(บทความ) โมเดลประเทศอำนาจนิยม วังวนผู้นำตลอดกาล ฝันหวานของคนบางกลุ่ม

กระทู้คำถาม
.
     ในอดีตนับตั้งแต่มีการจัดรูปแบบให้มีรัฐบาลเป็นตัวแทนของของคนทั้งชาติ ภายใต้ระบบการเมืองของประเทศแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคง แกว่งไปมาตามแรงอำนาจทางสังคมและทหาร ก่อให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองนับครั้งไม่ถ้วนที่ผู้คนต้องสังเวยชีวิตและถูกทารุณกรรมคนแล้วคนเล่า ทรัพย์สินเสียหายมากมาย ตลอดจนมีการฉีกรัฐธรรมนูญหลายครั้งเพียงเพื่อจะได้ครอบครองอำนาจในมือของกลุ่มตนตลอดกาล

     เกริ่นย่อหน้าแรกอาจดูคล้ายคลึงว่าผม ผู้เขียนหมายถึงประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะชาติเราไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนั้น  ยังมีอีกประเทศที่มีอดีตและประสบการณ์ในเรื่องนี้เหมือนประเทศของเรา หนักหนาสาหัสกว่าด้วยซ้ำถ้ามองกันถึงจำนวนความสูญเสีย ที่ประชาชนต้องยอมสละชีวิตเพื่อปลดแอกตัวเองออกจากกลุ่มคนที่คลั่งอำนาจ แล้วพยายามบงการชีวิตคนอื่นให้เป็นไปตามที่ตนสั่ง

     บทความชิ้นนี้ กำลังหมายถึงประวัติของประเทศเกาหลีใต้ ประเทศที่หลุดพ้นจากภาวการณ์ของการถูกกดขี่จากคนกลุ่มเดียวที่คิดว่าตนเองเหนือกว่าเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ

     เกาหลีใต้มีความคล้ายคลึงและเหมือนกับไทย ในช่วงก่อร่างสร้างประเทศบทระบบการปกครองใหม่ คือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งได้ใช้โอกาสภายใต้วิกฤตภาวะสงคราม ดันตัวเองให้มาอยู่ในฐานะ วีรบุรุษ  

      ในไทยมีคณะราษฎร์ ที่ก่อตัวขึ้นในภาวะประเทศเล็กๆที่ต้องหาทางหลบภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังเริ่มส่อเค้าจะปะทุขึ้นในเวลาอันใกล้ และนำไปสู่การปฏิวัติสยาม 2475  ที่มีการประนีประนอมกันระหว่างฝ่ายคณะราษฎร์ กับทางเชื้อพระวงศ์ โดยเห็นเหมาะสมตรงกันที่จะให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย

     ในเกาหลีใต้ก็มีวีรบุรุษผู้ต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นในสมัยนั้นหลายคนโดดเด่นขึ้นมา และไม่ได้ประนีประนอมเหมือนกับไทย เพราะบุคคลที่คิดว่าตัวเองนั้นเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำต่างก็พากันลงแข่งขัน มาเป็นผู้ชิงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี ต่างเป็นวีรบุรุษร่วมต่อต้านผู้ยึดครองชาวญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคมในระหว่างปี พ.ศ. 2453-2488) โดยที่สุดแล้ว ดร. ซิงมัน รี เป็นผู้ชนะ ได้เป็นประธานาธิบดี

     ในไทย เมื่อความประนีประนอมเริ่มหมดไป ฝ่ายที่คิดว่าตนเองเหมาะสมในการเป็นผู้นำประเทศ เพราะเป็นผู้มีอำนาจทางทหารเหนือกว่า อย่างพระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้แตกกับกลุ่มคณะราษฎร์เดิมของนาย ปรีดี พนมยงค์โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐประหารขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นชนวนสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายเชื้อพระวงค์รุนแรงมากขึ้น และรัชกาลที่ 7 ก็ทรงเสด็จออกนอกประเทศและไม่ได้เสด็จนิวัตน์กลับมาอีกเลย

      ในเกลาหลีใต้ เมื่อ ดร. ซิงมัน รี ได้รับตำแหน่งและดำรงอยู่ในอำนาจครบ 2 สมัยแล้ว ความเลวร้ายและรุนแรงทางการเมืองก็เกิดขึ้นเพราะเมื่อประธานาธิบดีและพรรครัฐบาลพยามยามสกัดกั้นคู่แข่งทางการเมือง ทั้งที่เคยกอดคอร่วมรบกับญี่ปุ่นมาด้วยกัน ด้วยการพยายามฉีกรัฐธรรมนูญและทดแทนด้วยรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้เป็นประธานาธิบดีได้ตลอดกาล ประชาชนและฝ่ายค้านจึงแสดงความไม่เห็นด้วย นำไปสู่การรัฐประหารในปี พ.ศ.. 2503

     แต่เมื่อได้โค่นอำนาจ ของ ดร.ซิงมันรีแล้ว ในยุคของนายพลปัก จุงฮี (ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี พ.ศ. 2505-2522) ก็เช่นกันที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญและทดแทนด้วยรัฐธรรมนูญฉบับยูชินในปี พ.ศ.2515 เพื่อขยายการดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประเทศอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ก่อให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อขอการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กองกำลังทหารเข้าบดขยี้ จนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

     สังคมเต็มไปด้วยความตึงเครียด ปั่นป่วน และประชาชนไร้สิทธิเสรีภาพที่พึงมี เหตุการณ์ดังนี้เกิดขี้นอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลของนายพลชุน ดูฮวาน (ดำรงตำแหน่งพ.ศ.2524-2530) และนายพลโรห์ เตวู (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2531-2534)

     ในที่สุด ประชาธิปไตยก็บังเกิดขึ้นในเกาหลีใต้เมื่อภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างหนัก เพราะอเมริกาเริ่มเปลี่ยนทํศนะคติเห็นว่าเผด็จการทหารของเกาหลีใต้ไม่เป็นผลดีกับตัวเองซึ่งเป็นสรีนิยม จึงถอนการสนับสนุนทางเศรษฐกิจออกไป จนฝ่ายทหารต้องยอมจำกัดสถานภาพของตนเองเหลือแค่การทำหน้าทีในการทำหน้าที่ป้องกันประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะไม่อาจฝืนนำพาประเทศไปต่อข้างหน้าได้อีกแล้ว และปล่อยให้ประชาชนทำหน้าที่ทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เต็มใบภายหลังที่ทหารยึดครองตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี

     การต่อสู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งที่นายคิม ยังแซม ชนะการลงสมัครแข่งขันเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 14 ในตอนปลายปี พ.ศ.2534 จนถึงปัจจุบันนี้ เกาหลีใต้ก็ไม่ได้หวลกลับไปใช้ระบบการปกครองเผด็จการทหารหรือมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกเลย นักวิชาการเกาหลีจึงมักจะกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า เกาหลีใต้หลุดพ้นจากวงจรแห่งความชั่วร้าย คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดนโค่นล้มด้วยการรัฐประหาร... ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ด้วยความพยายาม สติปัญญา และความยับยั้งชั่งใจในการจรรโลงระบอบประชาธิปไตยให้หยั่งรากฝังลึกลงในผืนแผ่นดินของพวกเขา  

     ประชาชนเกาหลีใต้หวงแหนสิทธิของตนเองมาก พวกเขาออกมาเรียกร้องตามท้องถนนหลายครั้ง มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสภาหลายหน แต่ก็ยอมรับข้อสรุปด้วยวิถีทางสภาตัวแทนเท่านั้น ไม่ยินยอมใช้วิธีเก่าๆที่เคยเป็นต้นเหตุให้ประเทศตัวเองชะงักงันเด็ดขาด

     รัฐธรรมนูญของเกาหลีระบุไว้ชัดเจน ว่าการปฏิวัติรัฐประหาร เป็นอำนาจที่ใครก็ตามไม่อาจยอมรับอย่างเด็ดขาด และประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ผู้พิพากษาก็ยึดถือเช่นนั้นอย่างจริงจังทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะเห็นได้ว่าประชาชนเกาหลีใต้ต่างพากันออกมาใช้สิทธิอย่างหนาแน่นทุกครั้ง

โมเดลการผูกขาดอำนาจของเกาหลีใต้ถูกทำลายไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 แล้วของไทยล่ะ..?

      บทความนี้ จะไม่เอ่ยถึงเหตุการณ์ในช่วงหลังของประเทศในประเทศไทย นับตั้งแต่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเองในคณะราษฎร์ ระหว่างฝ่ายพลเรือน กับฝ่ายทหารนั้น เรื่องราวเป็นมาอย่างไร ประวัติศาสตร์เป็นแบบไหน ผมก็คงไม่ต้องบอกก็น่าจะพอทราบกันดีอยู่แล้ว

เราหลุดพ้นโมเดลผู้นำตลอดกาลหรือยัง..? มองเกาหลีใต้แล้วเทียบกับประเทศของเราเอง ก็คงจะรู้คำตอบ

     เราได้อะไรจากการศึกษาประวัติของประเทศลักษณะเดียวกับเราบ้าง ที่เริ่มต้นในระยะเวลาเดียวกับเรา มีสถานการณ์คล้ายคลึงกับเรา มีแนวทางการปกครองใกล้เคียงกับเรา ท่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้ลองวิเคราะห์และหาคำตอบกันเองนะครับ และไม่จำเป็นต้องบอกผมในกะทู้นี้ เก็บไว้คนเดียวเอาแค่รู้อยู่แก่ใจก็พอแล้ว



ปล.ผมเขียนถึงในเหตุการณ์ในครั้งอดีต และตั้งกะทู้นี้ถูกตั้งขึ้นเพราะ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตใจ ไม่ได้มีเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และไม่ขัดต่อประกาศ คสช ฉบับที่ 97.
(1) ข้อความอันเป็นเท็จ หรือที่ส่งไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
(2) ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น
(3) การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(4) ข้อมูลเสียง ภาพ วีดิทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ
(5) ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร
(6) การชักชวน ซ่องสุม ให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(7) การขู่จะประทุษร้ายหรือทำร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน

     และผมยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของเว็บบอร์ดแห่งนี้ทุกประการ ซึ่งถ้าที่สุดแล้ว wm หรือฝ่ายกฎหมายเห็นว่ากะทู้นี้เข้าข่ายผิดกฎหมายแล้วลบกะทู้ แต่ช่วยกรุณาชี้แจ้งให้กระผมทราบด้วย ว่าผิดกฎหมายมาตราใด หรือขัดกับประกาศ คสช.ฉบับไหน เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้ศึกษากฎหมายอย่างลึกซึ้งจนเข้าใจในทุกมาตรา แต่ก็ศึกษาหาความรู้เรื่องนี้ด้วยตัวเองตลอดมา และถ้าหากท่านชี้แจงว่า ลบกะทู้นี้เพราะผิดกฎหมายในมาตราใด ผมจะได้เข้าใจมากขึ้น และปฏิบัติตัวให้อยู่ในของเขตของกฎหมาย และกฎระเบียบของเว็บไซต์

ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  การเมือง รัฐธรรมนูญ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่