บุญภายนอก-บุญภายใน : ท่านพ่อลี ธัมมธโร



พระอาจารย์ลี ธัมมธโร
วัดอโศการาม
อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
แสดงพระธรรมเทศนา ณ วัดเขาแก้ว จ.จันทบุรี
เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๖


...

"สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย"
ผู้สั่งสมบุญย่อมนำมาซึ่งความสุข


"บุญภายนอก" เปรียบเหมือนเปลือกผลไม้ เช่น ขนุน
มะม่วง ทุเรียน  เป็นต้น "บุญภายใน" เปรียบเหมือนเนื้อหนัง
เราจะอาศัยบุญภายในอย่างเดียวหรือภายนอกอย่างเดียว..ไม่ได้
จะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน  
ผลไม้ถ้าไม่มีเปลือกนอก
ก็เป็นเนื้อเป็นหนังขึ้นมาไม่ได้ หรือมีแต่เปลือกไม่มีเนื้อใน
ก็กินไม่ได้ฉะนั้น  "บุญภายนอกจึงต้องอาศัยบุญภายใน" ด้วย
เป็นการช่วยเหลือกัน แต่ "คุณภาพ" ต่างกัน
บุญภายนอกเป็นเครื่องห่อหุ้มบุญภายใน

"บุญภายนอก" ได้แก่ วัตถุ กายต้องอาศัยวัตถุ
อาหารเรียกว่าปัจจัยสี่แต่จะเป็นสุขเพราะอาหารอย่างเดียวก็ไม่ได้
ถ้าเรากินแต่อาหารแล้วไม่นุ่งผ้าหรือไม่มีที่อยู่อาศัย
ต้องเปียกน้ำเปียกฝน ฯลฯ หรือเจ็บไข้ไม่มียารักษาก็เป็นทุกข์
ตัวเราคือ ธาตุสี่นี้จำต้องอาศัยวัตถุภายนอก คือ ปัจจัยสี่ ด้วย
จึงจะประกอบบุญกุศลได้สำเร็จเต็มที่  
เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้บริจาควัตถุเหล่านี้

ก็จะสำเร็จประโยชน์ชาตินี้และเบื้องหน้า

"บุญภายใน" ได้แก่ การดัดตัวของเราเองให้เป็นบุญกุศล
ตัวเราเปรียบเหมือนต้นไม้ในป่า เช่น ต้นตะโก
ถ้าเรานำมาใส่กระถาง ดัดแปลงกิ่งก้านให้สวยงามก็จะมีราคาสูงขึ้น
คนที่ไม่ดัดกายวาจาใจของตัวเองก็เรียกว่า เป็นคนที่มีราคาต่ำ
เราควรดัดมือดัดแขนให้รู้จักไหว้กราบพระ ดัดเท้าให้รู้จักเดินไปวัด
ดัดหูให้รู้จักฟังธรรมและคำที่เป็นคุณเป็นประโยชน์  
ดัดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราให้สิ่งที่ไหลเข้าไป
ล้วนแต่เป็นบุญกุศล จมูกก็อย่าหายใจเปล่า
ให้หายใจเอา "พุทโธ" เข้าออกเหมือนกับน้ำ
ที่ไหลเข้าไปในร่างกาย  ใจเราก็จะเย็นสบาย เป็นสุข

ปากก็หมั่นสวดมนต์ภาวนา อย่าด่าแช่งเสียดสีหรือพูดเท็จต่อใคร  
กล่าวแต่สิ่งที่เป็นธรรมและไม่ดื่มเหล้าเมายา
ให้เก็บบุญเอาตามตัวของเรา มีมือ เท้า แขน ขา
ตา หู จมูก ลิ้น  เหล่านี้เป็นต้น

ส่วน "แก่นของบุญ" นั้นคือ "ใจ" ต้องทำใจของเรา
ให้สงบระงับจากโลภะ โทสะ โมหะ

ทางอายตนะนั้นเปรียบด้วยเปลือกหรือกระพี้
ก็ทำประโยชน์ได้เหมือนกันถ้าตัวเรารู้จักสะสมความดี
ก็เป็นประโยชน์แก่ตัว  

...

คัดลอกเนื้อหาจาก
หนังสือแนวทางวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน, พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร.
โดยชมรมกัลยาณธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๕๒. หน้า ๘๑-๘๓
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่