ปรัชญา ศาสนาและจิตวิญญาณใน Star Wars : โหมโรงแห่งสงครามระหว่างดวงดาว


โหมโรงแห่งสงครามระหว่างดวงดาว

"ความขัดแย้ง" เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทุกที่ และทุกคน แม้กระทั่งในใจของตน เกิดขึ้นได้แม้กระทั่ง "ศาสนาและจิตวิญญาณ"

            ช่วงที่ “ยอร์ช ลูกัส” รอเวลาที่จะสร้างไตรภาคแรก (episode 1-3) ในมหากาพย์ “STAR WARS” อยู่นั้น (ด้วยเหตุผลเรื่องความพร้อมทางเทคนิคพิเศษทั้งการถ่ายทำและคอมพิวเตอร์กราฟฟิคที่ต้องการให้ถึงขีดสุดจนสามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้)

            ลูกัสได้ปล่อยให้นักเขียนมากมายต่อเติมจินตนาการในจักรวาล STAR WARS ของเขาออกไปทั้งรูป นิยาย การ์ตูน หรือเกม.. เช่น นิยาย “The Shadow of the Empire” ของ สตีฟ เพอร์รี่ ที่เป็นรอยเชื่อมต่อระหว่าง episode 5 กับ episode 6 ซึ่งเผยด้านสว่างของดาร์ธ เวเดอร์ ออกมามากขึ้น......

            หรือ นิยายไตรภาคของทิโมธี ซาห์น (Heir to ther Empire, Dark Force Rising, The Last Command) ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดขึ้นหลัง episode 6 ประมาณ 8-9 ปี อันเป็นช่วงที่มีการฟื้นฟูสาธารณรัฐขึ้นใหม่ และเจ้าหญิงเลอา มีลูกฝาแฝดกับฮันโซโล เป็นต้น

            แต่สิ่งที่ ยอร์ช ลูกัส สงวนไว้มิให้ใครแตะก็คือส่วนของ episode 1-3 อันว่าด้วย การเข้าสู่ด้านมืดของอนาคิน สกายวอร์คเกอร์ การถือกำเนิดขึ้นของ ดาร์ธ เวเดอร์ การล่มสสลายของสาธารณรัฐ การจบสิ้นของเหล่าอัศวินเจไดรวมถึงการขึ้นสู่อำนาจของจักรพรรดิ พูดง่ายๆก็คือ เป็นช่วง “โศกนาฏกรรมระดับจักรวาล” ที่สาวก STAR WARS ตั้งตารอชม และมีไม่น้อยที่แฟนๆ ผิดหวังไปกับ episode 1

            ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
            หากเรามองว่า episode 4-6 มีสาระอยู่ที่ “การเดินทางของวีรบุรุษ” โดยผ่านวิธีแห่งพลัง ???? (และสงครามระหว่างดวงดาว) พื้น เรื่องทำนองนี้ต่อให้ซับซ้อนเพียงไร ก็ง่ายต่อความเข้าใจ (โดยเฉพาะกับผู้ชมรุ่นเยาว์) มากกว่าสาระที่ลูกัสต้องการนำเสนอใน episode 1-3 นั่นคือ “สมดุลแห่งพลัง” (balancing of the force)

            ถามว่าอะไรที่ทำให้ อนาคิน สกายวอร์คเกอร์ ก้าวย่างสู่ความชั่วร้าย?
            คำตอบคลุมๆ ก็คือ “สมดุลแห่งพลัง” เป็นไงละครับ เริ่มงงแล้วใช่มั้ย..
            นี่แหละถึงทำให้ “The Phantom Meanace” ถึงไม่เข้าไปอยู่ในใจของสาวกได้อย่างที่ "The New Hope” เคยสร้างปรากฏการณ์ลือลั่นไว้..

            ใน episode 1 เราจะพบร่องรอยของการปูพื้นเรื่อง “ความขัดแย้งของความสมดุล” ไม่น้อย โดยเฉพาะในบุคลิกของตัวละครหลักๆเช่น “ไคว-กอนจินน์” ปรมาจารย์เจได เป็นนักรบที่หาญกล้าพร้อมๆกับมีท่าที “กบฎ” ต่อมติของสภา

            “โอบี-วัน เคนโนบี” เป็นลูกศิษย์ที่ดีแต่หัวรั้นในบางเรื่อง

            “อนาคิน สกายวอร์คเกอร์” เป็นเด็กชายที่กล้าเกินเด็กแต่มีความกลัวอยู่ลึกๆ

            “ดาร์ธ มอล” เป็นซิธที่ยึดมั่นในสัจวาจา แต่ก็เต็มไปด้วยความเกลียดชัง

            “ราชินีอมิดาลา” ที่เป็นทั้งผู้ปกครองดาวที่แฝงกายอยู่ในฐานะคนใช้ หรือตัวจำอวดอย่าง “จาร์ จาร์ บริงค์” ที่เป็นทั้งตัวตลกและมิตรแท้

            "ความขัดแย้งภายใน” ตัวละครเหล่านี้ ดำเนินไปท่ามกลางบรรยากาศที่ขัดแย้ง “ภายนอก” ที่มีอยู่ในหลายระดับ เช่น “ความขัดแย้งระหว่างชาวดาวนาบู กับ พวกกันแกน” ซึ่งต่อมาร่วมมือกันได้

            หรือ “ความขัดแย้งระหว่างสหพันธ์การค้า กับดาวนาบู” ซึ่งเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนตัวประธานสภาสูงไปเป็น “วุฒิสมาชิก พัลพาทีน” (ผู้ที่อาจเป็นคนเดียวกันหรือไม่ก็เป็นโคลนนิ่งของ “ดาร์ธ ซิเดียส” ซึ่งจะมาเป็นจักรพรรดิเจ้านอยของดาร์ธ เวเดอร์ ใน episode 4-6)

            หรือ “ความขัดแย้งในหมู่สภาเจไดกันเอง” (เรื่องลงมติรับอนาคิน สกายวอร์คเกอร์ เข้าสำนัก) ความขัดแย้งที่เป็นแก่นแกนของเรื่องก็คือ “ความขัดแย้งระหว่างเจไดกับซิธ” อันเสมือนตัวแทนของคู่ตรงข้ามของพลังด้านสว่างและด้านมืดนั่นเอง..

            ทั้งหมดนี้ถูกผูกโยงเข้ากับคำพยากรณ์โบราณของเจได เกี่ยวกับ “ผู้ถูกเลือก” (the Chosen One)
            ผู้ซึ่งจะนำ “สมดุลมาสู่พลัง”
            ท่ามกลาง “ความหวัง” หรือ “ความพินาศ” ของจักรวาล..

            พื้นเรื่องของ episode 1 ที่โทนออก “หม่น” กว่าเข้าใจได้ยากกว่า episode 4-6 ที่มีแต่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายจักรพรรดิ กับฝ่ายกบฏ รวมถึงความซับซ้อนทางสภาพวัฒนธรรมสังคมการเมืองของเผ่าพันธุ์ต่างๆ ที่ปรากฏมากมาย ซึ่งยากที่จะแจกแจงรายละเอียดทั้งหมดลงในหนังแค่ 2 ชม.กว่าๆ ไม่นับว่า “ความเป็น STAR WARS” ถูกบังคับด้วยปัจจัยหลักๆ คือ
            1) จากสงครามในอวกาศที่ยิ่งใหญ่ 1 ฉาก
            2) ฉากดวลดาบเลเซอร์ที่สุดเราใจอีก 1 ฉาก

            อีกทั้งต้องคงสภาพความสนุกสนานแบบเทพนิยาย ที่เป็นที่คาดหวังสำหรับผู้ชมรุ่นเล็ก ฉะนั้นก็นับว่าน่าเห็นใจลูกัส ผมคิดว่าแกลงทุนคว้ากระเป๋า 115 ล้านดอลลาร์คงมุ่งหวังที่จะ “สนอง need” ตามความฝันของแกเพื่อที่จะอธิบายว่า  "ความขัดแย้ง" นั้นแท้จริงแล้ว มันเป็นธรรมชาติพื้นฐานของทุกสรรพสิ่ง แม้กระทั่งธรรมมะ

            การตี “โจทย์” ที่ซับซ้อนและยากมากๆ ให้ออกมาเป็นคำตอบขนาดนี้ก็ถือว่าไม่เลวนัก สำหรับ Episode 1 ที่หากมองภายนอกก็คือหนังวิทยาศาสตร์ แต่มองลึกลงไปแล้วก็จะเห็นถึง "ความขัดแย้ง" กันเอง เพราะลูกัสเคยลั่นปากไว้ว่า

               Star Wars คือหนังวิทยาศาสตร์ที่แฝงไปด้วย "ศาสนาและจิตวิญญาณ"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ภาพยนตร์ไซไฟ ภาพยนตร์ต่างประเทศ Star Wars Star Wars: The Force Awakens
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่