเลื่อน ที่กำลังติดตั้งแต่ละตัว รวม 12 ตัว ได้หรือไม่”
          และอีกด้านในการแนะนำของ วสท. เบื้องต้น รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวแนะนำว่า “จากการตรวจสอบการพังทลายของชิ้นส่วนคานรูปกล่องที่เกิดขึ้น มีความจำเป็นที่โครงการนี้จำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้างต่อไป วสท. ได้แนะนำให้ผู้รับจ้างดำเนินการจัดส่งผังความเสียหายตามรูปตามยาว (profile) ของแนวสะพาน ระบุตำแหน่งของตอม่อ (pier) ตัวสุดท้าย ที่ตัวริมของคานชิ้นส่วนอัดแรงที่เกิดความเสียหายเฉพาะส่วนบนของตอม่อ โดยทำการสำรวจตำแหน่งของตอม่อจากแนวสะพาน (aligment surveying) ที่ก่อสร้างแล้วบางส่วน หากพบว่ายังได้แนวที่ถูกต้องอาจอนุญาตให้รื้อถอนคอนกรีตเฉพาะส่วนที่เสียหายเท่านั้น เนื่องจากเป็นการหล่อเป็นเนื้อเดียวกับฐานของสะพานซึ่งแข็งแรงมากอยู่แล้ว สำหรับตอม่ออื่นแนะนำให้รื้อถอนออกให้หมด พร้อมกับควรต้องส่งแผนการข้นย้ายชิ้นส่วนคานสะพานรูปกล่องนี้ออกจากพื้นที่ มาตรการในการตรวจนับ และบันทึกร่วมกันในการจำแนกชื้นส่วนที่เสียหายนี้ออกจากชิ้นส่วนที่นำไปไว้ในโครงการ นอกจากนี้การตรวจสอบยังพบอีกว่ามีคานเหล็กรูปพรรณขนาดใหญ่พิงกับสะพานข้างเคียงที่ดำเนินการเสร็จแล้ว วสท. ได้แนะนำให้ผู้รับจ้างจัดทำการทดสอบ และเสนอรายงานเพื่อหาว่ามีการสูญเสียแรงดึงในกลุ่มลวดเหล็กอัดแรง (tendon) เนื่องอาจมีการเลื่อนหลุดของเทนดอนจากการถูกกระแทกด้วยองค์เหล็กรูปพรรณขนาดใหญ่หรือไม่ หากมีการสูญเสียแรงดึงอย่างมีนัยยะสำคัญ ควรพิจารณาทำการอัดแรงใหม่
          ทั้งนี้ ทาง วสท. ได้ทำการแจ้งกับทางผู้รับเหมา และกรมทางหลวงชนบท ถึงสาเหตุที่คาดการณ์ไปแล้ว แต่ส่วนต่อไปที่ต้องทำคือ ต้องมีการเก็บชิ้นส่วนบางอย่าง ไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
















แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่