เผยเคล็ดลับจาก ‘อุมาริการ์’ ปั้นแต่งนิยายขายดีสู่ละครโทรทัศน์

เผยเคล็ดลับจาก ‘อุมาริการ์’ ปั้นแต่งนิยายขายดีสู่ละครโทรทัศน์
     อดีตสาวออฟฟิศหน้าตาสดใส น้ำเสียงฉะฉาน ท่าทางกระฉับกระเฉง เธอเคยทำหน้าประสานงาน ด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศของบริษัทแห่งหนึ่ง เริ่มต้นอ่านนิยายครั้งแรกเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ ทำให้
    ‘อุมาริการ์’ หรือ ‘อุมาพร ภูชฎาภิรมย์’ หลงรักตัวอักษร ถึงกับหันหลังให้งานประจำ ก้าวสู่อาชีพนักเขียนเต็มตัว เธอสร้างสรรค์งานแนวโรแมนติก – คอมเมดี้, ดราม่า และแนวพีเรียดหลายเล่ม อย่างเช่น สร้อยสะบันงา, เพลิงฉิมพลี ทั้งสองเรื่องกำลังจะลงจอทางไทยทีวีสีช่อง 3 ในเร็ว ๆ นี้
    และอีกหนึ่งบทบาทของเธอที่สร้างผลงานหลากหลายรสชาติออกสู่สายตาผู้ชมมาแล้ว กับบทละครเรื่องนางฟ้ากับมาเฟีย, ศัตรูคู่ขวัญ, บุษบาเร่รัก, สองเสน่หา, บอดี้การ์ดแดดเดียว ฯลฯ ผู้หญิงมากความสามารถ มีเคล็ดลับในการเขียนนิยายขายดี จนไปสู่การเป็นละครโทรทัศน์ได้อย่างไร ‘นัดพบนักเขียน’มีคำตอบมาฝาก

All : จุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘อุมาริการ์’ อยากเป็นนักเขียนคืออะไร
อุมาริการ์ :  เริ่มตั้งแต่เด็ก ๆ เราชอบอ่านหนังสือแล้วก็มีความสุขกับมัน และจะมีบางเล่มที่ตอนจบไม่ถูกใจ หรืออ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากจะแต่งขึ้นมาบ้าง จึงเกิดการเลียนแบบ และบางครั้งก็ได้ไอเดียจากคนอื่นมาต่อยอดความคิด ก็เลยลองเขียนนิยาย สารคดี และบทละครโทรทัศน์มาเรื่อย ๆ

All : นามปากกา ‘อุมาริการ์’ มาจากไหน
อุมาริการ์ : ‘อุมาริการ์’ มาจากชื่อจริงบวกกับนามปากกาเก่า ชื่อจริง ‘อุมาพร ภูชฎาภิรมย์’ นามปากกาเก่าชื่อ ‘กุมาริกา’ เป็นนามปากกาที่ใช้มาตั้งแต่อายุ 11 ปี แล้วก็มีช่วงหนึ่งหยุดเขียนหนังสือไป เขียนประมาณ 4 เล่ม กับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และตีพิมพ์ในนิตยสารดิฉันเรื่อง ‘คืนฟ้าพร่างดาว’ ก็ใช้นามปากกานี้ จากนั้นก็หยุดเขียนไป และกลับมาเขียนอีกครั้งได้ลองเปลี่ยนนามปากกามาเป็น ‘อุมาริการ์’ จนถึงปัจจุบัน

All : ทราบมาว่า เคยเขียนบทละครโทรทัศน์อยู่หลายปี อะไรที่ทำให้เปลี่ยนใจกลับมาเขียนนิยายอีกครั้ง
อุมาริการ์ : การเขียนบทละครโทรทัศน์จะมีคำพูดหนึ่งของคุณปราณประมูล (ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์) เคยสอน ไว้ว่า ‘เก่งอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องอึดด้วย’ ตอนแรกไม่เชื่อ แต่ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง การทำงานในวงการโทรทัศน์แม้จะทำเงินให้เรา แต่เป็นงานที่เหนื่อยมาก มองดูแล้วอาจจะได้เงินมาง่าย ๆ ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นงานที่ควบคุมเวลาไม่ได้เลย และที่สำคัญสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ต้องดูแลครอบครัวด้วย ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมันยากลำบากไป ก็น่าจะทำอย่างอื่น ที่ได้ใช้ความรู้จากการเขียนบทละครโทรทัศน์ จึงกลับมาเขียนนิยายอีกครั้ง

All : ความรู้ที่ได้จากการเขียนบทละครโทรทัศน์ มีส่วนช่วยในการเขียนนิยายอย่างไรบ้าง
อุมาริการ์ : บอกตรง ๆ ว่ามีส่วนช่วยอย่างมาก การทำละครโทรทัศน์ที่ดีจะต้องทำให้คนดูลุ้น มีอารมณ์ร่วม เช่น เปิดฉากมาดีใจ ฉากจบผิดหวัง เพื่อให้คนดูได้ลุ้นตามความรู้สึกของตัวละคร สิ่งเหล่านี้เราเอามาใส่ในการเขียนนิยายได้ ถ้าไปดูงานเก่า ๆ ประมาณ 4 - 6 เล่ม ก็จะแตกต่างกับงานปัจจุบัน และจุดหนึ่งที่ไปเรียนเขียนบทละครโทรทัศน์ก็คือ มีผู้จัดมาติดต่อให้เราเขียนบท แล้วเขาก็หายไป ก็เลยสงสัยว่า เรื่องของเราไม่สนุกสนานหรือเปล่า จึงอยากไปเรียนเขียนบทเพื่อพัฒนาต่อไป และเมื่อมาเขียนนิยายก็มีช่วงหนึ่งจะไม่อ่านนิยายไทย เพราะมีความรู้สึกว่าเนื้อเรื่องวนเวียน คือมีโครงเรื่องหลัก แต่ไม่มีสถานการณ์ปลีกย่อย หรือสถานการณ์อื่น ๆ ให้เรารู้สึก มีอารมณ์ร่วมกับตัวละคร จากประสบการณ์ทำให้รู้ว่า การเขียนนิยายให้ดีไม่จำเป็นต้องกลายเป็นบทละครโทรทัศน์เสมอไป เพราะการนำเสนอในรูปแบบงานเขียน และนำเสนอเป็นภาพจะไม่เหมือนกัน

All : นิยายแต่ละเรื่องของ ‘อุมาริการ์’ ใช้เวลาเขียนนานแค่ไหน
อุมาริการ์ : โดยประมาณก็ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน บางเรื่องก็ 6 เดือน เช่น เรื่องเพลิงฉิมพลีก็ประมาณ 8 เดือน เริ่มตั้งแต่วางโครงเรื่อง แล้วมาคุยกับบรรณาธิการบริหารว่า เราจะนำเสนอเรื่องแบบนี้นะ จากนั้นก็ไปเก็บข้อมูล แล้วเขียน และตรวจต้นฉบับ อย่างเรื่องเพลิงฉิมพลีจะมีฉากแรกที่นางเอกเข้าไปอยู่ในบ้านของพระเอก แล้วก็หายตัวไป คนก็บอกว่าผีมาเอาตัวไป ฉากนี้พี่ติดอยู่เป็นเดือน เพราะไม่รู้จะอธิบายอย่างไร คือเป็นเรื่องของความเชื่อพื้นบ้าน จนกระทั่งแฟนคลับพาไปพบเพื่อนของคุณมาลา คำจันทร์ จึงได้พูดคุยเรื่องวัฒนธรรมทางเหนือ เช่น เรื่องผีและภาษาเหนือ นิยายเรื่องนี้ก็เสร็จสมบูรณ์ได้

All : มีวิธีเขียนเรื่องแนว ‘พีเรียด’ อย่างไร
อุมาริการ์ : การดูรูปภาพเก่า ๆ ก็จะช่วยได้ เช่น ตอนเขียนเรื่องทะเลทราย เราไม่เคยอยู่ในวิถีชีวิตแบบนั้น วิธีศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นคือ ต้องไปซื้อหนังสือที่ต่างชาติเขารวมภาพคนตะวันออกกลางในแต่ละยุค หรือหาหนังสารคดีมาดูเยอะ ๆ ก็จะช่วยให้เราเห็นภาพในอดีตมากขึ้น

All : อุมาริการ์ เขียนนิยายหลากหลายแนว เช่น แนวโรแมนติก แนวพีเรียด ฯลฯ ชื่นชอบการเขียนแนวไหนเป็นพิเศษ
อุมาริการ์ : ตอนแรกมาจากนิยายสายลับประมาณ 4 เรื่อง แล้วก็มีเรื่องสืบสวนสอบสวน เอาเป็นว่าพี่ชอบนิยายที่เขียนแล้วหักมุม ซ่อนปม สืบค้น แต่ว่าพี่ก็ชอบเขียนพีเรียดนะ ก็มีโครงการว่าจะเขียนแนวพีเรียดสมัยศรีสัชนาลัย เป็นช่วงที่ศรีสัชนาลัยเปิดแล้วก็เชื่อมกับขอม สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็จะมีการเชื่อมประวัติศาสตร์ระหว่างพ่อขุนบางกลางหาว (ขุนศรีอินทราทิตย์) กำลังศึกษาจากหลักศิลาจารึก และภาพถ่าย แต่รู้สึกว่ายังไม่ตกผลึก



            เผยเคล็ดลับจาก ‘อุมาริการ์’ ปั้นแต่งนิยายขายดีสู่ละครโทรทัศน์

All : ‘เพลิงฉิมพลี’ นิยายสะท้อนชีวิตชาวล้านนา วางโครงเรื่องอย่างไรให้สามารถนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ได้
อุมาริการ์ : พูดตรง ๆ เลยว่าไม่ได้เขียนเพื่อจะเป็นบทละครโทรทัศน์ เพราะถ้าคิดแบบนั้นแล้วจะไม่สนุก เนื่องจากในเรื่องเพลิงฉิมพลีจะมีปางช้าง มีดอกงิ้ว มีฉากที่พี่คิดว่าเป็นจุดเด่นของเรื่องและเป็นฉากบังคับ ซึ่งผู้จัดอาจจะต้องลำบากอยู่สักหน่อย การเขียนบทละครจะมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่างเหมือนกัน ซึ่ง พี่ประวิทย์ สุขวณิช บรรณาธิการบริหารก็บอกกับเราว่า ไม่ค่อยมีแนวลึกลับปราสาทมืดออกมาเลย ก็เลยอยากลองเขียน และเป็นคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมทางเหนือ อย่างเรื่อง ‘สร้อยสะบันงา’ ข้อมูลละเอียดเพราะคนที่เล่าให้ฟังเป็น คุณตาของพี่เอง เนื่องจากเป็นชีวิตของท่าน พี่ก็จะรู้ทุกสิ่งที่ท่านเล่ามา สามารถบรรยายคลองบางกะปิได้ แต่เรื่อง ‘เพลิงฉิมพลี’ ด้วยความที่พี่ไม่ใช่คนเหนือ ก็เป็นเรื่องยากมาก ถ้าเราไม่ได้โดดเด่นในเรื่องชีวิตประจำวัน   เราจะทำอย่างไรให้เรื่องสนุกสนาน คนอ่านไม่รู้สึกเสียดายที่จะจ่ายเงินมาซื้อหนังสือ ก็เลยผูกปมให้ค้นหาว่า  ใครเป็นฆาตกร โดยมีฉากแบบชาวล้านนา พี่จินตนาการว่าน่าจะอยู่ในช่วงปี 2501 จะมีเรื่องของแพไม้ และกำลังจะสร้างเขื่อนภูมิพลซึ่งไม่สามารถล่องแพมาถึงกรุงเทพได้อีก ก็ต้องไปศึกษาวิธีการลากแพ และโชคดีที่มีเพื่อนช่วยหาข้อมูลให้

All : มีเทคนิคในการสร้างตัวละครอย่างไรบ้าง
อุมาริการ์ : ดูจากรูปภาพถ่าย และดูละคร เช่น เรื่อง ‘เพลิงฉิมพลี’ ที่ให้นางเอกเป็นลูกครึ่งก็เพราะไปอ่านข้อความของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเขียนถึงลูกครึ่งในสมัยนั้น จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะเป็นลูกเมียน้อยของพ่อเลี้ยง เนื้อนาง ในเรื่องนี้ก็เลยเป็นลูกครึ่ง และพระเอกของก็เป็นเจ้าของปางไม้ ก็จินตนาการว่าต้องมีกล้ามใหญ่ ๆ ร่างกายบึกบึนแข็งแรง หรือการบรรยายนิสัยตัวละคร พี่จะชอบดูละครแขก สังเกตทรงผม ท่าทาง นิสัย แววตา สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยสร้างตัวละครในนิยายได้

All : ชุด ‘ดวงดอกไม้’ ที่เป็นนิยายเชิดชูความเป็นหญิงจากนักเขียนสามท่าน เกิดจากแนวคิดอะไร
อุมาริการ์ : เริ่มต้นจากพี่ประวิทย์ สุขวณิชอยากจะทำนิยายเชิดชูความเป็นแม่ขึ้นมาสักชุด เลยติดต่อนักเขียนสามท่านคือ อุมาริการ์ ณารา ปิ่นปินัทธ์ มาคุยกัน แต่อยากจะให้แตกต่างจากซีรีส์ที่เคยเขียน จึงเป็นเรื่องของผู้หญิงสามรุ่น แล้วเกี่ยวโยงด้วยสถานภาพความเป็นแม่

All : ‘สร้อยสะบันงา’ ซึ่งเป็นหนึ่งในนิยาย ‘ชุดดวงดอกไม้’ ได้แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากไหน
อุมาริการ์ : คุณตาท่านเล่าให้ฟัง เพราะครอบครัวของท่านเป็นกบฏ ที่หนีออกมาอยู่นอกพระนคร แถวทุ่งบางกะปิ ก็เลยอยากจะเขียนประวัติศาสตร์ของครอบครัว จึงมาเป็นเรื่อง ‘สร้อยสะบันงา’

All : อุปสรรคของการทำงานเขียนเป็นทีมคืออะไร
อุมาริการ์ : การทำงานเป็นทีมถือว่าท้าทาย ตอนเขียนบทละครโทรทัศน์ก็เขียนเป็นทีมอยู่แล้ว บางทีเรื่องหนึ่งเขียนสองคน ก่อนเขียนบทละครต้องไปละลายพฤติกรรมด้วยกัน นั่งคุยกับเจ้านายทุก ๆ ตอน เวลาที่เราเขียนงานร่วมกับเพื่อน ทำให้เราเห็นวิธีการเขียนของเขา เราได้รู้ว่าเพื่อนคนนี้เขียนเก่ง หรือเวลามีปัญหาก็สามารถปรึกษาเพื่อนได้ แต่ถ้าเราเขียนคนเดียวบางทีเราก็ไม่กล้ารบกวนคนอื่น

All : ในฐานะนักเขียนรุ่นใหม่ มีความคิดเห็นอย่างไร เมื่อนิยายที่เขียน ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ แล้วปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้มีสีสันมากขึ้น และจะมีผลต่อการเขียนนิยายในอนาคตไหม
อุมาริการ์ : ตอนนี้ขายนิยายไปทำละครแล้ว 5 เรื่อง กำลังอยู่ในกระบวนการดำเนินงาน ในฐานะที่ตัวเองเป็นคนเขียนบทละครโทรทัศน์มาก่อน ก็ยอมรับได้ในการเปลี่ยนแปลงของเนื้อหา เพราะว่าบางครั้งสิ่งที่เราใส่ลงไปในนิยายเมื่อกลายเป็นภาพอาจจะไม่ได้ตรงตามที่บรรยาย ต้องปรับเนื้อหาให้คนดูเข้าใจ การนำเสนอความคิดในรูปแบบงานเขียนอาจจะไม่เป็นอะไร แต่ถ้าสื่อเป็นภาพอาจจะแรงมาก ศาสตร์สองส่วนนี้ไม่เหมือนกัน กลวิธีเล่าเรื่องจะเป็นคนละอย่าง ดังนั้นไม่ได้มีผลต่อการเขียนนิยายครั้งต่อไป การเขียนนิยายแล้วสามารถนำไปสร้างเป็นละคร ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเราส่งลูกไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัย แล้วลูกเรียนจบได้ทำงานตามที่ฝัน ส่วนเรื่องของคนอ่านถ้ามีการท้วงติงว่าเนื้อหาไม่เหมือนในนิยาย พี่ก็จะต้องรับฟังแล้วปรับปรุงแก้ไข

All : ฝ่าฟันอุปสรรคอย่างไรจึงก้าวสู่นักเขียนอาชีพได้
อุมาริการ์ : ก็ต้องระมัดระวังในการพูดจา บางทีเขาวิจารณ์งานของเราก็มีท้อใจบ้าง แต่ก็ต้องดูว่าเขาพูดจริงหรือเปล่า ถ้าคนตำหนิในสิ่งที่พลาดจริง ๆ พี่ก็ยอมรับ แต่บางคนวิจารณ์มาแบบลอย ๆ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของเขา จะไม่โต้ตอบอะไร การเป็นนักเขียนต้องมีขันติ ยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และต้องอยู่กับตัวเองเยอะ ๆ เราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของวงการนี้ด้วย เพราะงานอาจจะขายไม่ได้ อย่าไปคาดหวัง การทำงานด้านนี้ต้องมีใจรัก   ถ้าใจไม่รักเป็นนักเขียนไม่ได้หรอก และเป็นอาชีพที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้เงิน ปัจจุบันโลกเจริญเติบโตไปข้างหน้าวงการวรรณกรรมควรหมุนเวียนในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่

All : อยากให้ ‘อุมาริการ์’ ช่วยแนะนำเคล็ดลับการเขียนนิยายให้ประสบความสำเร็จ
อุมาริการ์ : การเป็นนักเขียนต้องสร้างวินัยอย่างเคร่งครัด และหมั่นค้นคว้าหาความรู้จากการอ่าน การฟัง ดูละคร เพื่อแตกยอดความคิด และกลเม็ดเคล็ดลับการเขียนนิยายที่ดีต้องมี ‘คารมคมคาย บทบรรยายสละสลวย สถานการณ์ที่โดนใจ’ หากนิยายหนึ่งเล่มมีองค์ประกอบเหล่านี้สักสองในสาม ก้าวแรก ๆ ของนักเขียนมือใหม่ ก็น่าจะประสบความสำเร็จแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่