เรื่องควรรู้...เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

“โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” เป็นโรคที่เกิดจากการร่วมเพศกับผู้ที่มีโรคนี้อยู่ ไม่ได้เกิดขึ้นเองหรือเกิดขึ้นจากใช้สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันร่วมกันหรือใช้ห้องสุขา สระว่ายน้ำร่วมกัน
          โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือเดิมเรียกว่า “กามโรค” เป็นโรคที่เกิดจากการร่วมเพศกับผู้ที่มีโรคนี้อยู่ ไม่ได้เกิดขึ้นเองหรือเกิดขึ้นจากใช้สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันร่วมกันหรือใช้ห้องสุขา สระว่ายน้ำร่วมกัน (ยกเว้นอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมทางเพศ เช่น อวัยวะเพศชายเทียมที่ใช้ในการร่วมเพศครั้งเดียวกัน)
          ความเสี่ยงของการติดต่อกามโรคจะมากน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคต่ำได้แก่ การกอดจูบลูบคลำภายนอก การสำเร็จความใคร่ให้กันและกัน ส่วนกิจกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ การร่วมเพศทางปาก ทางช่องคลอดและทางทวารหนัก โดยที่การร่วมเพศทางทวารหนักมีอัตราการเสี่ยงต่อการติดโรคมากที่สุดเพราะมักมีการถลอกของอวัยวะเพศชายและผิวทวารหนักเป็นช่องทางให้เชื้อกามโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
          การใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันกามโรคได้ดี โดยต้องมีการใช้อย่างสม่ำเสมอทุกครั้งที่ร่วมเพศ และต้องสวมใส่ด้วยเทคนิคที่ถูกต้อง มีการหล่อลื่นที่ดีเพื่อป้องกันถุงยางฉีกขาด ถุงยางอนามัยป้องกันกามโรคบางชนิดได้ไม่ดีนัก เช่น หูดหงอนไก่ โรคเริม เพราะอาจติดต่อบริเวณที่สัมผัสได้ โดยเฉพาะส่วนที่ถุงยางคลุมไม่ถึง ถุงยางอนามัยสตรีป้องกันกามโรคได้ดีกว่าถุงยางชาย เพราะมีบริเวณครอบคลุมมากกว่าและฉีกขาดยากกว่า การใส่ถุงยางชายหลายชั้นอาจทำให้การแตกรั่วฉีกขาดยากขึ้น แต่ทำให้ความรู้สึกในการร่วมเพศลดลง
          โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดอาการได้หลายระดับ ตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งแบ่งได้ ดังนี้
          1) ไม่มีอาการ ได้แก่ โรคเอดส์ระยะแรก โรคตับอักเสบจากไวรัสบีและโรคซิฟิลิส ซึ่งทั้งหมดสามารถตรวจได้จากการเจาะเลือด ถ้าพบว่าเลือดบวกหมายถึงมีการติดเชื้อ ถ้าได้ผลบวกไม่ได้หมายความว่าไม่ติดเชื้อแต่อาจจะยังอยู่ในระยะแฝงหรือระยะฟักตัว โรคเอดส์อาจใช้เวลาถึง 3 เดือน จึงจะทำให้เลือดเป็นผลบวกได้ ในกรณีที่สงสัยจึงต้องทำการเจาะเลือดตรวจซ้ำหลายครั้ง
          โรคเอดส์และโรคตับอักเสบจากไวรัสบีในระยะสุดท้ายจะทำให้มีอาการต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายมาก และผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในที่สุด ทั้งสองโรคเกิดจากเชื้อไวรัส ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ ในกรณีที่เลือดบวก หากผู้ป่วยสามารถดูแลร่างกายให้แข็งแรงและไม่รับเชื้อเพิ่มก็อาจมีสุขภาพเป็นปกติ
เหมือนคนทั่วไปได้เป็นเวลานาน ซึ่งในปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่ใช้ร่วมกันหลายขนานสามารถควบคุมการติดเชื้อไม่ให้กำเริบไปจนมีอาการได้ แต่ยังไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้หายขาด
          ซิฟิลิสเป็นกามโรคที่สำคัญในอดีตก่อนที่จะมีโรคเอดส์ แต่ในปัจจุบันยาปฏิชีวนะ สามารถรักษาให้หายขาดได้ หรืออย่างน้อยควบคุมยับยั้งการกำเริบของโรคนี้ได้ และไม่แสดงอาการรุนแรงเหมือนในอดีต มักตรวจพบในสตรีที่มาเจาะเลือดขณะฝากครรภ์หรือผู้ป่วยที่เจาะเลือดตรวจก่อนรับการผ่าตัด
          2) กลุ่มหนองแท้และหนองในเทียม กลุ่มนี้มีอาการเด่นคือ มีหนองไหลออกจากอวัยวะเพศหรือช่องทางที่ร่วมเพศ ในเพศหญิงพบว่ามีหนองไหลออกจากช่องคลอดหรือช่องปัสสาวะและมีอาการแสบเวลาปัสสาวะ ในเพศชายจะมีอาการหนองไหลจากท่อปัสสาวะและมีปัสสาวะแสบขัดลำกล้องมากกว่าในเพศหญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะยาวกว่า ในรายที่ร่วมเพศทางปากอาจพบมีการอักเสบและมีหนองในช่องปากและต่อมทอนซิล ในรายที่มีการร่วมเพศทางทวารหนักอาจพบมีหนองปนกับอุจจาระ โดยทั่วไปมักเกิดอาการเหล่านี้ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังการร่วมเพศที่ติดเชื้อ ทั้งสองโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ
          3) กลุ่มที่มีติ่งเนื้อหรือตุ่มนูนที่อวัยวะเพศ โรคที่สำคัญคือ หูดหงอนไก่และหูดข้าวสุก โดยหูดหงอนไก่เป็นกามโรคที่พบบ่อยในปัจจุบันและมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกเพราะเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันได้ แต่วัคซีนยังมีราคาแพงและควรฉีดก่อนมีการร่วมเพศครั้งแรกเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด ทั้งสองโรคจะมีอาการคล้ายกันคือมีตุ่มนูนบริเวณอวัยวะเพศ มักมีหลายตุ่ม ขนาดเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 เซนติเมตร ไม่เจ็บ ยกเว้นจะมีการอักเสบจากการเกา หูดหงอนไก่มีผิวขรุขระเป็นหนาม คล้ายกับหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ
          หูดข้าวสุกมีผิวเรียบแต่ละตุ่มมีรูตรงกลาง ซึ่งเมื่อสุกดีจะบีบของเหลวข้น ๆ ออกจากรูได้คล้ายข้าวสุก ในบางรายติ่งเนื้อหรือตุ่มขนาดเล็กหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ถ้าติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมาก หรือกระจายเป็นวงกว้าง การใช้ยา
รักษาหูดจี้สัปดาห์ละหนึ่งหรือสองครั้งจะได้ผลดี ถ้าใช้ยาเกินหนึ่งเดือนแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจใช้วิธีทางศัลยกรรม เช่น การตัดออก การจี้ด้วยไฟฟ้า การจี้ด้วยความเย็น
          เหล่านี้คือกลุ่มอาการที่พบได้บ่อย ฉะนั้น หากจะมีเพศสัมพันธ์ควรรู้จักข้อมูลเหล่านี้ไว้และรู้จักป้องกันไว้ดืที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Report by LIV Capsule APCO
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่