ปรัชญา ศาสนาและจิตวิญญาณใน Star Wars : การปะทะกันของเทคโนโลยี



การปะทะกันของเทคโนโลยี
ผมเคยลุย Episode II เสียเละว่าไม่มี Emotion ของ Star Wars แบบเดิมๆ ที่เด็กๆ เคยชื่นชอบ ดูเหมือนว่า STAR WARS Episode II นี้แทบจะหาดีไม่ได้..จริงๆแล้วก็ไม่เชิงหรอก

แค่อยากบอกว่าใน Episode II มีเนื้อหาที่น่าจะสร้างพลังในแง่ของความเป็นหนังดราม่าได้เยอะ เช่น เรื่องความขัดแย้งระหว่าง ศิษย์-อาจารย์ ความรักต้องห้ามหรือการเมืองระดับจักรวาล หากแต่การกำกับ “การแสดง” ที่เรียบๆ ของลูคัส แทบไม่ได้นำเสนอสิ่งเหล่านี้ออกมาได้อย่าง “มีศิลปะภาพยนตร์” เลย..
นั่นเป็นด้านมืดของ Episode II

เป็นสัจธรรมครับ เมื่อมีด้านมืด ก็ย่อมมีด้านสว่าง..

อะไรที่เป็น “ด้านสว่าง” ด้านดีๆของ Episode II น่าจะเป็นหลากหลายประเด็นที่ลูคัสแฝงเร้นไว้ในบทภาพยนตร์ของเขา.. เช่น ที่สภาเจไดมอง “เคาน์ดูกู” หรือ ซิธลอร์ดไทรานัส อดีตเจไดลูกศิษย์ก้นกุฏิของโยดาว่าเป็น “นักอุดมคติทางการเมือง ไม่ใช่นักฆ่า” มันชวนให้นึกไปถึงใครบางคนแถวตะวันออกกลางที่ถูกระบุจากผู้มีศรัทธาเดียวกันว่าเป็น “นักอุดมคติทางศาสนาหาใช่ผู้ก่อการร้ายไม่”

มีคนเคยเปรียบเทียบ “ดาร์ธ เวเดอร์” ที่ปรากฏใน Episode IV-V ว่าเป็น “ฮิตเลอร์” ก็นึกสงสัยว่าผู้ร้ายของไตรภาคแรกหรือพวก “ซิธ” ที่มีกันอยู่แค่ “ศิษย์-อาจารย์” 2 คนจะเปรียบเหมือนใคร?
ใครจะไปรู้........ซิธแค่ 2 คนที่ทำเอาสาธารณรัฐล่มสลาย โดยที่สภาเจไดไม่อาจระแคะระคายได้ก่อนล่วงหน้า..

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ภาพสะท้อนของเทคโนโลยีที่เข้าคุกคามจักรวาล..(หรืออาจคุกคามเราในอนาคตอันใกล้) มีผู้วิเคราะห์ไว้ตั้งแต่ไตรภาคก่อนว่า
ลูคัสเป็นฝ่าย “ธรรมชาตินิยม” ที่แอบต่อต้านเทคโนโลยีนิดๆ ทั้งที่หนังของเขาเต็มไปด้วยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์

“ลุค” ปิดเครื่องนำวิถีหันมาใช้ “พลัง”ยิงถล่มดาวมรณะใน “The New Hope”
เผ่าพันธุ์ “อิวอค” ที่เลือกใช้อาวุธโบราณอย่างก้อนหิน เถาวัลย์ใน “The return of Jedi”
สงครามระหว่าง “ชาวกันแกน” กับ “กองทัพหุ่น” ใน The Phantom Menace ที่ฝ่ายชาวกันแกนเลือกที่จะใช้ ก้อนพลังงานเป็นโล่ และอาวุธแทนปืนที่ทันสมัย หรือการติดเครื่องกำเนิดเกราะสนามแม่เหล็ก (บาเรีย) บนหลังสัตว์ที่คล้ายไดโนเซอร์

สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนคำพูดของ “โจเซฟ แคมป์เบลล์” ที่ได้เดินทางไปเยือนไร่สกายวอล์คเกอร์ว่า
“ลูคัสได้เล่าเรื่องราวอมตะเกี่ยวกับวีรบุรุษในรูปแบบใหม่สุดและทรงพลังมากที่สุด
ลูคัสตกแต่งสาระสำคัญด้วยสำนวนสมัยใหม่เพื่อที่จะบอกว่า เทคโนโลยี ไม่อาจช่วยเราได้ คอมพิวเตอร์ของเรา เครื่องจักรกลไกของเราน่ะไม่พอหรอก เราต้องพึ่งพาอาศัยสัญชาตญาณของเรา ต้องอาศัยตัวตนที่แท้จริงของเรา”

ใน “Clones” ลูคัสเหมือนจะก้าวไปอีกขั้น มองเห็นอนาคต “การห่ำหั่น” กันเองระหว่าง “เทคโนโลยี” ๒ แขนง “หุ่นยนต์” และ “โคลนนิง”
ชาวคามิเนียนคอยาวยีราฟที่เชี่ยวชาญเรื่องการโคลนสิ่งมีชีวิตบอกว่า “ตัวโคลนส์เหนือกว่าหุ่นยนต์เพราะคิดได้” หรือคำกล่าวของหุ่นยนต์ C3PO กระแหนะกระแหนหุ่นยนต์ด้วยกันว่า “เครื่องจักรเป็นเรื่องวิตถาร” เหล่านี้ยังสะท้อนความคิดเชิง “ธรรมชาตินิยม” ของลูคัสอยู่..

สงครามระหว่าง “กองทหารโคลนส์” กับ “กองทัพหุ่น” อาจไม่ใช่ภาพที่นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระลึกถึง เท่าที่รู้วิทยาการทั้ง 2 แขนงนี้ถูกพัฒนาไปมากในปัจจุบัน หลังจากโคลนนิงตัวอ่อนมนุษย์ได้เสร็จสรรพ (New Scientist,Dec.2001)

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีก็ยังดึงดันประกาศจะโคลนนิงคนออกมาให้ได้ ส่วนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ศาสตร์นั้นแม้ข่าวจะไม่ฮือฮาเท่า แต่การเสนอไอเดียใหม่ๆ ในการสร้าง “จิตประดิษฐ์” หรือ A.I. ซึ่งเป็น “หุ่นยนต์ที่คิดได้” ก็มีออกมาอย่างสม่ำเสมอ...หรือการพยายามสร้าง “เครื่องจักรที่ผลิตซ้ำตัวมันเองได้” (artificial self repliator ใน Scientific American,Aug.2001) ก็มีปรากฏตามหน้านิตยสารวิทยาศาสตร์สำหรับชาวบ้าน

คงจำกันได้ถึงบทความอันลือลั่นของ “บิล จอย” ที่เคยบอกว่า “นาโนเทคโนโลยี” “วิทยาการ” “หุ่นยนต์” และ “พันธุศาสตร์วิศวกรรม” จะทำให้ “มนุษย์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับอนาคต” (Why the future doesn’t need us www.wired.com/wired/archive/8.04/joy.html)

มันก็เป็นไปได้ว่า ฝ่ายจิตวิญญาณ (อย่าง “เจได”) จำเป็นต้อง “พึ่งพิง” หรือไม่ก็ “พ่ายแพ้” ต่อเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เหมือนกัน..
ดูอย่างนี้ Episode II มันเหมือน “ภาพพยากรณ์” ถีงเภทภัยแห่งเทคโนโลยีได้ในระดับหนึ่ง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่