ทำความรู้จัก! ยาต้านไวรัส คืออะไร? ผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน...

พญ.นิตยา กล่าวถึงความสำคัญของการกินยาต้านไวรัสว่า ยาต้านไวรัสที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นแนวทางการรักษาของประเทศไทย สามารถเบิกได้ตามสิทธิ์การรักษาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ ซึ่งสูตรของยาต้านไวรัสที่นิยมโดยทั่วไป ประกอบไปด้วย สูตรยาชื่อ Zidovudine (AZT) + Lamivudine (3TC) + Nevirapine (NVP) ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับที่ “พละ” (ซีรีส์ ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ซีซั่น 3) กินวันละ 2 ครั้ง โดยข้อดีของสูตรนี้คือ จะไม่มีอาการมึนเมา เหมาะกับคนวัยทำงาน นักศึกษา และนักเรียน และอีกสูตรที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ Tenofovir (TDF) + Lamivudine (3TC) + Efavirenz (EFV) กินวันละ 1 ครั้ง ซึ่งผลข้างเคียงของยาสูตรนี้คือ จะต้องระมัดระวังเรื่องของการเกิดผื่น และมึนงง ในระยะเดือนแรก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระบวนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในปัจจุบันจะถูกพัฒนาไปแล้ว แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ก็ยังคงติดภาพกับยาต้านไวรัสในสมัยก่อน ที่จะมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ผิวคล้ำ แก้มตอบ และไขมันย้ายที่ ทำให้เกิดความกลัวที่จะกินยาต้านไวรัส
ทั้งนี้ การเลือกกินยาต้านไวรัส ไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ไม่ว่าผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะเริ่มแรกหรือรุนแรงถึงขั้นระยะเอดส์ สามารถเลือกกินยาสูตรเดียวกันได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เรื่องวินัยการกินยา อย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา เช่น สูตรวันละ 1 ครั้ง ต้องกินทุก 24 ชั่วโมงตรง และสูตรวันละ 2 ครั้ง กินทุก 12 ชั่วโมงตรง หากลืมหรือเวลาคลาดเคลื่อนไป นึกขึ้นได้เมื่อไรต้องกินทันที และเริ่มนับเวลาใหม่ ดังนั้น หากมีวินัยในการกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา ก็แทบไม่มีโอกาสที่จะดื้อยา
หัวหน้าแผนกป้องกันและหัวหน้าหน่วยวิจัยเสิร์ช ศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า กระบวนการของเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกายเริ่มจากในระยะแรก เชื้อเหล่านี้จะเข้าไปหาแหล่งที่อยู่ในร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง สมอง ลำไส้ และผนังลำไส้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเชื้อเหล่านี้ก็จะสะสมและมีการสร้างเชื้อออกมาเรื่อยๆ ฉะนั้นจึงต้องมีการกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกดทับเชื้อ HIV ที่อยู่ในเลือดให้อยู่ในระดับที่ไม่สามารถตรวจพบได้อีก แต่อย่างไรก็ตาม ยาต้านไวรัสไม่ได้ถึงขั้นช่วยให้เชื้อหายเกลี้ยงไปจากร่างกายเพราะยาต้านไวรัสไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปจัดการกับต่อมน้ำเหลือง สมอง และลำไส้ได้หมด ฉะนั้น หากมีการหยุดยา เชื้อ HIV ก็จะกลับเข้าสู่เลือดได้อีก ดังนั้น เชื้อ HIV จะไม่หมดไปจากร่างกาย เพียงแต่กระบวนการรักษาจะสามารถคุมเชื้อได้
พญ.นิตยา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทางการแพทย์ทั่วโลก กำลังทำการวิจัยในเรื่องการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV กันอย่างเข้มข้น โดยมีการคาดหวังว่าในอนาคตกระบวนการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV จะสามารถกำจัดเชื้อหรือปลอดเชื้อออกไปจากร่างกายได้หมด หรือเรียกว่า รักษาเชื้อไวรัส HIV ให้หายขาด (CURE) ด้วยการตัดชิ้นเนื้อในต่อมน้ำเหลือง สมอง และลำไส้ มาส่องดู โดยจะต้องไม่มีเชื้อไวรัส HIV อยู่เลย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างทำได้ยาก ดังนั้นในปัจจุบันกระบวนการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV จึงต้องพุ่งเป้าให้อยู่ใน “ระยะสงบ” แทน
“เพราะฉะนั้น ถามว่าจะต้องมีการกินยาต้านไวรัสไปจนถึงเมื่อไรนั้น เคยมีการทำวิจัยในต่างประเทศ โดยการนำผู้ติดเชื้อ HIV มาทดสอบ โดยให้กินยาต้านไวรัสเป็นระยะเวลา 3 ปี แล้วหยุด ผลปรากฏว่า ผู้ติดเชื้อร้อยละ 10-15 ตรวจไม่พบเชื้อ HIV อยู่ในเลือดแล้ว แต่ก็ยังคงมีเชื้อ HIV หลงเหลืออยู่ในส่วนของต่อมน้ำเหลืองและสมองอยู่บ้าง ซึ่งสามารถอยู่ร่วมได้ ลักษณะนี้เรียกว่าระยะสงบ” พญ.นิตยา ระบุ
ทั้งนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่า ถึงเวลาที่ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถหยุดกินยาต้านไวรัสได้...? พญ.นิตยา กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากระยะของการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV โดยทั่วไป จะมีแนวโน้มที่ดีได้ ผู้ติดเชื้อ HIV ต้องกินยาต้านไวรัส หลังจากรู้ตัวไม่เกิน 2 เดือน และกินไปอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถมาพิจารณาต่อไปได้ว่า ยาต้านไวรัสสามารถกดทับเชื้อได้สนิทแล้วหรือไม่ หรือเข้าสู่ระยะสงบหรือคุมเชื้อได้
สิ่งที่หลายคนอยากรู้! ผู้ติดเชื้อ HIV มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?
พญ.นิตยา ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า ปัจจุบันไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ มีแฟน หรือแต่งงาน ในผู้ที่ติดเชื้อ HIV เนื่องจากการกินยาต้านไวรัส ภายในระยะเวลา 6 เดือน หรือ 12 เดือน พบว่า ผลการตรวจเลือดแทบจะ 100% นั้น ไม่มีเชื้อ HIV อยู่ในเลือดแล้ว เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะถ่ายทอดเชื้อไปให้คนอื่นแทบเป็นศูนย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ต้องใส่ถุงยางอนามัย เพราะอย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังคงน่าวิตกกังวลอีกเรื่องคือ การถ่ายทอดหรือรับเชื้ออื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น หนองใน หนองในเทียม ซิฟิลิส ฯลฯ   
หมดห่วง! แพลนอย่างไรให้เชื้อ HIV ไม่ตกสู่ลูก...?
พญ.นิตยา กล่าวต่อว่า ผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เมื่อแต่งงานและวางแผนจะมีลูกด้วยกัน ก็สามารถทำได้ ตามวิธีต่างๆ ดังนี้ ในกรณีที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายติดเชื้อ HIV วิธีที่ 1 คือ ผู้หญิงจะต้องกินยาต้านไวรัสให้เชื้อถูกกดทับลงไปสนิท หรือไม่พบเชื้อ HIV ในเลือดอีก จากนั้นสามารถมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ต้องใส่ถุงยางอนามัย เพื่อให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก่อนมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายก็ต้องกินยาป้องกันเชื้อ HIV ชื่อว่า “PrEP” ควบคู่ไปด้วย โดยกินวันละ 1 เม็ด ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 2-3 สัปดาห์ และหลังมีเพศสัมพันธ์ 3-4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันเชื้อ HIV จากฝ่ายหญิง ส่วนวิธีที่ 2 คือ เก็บน้ำเชื้ออสุจิของผู้ชาย และฉีดเข้าไปในช่องคลอดผู้หญิง สำหรับกรณีที่ผู้ชายเป็นฝ่ายติดเชื้อ HIV วิธีที่ 1 คือ นำน้ำเชื้ออสุจิมาปั่นล้าง และตรวจก่อนว่าไม่มีเชื้อ HIV แล้ว จึงจะสามารถฉีดเข้าไปในช่องคลอดผู้หญิงเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น อย่างไรก็ตาม ลูกจะได้รับเชื้อ HIV ด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้หญิง หากผู้หญิงไม่มีเชื้อ ลูกก็จะไม่ได้รับเชื้อแน่นอน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องป้องกันไม่ให้ผู้หญิงติดเชื้อจากผู้ชายในระหว่างมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน ซึ่งปัจจุบันก็มีคู่รักหลายร้อยคู่ที่มีลูกกันด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ ฉะนั้นจะเห็นว่า การติดเชื้อ HIV ไม่ได้เป็นปัญหาในการมีลูกหรือทำลายชีวิตคู่
ดื่มน้ำร่วมแก้ว กินอาหารร่วมช้อน กับ ผู้ติดเชื้อ HIV ได้หรือไม่?
นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างที่หลายคนยังคงสงสัย คือ ผู้ติดเชื้อ HIV จะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติหรือไม่? พญ.นิตยา อธิบายให้ฟังว่า หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ที่ยังไม่มียาต้านไวรัส ผู้ที่รู้ตัวว่าติดเชื้อ HIV จะเครียดและกังวลว่าจะสามารถอยู่ได้อีกกี่ปี เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ว่า ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถมีอายุไขเท่ากับผู้ที่ไม่มีเชื้อ ขึ้นอยู่กับว่า รู้ตัวเร็ว และเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น การที่ผู้ติดเชื้อ HIV รู้ตัวเร็ว กินยาต้านไวรัสได้เร็ว ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม การติดต่อของเชื้อ HIV ยังคงติดต่อ 3 ทางเท่านั้น คือ ทางเพศสัมพันธ์ เลือด และแม่สู่ลูก นอกเหนือจากนั้นไม่ใช่วิธีการของการจะติดเชื้อที่จะเกิดในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารช้อนเดียวกัน ดื่มน้ำร่วมแก้ว การจูบ หรือแม้แต่ยุงกัดผู้ติดเชื้อ HIV แล้วไปกัดอีกคน ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปัจจัยหรือสาเหตุให้มีการติดเชื้อ HIV เกิดขึ้น
“ทั้งนี้ แม้ผลเลือดจะพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันตก จนเชื้อ HIV ถึงขั้นเข้าสู่ระยะที่สองและสามแล้ว แต่กระบวนการรักษาโดยการกินยาต้านไวรัสในปัจจุบัน ก็สามารถฟื้นกลับมาสู่ภาวะสงบได้ เพราะเชื้อเหล่านี้ สามารถย้อนจากระยะที่สามมาสู่ระยะที่สองและหนึ่งได้ แต่อาจมีบางรายที่ป่วยหนักถึงขั้นเชื้อราขึ้นสมอง กรณีนี้ก็ยากที่จะเยียวยาเช่นเดียวกับโรคอื่นๆ แต่ก็เกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย เพราะฉะนั้น เชื้อ HIV ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด” พญ.นิตยา กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  thairath.co.th

Report by LIV Capsule (APCOCap)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่