อยุธยาเพิ่งก่อตั้ง เหตุใดจึงมีเมืองประเทศราชถึง 16 เมืองครับ (พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ) หรือผมเข้าใจผิด

ครั้งนั้นพระยาประเทศราชขึ้น 16 เมือง คือเมือง มะละกา ชวา ตะนาวศรี นครศรี ทวาย เมาะตะมะ เมาะลำเลิง สงขลา จันทบูร พิษณุโลก สุโขทัย พิชัย สวรรคโลก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์

อยากทราบ
1.คำว่า พระยาประเทศราช หมายถึงเมืองประเทศราชอยุธยาหรอครับ
2.เมืองมะละกา ใช่เมืองเดียวกับเกาะฟิลิปปินส์ป่าวครับ
3.พิษณุโลกกับสุโขทัยเมืองใดเกิดก่อนกันครับ

ปล.ช่วยบอกผมทีนะคร้าบ
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 4
อย่างแรกคือพงศาวดารทุกฉบับที่ระบุว่ามีประเทศราช ๑๖ เมืองเป็นพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งนั้นครับ ฉบับที่ชำระสมัยอยุทธยาอย่างพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่ชำระสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไม่มีกล่าวถึง ดังนั้นอาจจะมีความคลาดเคลื่อนในเนื้อหาได้ นอกจากนี้ชื่อเมืองบางเมืองก็เรียกด้วยชื่อสมัยหลังซึ่งสมัยพระเจ้ารามาธิบดี(อู่ทอง)ยังไม่น่าเรียก อย่างพิษณุโลก สวรรคโลก  เทียบกับในประกาศพระไอยการลักภาลูกเมียผู้คนท่านสมัยพระเจ้ารามาธิบดีก็ยังเรียกด้วยชื่อเก่าคือ 'สหลวงสองแก้ว' กับ 'เชลียง'

'ศุภมัศดุ ๑๘๙๙ มเมนักสัตว เดือนอ้าย ขึ้นเจดค่ำพุทธวาร ปริเฉทกำหนด จึ่งนายสามขลาเสมิยนพระสุภาวะดีบังคมทูลแต่สมเดจ์พระรามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราชบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ประสงด้วยข้าหนีเจ้าไพ่รหนีนายแลมีผู้ไปเอาถึงเชลียงศุกโขไททุ่งย้างบางยมสองแก้วสหลวงชาวดงราวกำแพงเพช เมืองท่านเปนอันหนึ่งอันเดียวกันดั่งนี้แลมีผู้เอาทาษเอาไพร่ท่านมาขาย แลเจ้าทาษเจ้าไพร่แห่งนครศรีอยุทธยาพบ แลมากล่าวพิภาษว่าให้ผู้ไถ่ไปไล่เอาเบี้ยแก้ผู้ขายนั้นคืน ข้าพระพุทธเจ้าขอเรียนพระราชประนิบัติ จึ่งสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสดจ์ภุดดากฤตยในเฉลียงบังอาจ์รัตนแปรพระภักตรโดยปัดจิมาภิมุขสมบูรรณ มีพระราชโองการพิภากษาด้วยพฤฒามาตยราชมลตรีทังหลายว่า ขายกันในแต่พระนครศรีอยุทธยาดั่งนี้ แลสูจะบังคับให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายแลเขาลักไปขายถึงเชลียงทุ่งย้างบางยมสหลวงสองแก้วชาวดงราวกำแพงเพชสุกโขไทใต้ล่าฟ้าเขียว ขาดจากมือเจ้าทาษเจ้าไพร่ไปไกล จะมาพิภาษฉันเมืองเพชรบุรียเมืองราชบุรียเมืองสุพรรณบุรียสพงครองพลับแพรกศรีราชาธิราชนครพรหม(เหล่านี้คือเมืองสำคัญของอยุทธยายุคต้น)นั้น บมิชอบเลย'

เข้าใจกันว่ากรุงศรีอยุทธยาก่อตั้งใน พ.ศ.๑๘๙๓ โดยพระเจ้ารามาธิบดี แต่ในความเป็นจริงการก่อกำเนิดของรัฐหรืออาณาจักรคงไม่สามารถปุบปับเกิดขึ้นมาทันทีได้ แต่ต้องผ่านพัฒนาการหลายๆชั้นจึงจะสามารถก่อกำเนิด ซึ่งในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีหลักฐานแสดงถึงพัฒนาการของรัฐในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุทธยาอยู่มาก โดยน่าจะเป็นรัฐที่มีความใกล้ชิดเป็นเครือญาติของเขมรเมืองพระนครอย่างละโว้หรือรัฐที่เรียกกันว่าอโยธยาศรีรามเทพนครเป็นต้น ซึ่งมีส่วนในการก่อกำเนิดของกรุงศรีอยุทธยาในภายหลัง

หลักฐานการพัฒนาของรัฐเช่นดังปรากฏในกฎหมายตราสามดวงบางมาตราที่ปรากฏปีศักราชก่อนสถาปนากรุงศรีอยุทธยา แสดงว่าในบริเวณนั้นมีการก่อตัวของรัฐแล้วและน่าจะมีระบบการปกครองที่มั่นคงพอสมควรถึงขั้นตรากฎหมายได้ มีการหล่อพระพุทธรูปวัดพระเจ้าพแนงเชิงก่อนสถาปนาอยุทธยา ๒๖ ปีเป็นต้น โดยสันนิษฐานว่ารัฐอโยธยาเดิมนั้นตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะเมืองอยุทธยาในปัจจุบันซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีอย่างศิลปกรรมที่น่าจะเก่ากว่าอยุทธยาเป็นต้น สันนิษฐานว่าพระเจ้ารามาธิบดีจะย้ายที่ตั้งมาอยู่กลางเกาะแล้วสถาปนาพระนามใหม่ว่า 'กรุงศรีอยุทธยา' ครับ

เมื่อมีพัฒนาการของรัฐในแถบนี้มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ การที่อยุทธยาจะสามารถมีกำลังไปตีหัวเมืองอื่นๆไว้ในอำนาจก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ อย่างหลายๆคนก็แปลกใจว่าอยุทธยาเพิ่งตั้งมาได้แค่ ๓ ปีทำไมถึงแข็งแกร่งสามารถไปตีกัมพูชาได้สำเร็จ นอกจากนี้อยุทธยาก็ไม่ใช่หัวเมืองเดียวโดด แต่มีรัฐเครือญาติอยู่จำนวนมาก เช่นรัฐสุพรรณภูมิที่เกี่ยวดองผ่านการสมรส รัฐเพชรบุรีซึ่งปรากฏหลักฐานว่าพระเจ้าอู่ทองเคยครองราชย์อยู่มาก่อน เป็นต้น

เป็นไปได้ว่าประเทศราช ๑๖ เมืองดังกล่าวเป็นการสรุปรวมเมืองทั้งหมดที่เป็นประเทศราชสมัยพระเจ้ารามาธิบดี(อู่ทอง) บางเมืองอย่างนครศรีธรรมราชหรือจันทบูร แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดแต่ดูมีแนวโน้มว่าจะอยู่ใต้อำนาจอยุทธยามาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุง

หลายๆเมืองอย่างสุโขทัย อิงตามหลักฐานอย่างชินกาลมาลินีก็ปรากฏว่าเพิ่งตีได้ในสมัยพระเจ้ารามาธิบดีนั้นเอง โดยหลังจากตีเมืองชัยนาท(คือสองแคว)ได้แล้วทำให้พระมหาธรรมราชา(ลิไท)ต้องออกมาเจรจาและมอบบรรณาการให้จำนวนมาก ซึ่งพระเจ้ารามาธิบดีทรงถวายเมืองชัยนาทคืนให้ แต่พระมหาธรรมราชาต้องไปประทับที่สองแควและออกผนวช ส่วนสุโขทัยนั้นถูกคนอื่นปกครอง จึงเหมือนกับว่าในสมัยพระเจ้ารามาธิบดีนั้นได้หัวเมืองของสุโขทัยไว้ในอำนาจแบบกลายๆแม้จะไม่ปรากฏว่าอยุทธยาส่งคนไปปกครองโดยตรง (พงศาวดารเลยอาจจะตีขลุมไปเลยว่าได้สุโขทัยทั้งหมดไว้ในอำนาจ) ซึ่งก็มีปรากฏในพระอัยการลักภาลูกเมียท่านที่ยกมาแล้วว่ามีการพูดถึงการจัดการไพร่ในหัวเมือของสุโขทัย แสดงว่าอยุทธยาน่าจะมีอำนาจเหนือสุโขทัยครับ

หัวเมืองไกลๆอาจจะไม่จำเป็นต้องยกไปตี หัวเมืองเหล่านั้นอาจจะแค่ถวายบรรณาการเองพอเป็นพิธีว่ายอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุทธยา หรืออาจจะส่งแสดงความเป็นไมตรี อยุทธยาก็คงไม่ไปยุ่งอะไร แต่อยุทธยาก็คงจะนับว่าเป็นหัวเมืองประเทศราชครับ เช่นเดียวกับศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่ประกาศอาณาเขตของสุโขทัยอย่างว้างใหญ่ว่า
"-ปราบเบื้องตะวันออกรอดสรลวงสองแคว ลุมบาจาย สคา เท้าฝั่งของเถีงเวียงจันทน์ เวียงคำเป็นที่แล้ว
-เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบูรี เพขรบูรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว
-เบื้องตะวันตกรอดเมืองฉอด เมือง...น หงสาวดี สมุทรหาเป็นแดน
-เบื้องตีนนอนรอดเมืองแพร่ เมืองม่าน เมืองน... เมืองพลัว พ้นฝั่งของ เมืองชวาเป็นที่แล้ว"

สันนิษฐานว่าหลายๆเมืองน่าจะเป็นเพียงเมืองหรือรัฐที่มีสัมพันธไมตรีกันมากกว่าจะมีอำนาจปกครองเหนือเมืองเหล่านั้นจริงๆ ยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีมากพอที่จะให้เชื่อว่าสุโขทัยมีอำนาจลงมาต่ำกว่าเมืองพระบาง(นครสวรรค์) น่าเชื่อว่ามีอำนาจจริงอยู่ในลุ่มแม่น้ำยม-น่านเท่านั้น รัฐลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางใต้อย่างละโว้-อโยธยา สุพรรณภูมิ หรือเพชรบุรีน่าจะมีอำนาจปกครองตนเองอยู่ในตอนนั้นครับ


ส่วนคำถามที่ถาม
๑.พระยาประเทศราช หมายถึงกษัตริย์หรือเจ้าเมืองของเมืองประเทศราชนั้นๆครับ
๒.ค้นใน google ก็น่าจะทราบว่ามะละกาอยู่ตรงไหนครับ
๓.พิษณุโลกเดิมมีชื่อว่าเมืองสองแคว หรือในจารึกวัดศรีชุมเรียก 'สรลวงสองแคว' ทางอยุทธยาเดิมปรากฏเรียกว่าชัยนาท(ไม่ใช่จังหวัดชัยนาทมรปัจจุบัน) ส่วนชื่อพิษณุโลกเพิ่งมาปรากฏในสมัยหลัง  มีการสันนิษฐานว่าเดิมเมืองชัยนาทอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน(แม่น้ำแควใหญ่) เมืองสองแควอยู่ฝั่งตะวันออก ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้ก่อกำแพงล้อมรอบทั้งสองเมืองแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า 'พิษณุโลก' โดยอาจจะเอาชื่อมาจาก 'บรมวิษณุโลก' หรือปราสาทนครวัดครับ

ถ้าจะเชื่อตามข้อสันนิษฐานนี้ พิษณุโลกเกิดทีหลังครับ

แต่ถ้านับที่สองแคว ก็น่าจะเก่าๆแก่พอๆกับสุโขทัยศรีสัชนาลัยครับ


แผนที่เมืองพิษณุโลก ร่างโดยสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่