กฏสูงสุดของธรรมชาติ

พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่ยอมรับเรื่องเหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องเทพเจ้า หรือเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่าพุทธศาสนานับถือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งสูงสุด ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่   (ศาสนาพราหมณ์นับถือเทพเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด) ซึ่งสิ่งสูงสุดที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่นี้ พุทธศาสนาเรียกว่า กฏอิทัปปัจจยตา ที่หมายถึง การอาศัยเหตุปัจจัยแล้วเกิดขึ้น ซึ่งกฎนี้เรียกว่าเป็น กฎสูงสุดของธรรมชาติ หรือ กฎสูงสุดของจักรวาล โดยกฎนี้มีใจความโดยละเอียดว่า

“เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี         เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น    เมื่อสิ่งนี้ดับหายไป สิ่งนี้จึงดับหายไป”

สรุปแล้วกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้ก็คือกฎง่ายๆที่บังคับเอาไว้ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น” โดยสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่งทั้งหลายนั้นเราจะเรียกว่า “สิ่งปรุงแต่ง” (สังขาร) คือหมายถึงว่า ไม่มีอะไรที่จะเกิดขึ้นมาได้ด้วยตัวเองลอยๆโดยไม่อาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น (ซึ่ง อัตตา ก็คือความเชื่อว่ามันเกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่อาศัยสิ่งอื่นใดมาปรุงแต่ง) แต่การที่จะเข้าใจกฏสูงสุดของธรรมชาตินี้ได้อย่างถูกต้อง เราจะต้องมาทำความเข้าใจกับคำเหล่านี้ก่อน อันได้แก่คำว่า

เหตุ ที่หมายถึง สิ่งที่กระทำให้เกิดผล
ปัจจัย ที่หมายถึง  สิ่งที่มาสนับสนุนเหตุ หรือเหตุย่อยๆ
ผล ที่หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุ
ปรุงแต่ง ที่หมายถึง การ (กิริยา) กระทำให้เกิดขึ้น
สิ่งปรุงแต่ง หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยมาร่วมกันปรุงแต่งให้เกิดขึ้น
เกิดขึ้น ที่หมายถึง จากการที่ไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงมามีขึ้นในภายหลัง
ดับหายไป ที่หมายถึง จากการที่เคยมีอยู่ก่อน แล้วจึงมาหายไปในภายหลัง

สรุปแล้วกฎสูงสุดของธรรมชาตินี้จะบอกว่า เมื่อมีเหตุ จึงมีผล เมื่อไม่มีเหตุ ก็ไม่มีผล อันเป็นหลักของวิทยาศาสตร์นั่นเอง แต่เราก็ต้องเข้าใจความจริงว่า การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นมาได้นั้น มันไม่ใช่จะมีเหตุเพียงเหตุเดียวมาปรุงแต่งขึ้น เพราะความจริงแล้วมันจะมีเหตุมากมายมาร่วมกันปรุงแต่งขึ้น ซึ่งเหตุมากมายนี้เองที่เราเรียกรวมๆกันว่า เหตุและปัจจัย (หรือเหตุปัจจัย) คือเหตุที่ดูว่าสำคัญหรือใหญ่ที่สุด เราจะเรียกว่า เหตุ ส่วนเหตุย่อยๆที่เหลือทั้งหมดเราจะเรียกว่า ปัจจัย อย่างเช่น เมื่อเราเคาะระฆัง (คือเหตุ) ก็จะเกิดเสียงระฆังขึ้นมา (คือผล) ซึ่งการเคาะระฆังนั้นเรียกว่าเป็น เหตุ ส่วนตัวระฆัง ไม้เคาระฆัง และอากาศที่เป็นสื่อของเสียง นั้นเรียกว่า ปัจจัย เป็นต้น

อีกอย่าง เมื่อเหตุทำให้เกิดผลแล้ว ผลนั้นก็ยังจะกลายมาเป็นเหตุหรือปัจจัยไปปรุงแต่งให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก จึงทำให้เกิดการปรุงแต่งผลักดันกันของเหตุ-ผล, เหตุ-ผล, เหคุ-ผล ต่อๆกันไปเหมือนสายโซ่อย่างหยุ่งเหยิงสลับซับซ้อน จนเราไม่สามารถไปล่วงรู้ถึงเหตุและผลของทุกสิ่งได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเพราะเราไม่สามารถไปล่วงรู้ถึงเหตุและผลที่แท้จริงของบางสิ่งได้นี่เอง ที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจผิดว่ามีสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เช่น เทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แต่ถ้าเราจะเข้าใจถึงเรื่องการปรุงแต่งผลักดันกันของเหตุและผลตามกฏสูงสุดของธรรมชาตินี้แล้ว เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า มันก็เป็นของธรรมดาของมันเช่นนั้นเอง คือไม่ได้มีอะไรที่จะอยู่นอกเหนือเหตุและผลตามกฏสูงสุดของธรรมชาติเลย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่