เลิกเรียกว่า "มหาชัยเมืองเก่า" เถอะครับ

เมื่อสักครู่ดูรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ได้ยินคุณไบร์ทพูดถึงข่าวอุบัติเหตุทางถนนที่รายงานว่ารถที่เกิดอุบัติเหตุกำลังเดินทางไปส่งของที่ตลาด "มหาชัยเมืองเก่า"

[อ้างอิงจากนี่นะครับประมาณช่วง 1:03:00 ครับ http://morning-news.bectero.com/v3/main.php]

ในฐานะคนที่อยู่ที่นั่นมาตั้งแต่เด็ก ผมอดรู้สึกขัดหูไม่ได้ดังที่ผมจะชี้แจงต่อไปนี้

แต่เดิมบริเวณแถวบ้านผมเขาเรียกว่า "ตลาดมหาชัย" ซึ่งเป็นตลาดเก่าอยู่ริมถนนสายสั้น ๆ เลียบคลองมหาชัย (คลองเดียวกับที่พระเจ้าเสือทรงโปรดให้ขุดนั่นแหละครับ) บริเวณใกล้กับคุ้งน้ำที่บรรจบกับแม่น้ำท่าจีนแล้วไหลรวมกันออกทะเล ตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งรวมอาหารทะเลทั้งของสดของแห้งมาตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อชุมชนนี้เจริญขึ้นก็มีการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อตลาดแห่งนี้ไปยังท่าเรือคลองสานที่กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลำเลียงอาหารทะเลจากสมุทรสาครมายังพระนครในเวลานั้น (ปัจจุบันรถไฟสายนี้ถูกตัดให้มาถึงแค่สถานีวงเวียนใหญ่) เส้นทางรถไฟนี้มีอายุเก่าแก่มากกว่า 100 ปี แสดงว่าชุมชนแห่งนี้ได้เจริญมานานผ่านร้อนหนาวมานานมากแล้ว (รถไฟสายนี้ต่อมามีการสร้างต่อไปยังปลายทางสถานีแม่กลอง แถว ๆ ตลาดร่มหุบนั่นแหละครับ เป็นเส้นทางรถไฟสายเดียวในเมืองไทยที่ถ้าต้องการนั่งตลอดสายจะต้องข้ามเรือจากมหาชัยไปสถานีบ้านแหลมเพื่อเดินทางต่อไปแม่กลอง)

ต่อมาตัวเมืองมหาชัยเจริญขึ้นมีการขยายตัวของเมืองและมีการซ่อมแซมและขยายถนนพระรามสอง (แต่ก่อนเรียกว่า ถนนธนบุรี-ปากท่อ) ซึ่งแต่เดิมเป็นเส้นทางที่ไม่ค่อยนิยมเพราะพื้นผิวจราจรไม่ค่อยดีและมักจะชำรุดเนื่องจากน้ำท่วม การซ่อมแซมในครั้งนั้นทำให้เส้นทางคมนาคมหลักระหว่างมหาชัยกับกรุงเทพมหานครเปลี่ยนจากทางรถไฟไปเป็นทางถนนดังทุกวันนี้ มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายดังกล่าวที่มีตลาดขนาดเล็ก ๆ ตั้งอยู่หน้าทางเข้า ตั้งชื่อว่า "มหาชัยเมืองใหม่" ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองมหาชัยประมาณ 5 - 6 กิโลเมตร

การเติบโตของเมืองมหาชัยส่วนหนึ่งก็มาจากการที่คนต่างถิ่น ซึ่งไม่เพียงจะมาจากต่างจังหวัด แต่ยังมีชาวมอญ ชาวพม่า แขก มาทำมาหากินในเมืองมหาชัยมากขึ้น ส่วนใหญ่เพื่อมาเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมและประมง จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นชุมชนที่มีชาวต่างชาติมาอยู่อย่างคับคั่ง

มีครั้งหนึ่งผมเดินออกกำลังกายไปแถววัดกำพร้าเนื่องจากเป็นเวลาเย็นมาก ผมเลยตัดสินใจขึ้นรถสองแถวกลับ ตอนผมนั่งรถเห็นคนในรถพูดจากกันแต่คุณทราบไหม มีคนเดียวในรถที่ไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกันซึ่งก็คือผมเอง นอกจากนี้แถวบ้านผมยังเป็นที่แรกที่มี ATM ที่มีภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาพม่า อยู่ด้วยกันในเครื่องเดียวกัน มีห้างสรรพสินค้าที่ขายของจากพม่า

การที่คนต่างถิ่นมาอยู่ในชุมชนจำนวนมาก ประกอบกับการคมนาคมที่เจริญตามแนวถนนพระรามสอง อาจเพราะความไม่เข้าใจที่มา เพื่อความสะดวก หรือเพื่ออะไรอย่างอื่น วันหนึ่งที่ผมกลับบ้าน ผมก็พบคำใหม่ที่ในชีวิตผมไม่เคยรู้มาก่อนจากป้ายรถสองแถว และรถ บขส. นั่นคือ "มหาชัยเมืองเก่า" ผมเกิดอารมณ์ culture shock ในบ้านตัวเอง แต่ก่อนผมเคยได้ยินว่ามีแต่คนอยุธยาเท่านั้นที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนกรุงเก่า แต่วันนั้นที่ที่ผมอยู่มาตั้งแต่เด็กที่เรียกกันว่า "ตลาดมหาชัย" หรือ "ตลาดยายพ่วง" (ตามเพลง วอนแฟนเพลง https://www.youtube.com/watch?v=jDa9bUplM-Y ของ ชาตรี ศรีชล) กลับถูกเรียกตามหมู่บ้านที่เพิ่งเกิดให้เป็น "เมืองเก่า"

เพื่อรักษาชื่อบ้านนามเมืองแต่เดิมที่มีประวัติเป็นมายาวนานเอาไว้ ผมอยากรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนและสื่อมวลชนเพื่อให้รักษาชื่อ "ตลาดมหาชัย" เอาไว้และเลิกใช้คำว่า "มหาชัยเมืองเก่า" ที่เป็นชื่อที่ชวนให้เข้าใจผิดพลาดนี้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่