.....จากคนชนบท ถึงคนกรุงเทพฯ....; วัชรานนท์

กระทู้คำถาม
จากกระทู้นี้ http://ppantip.com/topic/34626631  ของคุณmephis  ขออนุญาตนะครับ

ผมเป็นคนกรุงเทพมาแต่กําเนิด.

ขอให้ท่านมีความสุขกับเวลาที่ยังเหลืออยู่นะครับ. รอบนี้คงเป็นรอบสุดท้ายของท่านแล้ว.

ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่มีแต่ การสร้างภาพ.มโนภาพ.ด้วยภาพโปสเตอร์ติดตามป้ายรถเมล์ กับใต้รถไฟฟ้า.

ความเดือดร้อน ความเสียหาย.ที่คน กทม.ได้รับทั้งหมดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการตัดสินใจ จากการทํางานของท่าน.มันไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้จริงๆ.

คนกรุงเทพฯ ที่เคยเลือกคุณมา. พวกเราโง่เอง ผิดเอง.ครับ.






ผมคิดว่าคนกทม. (ที่เลือกคุณชายหมู)ไม่โง่หรอกนะครับ   ในสายตาผม...โดยภาพรวมแล้วผมยกให้คนกรุงเทพฯ นี่แหละครับที่มีอัตราประชากรที่ฉลาดสูงกว่าภาคอื่นๆ อยู่หลายช่วงตัว  คงจะด้วยว่ามีสถานศึกษาที่ดีมีคุณภาพเยอะกว่าชนบท  คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า  และอาจจะรวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ใกล้ตัวกว่าด้วย  ตรงนี้พูดจากใจจริงๆ



ความผิดพลาดของคนกทม.(บางส่วน)ที่คุณmephis. ยอมรับนั้น   ไม่ได้มาจากความโง่หรอกหรอกครับในมุมมองของผม   แต่น่าจะมาจากการ "จมไม่ลง" ของคนกทม. มากกว่า   การเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ครั้งล่าสุดนั้น   คนกรุงเทพฯ ตระหนักดีว่าเป็นการแข่งขันระหว่างตัวแทนของคนในเมืองกรุงกับคนชนบท    แม้ภาพลักษณ์ของพล ต.อ พงษ์พัศจะมีคราบชาวกรุงอยู่ก็ตาม  แต่พรรคที่เขาสังกัดอยู่นั้นไม่ใช่เลย   ต่างจากคุณชายหมู  ที่มีคราบของชาวกรุงทุกกระเบียดนิ้วคุณสมบัติตรงนั้นไม่ต้องบรรยายให้เปลืองหน้ากระดาษ  บวกกับพรรคการเมืองขวัญใจชาวกรุงที่คุณชายสังกัดอยู่    อย่างนี้แล้ว  มีหรือที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะยอมให้ตัวแทนจากพรรคของคนชนบทมาเป็นผู้ว่ากทม.?



สถานะความเป็น "คนกรุงเทพฯ" นั้น   คนกรุงเทพฯ เองก็ทราบดีว่ามันมีมนต์ขลังและอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนชนบทมากน้อยเพียงไร    ซึ่งคนชนบทเองก็ทราบดี  รวมไปถึงการยอมรับสถานะนั้นโดยดุษฏีและอย่างพินอบพิเทา(ซึ่งตรงนี้คนชนบทเองก็มีส่วนรับผิดชอบที่ทำให้สถานะของ"คนกรุงเทพฯ" ในสังคมไทยเด่นขึ้น)   นี่เป็นมรดกทางความรู้สึกจากระบบศักดินาที่ตกทอดมาถึงอนุชนในปัจจุบัน    เจ้าขุนมูลนายที่ถูกส่งจากส่วนกลางไปปกครองส่วนภูมิภาคในอดีตได้หอบหิ้วเอาศักดินาฐานันดรศักดิ์ไปด้วย    และปัจจุบันนี้เครดิตจาก "ศักดินา" ตรงนั้นยังตกทอดมาให้คนกรุงเทพฯในปัจจุบัน  จิตใต้สำนึกลึกๆ ของคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าพวกเขาเหนือกว่าคนชนบทแทบทุกด้าน  ฐานะ  การศึกษา  ชีวิตความเป็นอยู่  สังคม  หรือแม้กระทั่งรูปร่างหน้าตาและบุคคลิก ฯลฯ   และสิ่งเหล่านี้แม้จะไม่ถูกนำมาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างสังคมไทยล้วนต่างก็ทราบดี    และยิ่งหากได้ถูกนำมาเปรียบเทียบแล้วก็ยิ่งจะสร้างและตอกย้ำความเหนือกกว่าของคนกรุงให้ย่ามใจ



หลังยุคเลิกทาสเป็นต้นมา   สังคมชนบทได้ค่อยๆ ปรับตัวให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง  ซึ่งการพยายามปรับตัวของสังคมชนบทตรงนี้  ในระยะแรกๆ ดูเหมือนว่าสังคมคนในกรุงฯ ส่วนใหญ่จะไม่ใส่ใจหรือให้ความสำคัญแต่อย่างไรด้วยอาจจะคิดว่ายังไงๆ เสียคงตามไม่ทัน (เหมือนนิทานกระต่ายกับเต่า??)   ด้วยว่าการปรับตัวและพัฒนาในเชิงรูปธรรมที่เป็นวัตถุ เช่น ตัวอาคาร ตึกรามบ้านช่อง  ถนนหนทาง ฯลฯ ยังห่างไกลจากกรุงเทพนัก   แต่ก็นั่นแหละ...คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็ยังคือคนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจแค่การพัฒนาด้านรูปธรรมเพียงด้านเดียว   ในส่วนที่เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้นั้น เช่น สติปัญญา รวมไปถึง จิตสำนึกต่อสังคมและการเมือง  จริยธรรม ฯลฯ  มุมมองของคนกรุงเทพฯ ต่อคนชนบทในยุคไม่เกินสิบกว่าปีที่ผ่านมามักจะเป็นมุมมองที่เผินๆในเชิงที่ว่า  คนกรุงขับรถเก๋งแต่คนชนบทยังขับเกวียนอยู่   คนกรุงอยู่คอนโดแต่คนชนบทยังอาศัยกระต๊อบหรือบ้านไม้อยู่   โดยไม่ได้ใส่ใจที่จะมองให้ลึกลงไปอีกชั้นว่า  คนขับเกวียนและคนที่อาศัยกระต๊อบมีปรัชญาแนวคิดอย่างไร?  



กว่าสังคมคนในเมืองกรุงจะตระหนักว่าสังคมชนบทได้ปรับตัวได้ดีกว่าที่คิดไว้นั้นก็นับว่า "เกือบสาย”ไป   เมื่อนโยบายลัทธิคอมมิวนิสต์กระจายเกือบทั่วภูมิภาคของประเทศไทยและได้รับการต้อนรับจากสังคมชนบทขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นภาคกลางบางส่วนและกรุงเทพฯ   มิหน้ำซ้ำคนระดับปัญญาชนบางส่วนจากสังคมในเมืองกรุงเองก็บ่ายหน้าออกจากเมืองกรุงสู่ชนบทสนับสนุนสังคมใหม่ที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ด้วย   นั่นแหละ...สังคมของคนในกรุงถึงเริ่มตระหนักและหันมามองสังคมชนบทมากขึ้น   ที่ว่า “เกือบสาย”นั้น    เพราะลำพังแค่การรับมือของรัฐบาลต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและได้รับการสนับสนุนจากสังคมชนบทขึ้นเรื่อยๆ นั้นเป็นไปอย่างรับมือไปวันๆ   และหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติอย่างอเมริกาทั้งด้านยุทโธปกรณ์และเงินจำนวนมากมาย   ก็ไม่แน่ว่ารัฐบาลจะต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ก่อตัวจากชนบทได้หรือไม่?


การกระทบกระทั่งของสังคมชนบทและในเมืองโดยเฉพาะในเมืองกรุงบนเส้นทางการเมืองนั้นจะยังคงอยู่   ตราบใดที่กลิ่นไอของ “ศักดินา” ยังไม่จางไปจากสังคมของคนกรุงฯ  ถึงแม้ว่าในอนาคตข้างหน้า  สังคมชนบทจะพัฒนาเทียบเท่าสังคมในกรุงทั้งรูปธรรมและนามธรรมแล้วก็ตาม   และอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกหากว่าวันหนึ่งข้างหน้าสังคมคนกรุงจะเปลี่ยนใจหันมาหลงใหลสังคมชนบท


ปล.  เคยมีคนบอกผมว่า   เพราะ "โลกกลม"   ดังนั้นจุดที่คุณหรือใครต่อใครยืนอยู่ล้วนต่างก็เป็น "จุดศูนย์กลาง" ได้ทั้งนั้น   คิดไปคิดมา...อืมม์  จริงแฮะ!!
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่