- เมื่อถึงทางแยก -

ตอนที่เรายังเด็ก หนังสือนิทานส่วนใหญ่มักจะจบลงด้วยคำว่า...


“...เจ้าชายกับเจ้าหญิงก็เข้าพิธีอภิเษก แล้วอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขสืบไป...”


แท้จริงแล้ว การแต่งงาน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่เท่านั้น
ยังมีบททดสอบอีกมากมายที่คนสองคนต้องจับมือกันฟันฝ่าไป
จึงจะสามารถถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างแท้จริง


แต่เมื่อถูกนอกใจชีวิตรักไม่ได้หวานชื่นอย่างที่หวังไว้
แถมยังมีชีวิตน้อย ๆ ก่อกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ เราควรทำอย่างไร ?


ก่อนอื่นเราต้องตั้งสติและควบคุมอารมณ์
ทบทวนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด
และมีวิธีใดที่จะสามารถแก้ปัญหาได้บ้าง ให้อภัยกันได้หรือไม่


หากคนรักสำนึกผิดและขอโทษ เราก็ควรจะให้อภัยในกรณีที่เป็นความผิดครั้งแรก
เพราะใคร ๆ ก็มีโอกาสจะผิดพลาดกันได้ ค่อย ๆ คิดหาทางออกร่วมกัน รอมชอมกันให้มากที่สุด


ถ้าทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แถมคู่กรณีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสำนึก
เราก็ไม่ควรจะทำร้ายตัวเองด้วยการจมปลักอยุ่กับคนแบบนี้
ควรหาทางเจรจาและร่างสัญญาข้อตกลงในเรื่องต่าง ๆ
เช่น ความรับผิดชอบในหนี้สิน การแบ่งทรัพย์สิน รวมไปถึงการรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร


หากตกลงกันไม่ได้ เราสามารถใช้กฏหมายช่วยแก้ปัญหาได้ ดังนี้


**กรณีที่จดทะเบียนสมรส**


การที่คู่ครองมีพฤติกรรมนอกใจ กฏหมายทุกประเทศทั่วโลกสามารถฟ้องหย่าได้ทั้งสิ้น
เพราะถือเป็นการประพฤติผิดที่ร้ายแรงที่สุดตามมาตรา 1523 วรรค 2 ( คำพิพากษาฏีกาที่ 4014 / 2530 )

กรณีที่สามีนอกใจ ภรรยาสามารถเรียกค่าทดแทนทั้งจากสามี และจากภรรยาน้อยได้
ต่อเมื่อศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากสามี โดยค่าทดแทนนี้ศาลจะกำหนดให้เป็นเงินก้อน
ซึ่งจะคำนึงถึงพฤติกรรมและฐานะทางสังคมของภรรยาเป็นหลัก
แต่ถ้าภรรยายอมความจะไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนในส่วนนี้ได้


ในกรณีที่ภรรยาไม่ยอมหย่าขาดจากสามี
สามารถฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนจากภรรยาน้อยที่แสดงตนโดยเปิดเผย
แต่จะไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนจากสามีได้


สำหรับอำนาจในการปกครองบุตร ต้องตกลงกันก่อน
ถ้าตกลงกันไม่ได้ ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย

แม้ตามกฏหมายจะระบุว่าพ่อกับแม่มีสิทธิเท่ากัน
แต่ในทางปฏิบัติ แม่ มักได้เปรียบ

ยิ่งถ้าลูกอยู่กับแม่มาตั้งแต่เกิดฟ้องร้องอย่างไรก็ชนะ
พ่อจะได้สิทธิในตัวลูกก็ต่อเมื่อแม่ไม่มีศักยภาพพอที่จะเลี้ยงดุบุตรได้
เช่น พิการ วิกลจริต หรือ ชอบทารุณกรรมเด็ก เป็นต้น


ดังนั้น จึงควรระบุใน “สัญญาหย่า/บันทึกการหย่า”
ให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ปกครองบุตร หรือ คู่กรณีได้ยกทรัพย์สินใดให้แก่บุตร



**กรณีที่ไม่ได้จดทะเบียน**


ภรรยาจะไม่สามารถเรียกร้องค่าเลี้ยงดูจากสามีได้เพราะไม่มีกฏหมายรองรับ
แต่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งว่าเป็นบิดาแล้วเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้


โดยกฏหมายให้มารดามีสิทธิ์ในการใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว
ต่อให้สามียินยอมให้เด็กใช้นามสกุลของตน
ก็มีผลเพียงเป็นผู้สืบสันดานเพื่อประโยชน์ในการเป็นทายาทโดยมีสิทธิได้รับมรดกเมื่อบิดาตายเท่านั้น
แต่ไม่มีผลให้เป็นบิดาและบุตรกันตามกฏหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 และ มาตรา 1629(1)



ขึ้นชื่อว่า “ครอบครัว” แล้ว ในหัวใจของคนทุกคนคงอยากให้ประกอบพร้อมไปด้วย พ่อ แม่ ลูก
แต่ในเมื่ออีกฝ่ายไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่สามารถจูงมือกันไปได้ถึงฝั่งฝัน
เราก็คงต้องยอมรับความจริง ใช้สติปัญญาและความสามารถเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด…



ภาพ : pexels

หมายเหตุ : หากผู้อ่านท่านใด ต้องการตัวอย่างบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับบุตรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา
สามารถเข้ามาแจ้งความจำนงค์ได้ที่คอมเม้นท์ในเพจแม่โอ๋เรนเจอร์เลยค่ะ ยินดีแบ่งปัน...




แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่