<<< " รับบริจาค ต่างจาก เรี่ยไร " >>>

จากกรณีที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ตรวจสอบพบว่า กองทัพบก (ทบ.) ไม่ได้ยื่นขออนุมัติเรี่ยไรเงินที่จะใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อ “คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.)” ที่มี ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 ซึ่งระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว กำหนดโทษของการฝ่าฝืนไว้ทั้งผู้เกี่ยวข้องต้องถูกลงโทษทางวินัยและอาจถูกส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงโทษทางอาญา รวมถึงเงินที่ได้จากการเรี่ยไร หรือรับบริจาค จะต้องส่งให้ กคร. เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2558 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว ว่า ตนขอพูดกลางๆ เพราะไม่รู้ในรายละเอียดว่าใครเป็นคนทำ และทำอย่างไร แต่การรับบริจาคไม่ถือเป็นการเรี่ยไร และหากทำในรูปแบบของมูลนิธิก็ไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว หากไม่เข้าข่ายการเรี่ยไรก็ไม่ต้องยื่นขออนุมัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าวอยู่แล้ว เพราะหากมูลนิธิเป็นผู้ดำเนินการ ก็ต้องไปว่ากันในส่วนของมูลนิธิ ไม่ใช่การเรี่ยไรของทางราชการ

“เหตุที่ต้องมีการควบคุมการเรี่ยไรเพราะมีเงินเข้ามามาก อาจมีการยักย้ายถ่ายเททำให้สับสน จึงต้องมีการทำบัญชีให้ชัดเจน แต่การรับบริจาคต่างกับการเรี่ยไร เพราะถูกควบคุมโดยกฎหมายหรือระเบียบที่แตกต่างกัน” นายวิษณุกล่าว

อนึ่งก่อนหน้านี้ ม.ล. ปนัดดา เคยระบุว่า หากหน่วยงานของรัฐใดจะขอเรี่ยไร หรือ รับบริจาค จะต้องขออนุมัติจาก กคร. ก่อน ขณะที่นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ก็ระบุว่า ทราบว่าการใช้เงินบริจาคของ ทบ. เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 (แต่จากการตรวจสอบรายงานการประชุมของ กคร. ในปีงบประมาณ 2558 ไม่พบว่า ทบ. ได้ขออนุมัติจาก กคร. แต่อย่างใด)นอกจากนี้“มูลนิธิราชภักดิ์” เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ มีเส้นทางเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน หน่วยงานของรัฐ และประชาชนทั่วไป เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมาจาก “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ของกองทัพบก และส่วนที่ 2 มาจาก “มูลนิธิราชภักดิ์” โดยเงินที่ได้รับการสนับสนุนก่อนวันที่ 16 กันยายน 2558 จะเข้าสู่กองทุนสวัสดิการกองทัพบกทั้งหมด เนื่องจากมูลนิธิราชภักดิ์ยังไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้ง ซึ่งจากการตรวจสอบ พบการสนับสนุนทางการเงินทั้ง 2 ช่องทางดังกล่าว รวมกันอย่างน้อย อย่างน้อย 468 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังไม่รวมกรณีที่ ทบ. ขอใช้งบกลาง 63 ล้านบาท และได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีก 88 ล้านบาท

http://thaipublica.org/2015/12/uttayan-rajabhakti-11-12-2558/

มึนตึ๊บ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่