๛ โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฐิเป็นอย่างยิ่ง ๛

ขอกราบไหว้พระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

----------------------


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต




นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ

ยํ เอวํ มหาสาวชฺชํ ยถยิทํ ภิกฺขเว มิจฺฉาทิฏฺฐิ

มิจฺฉาทิฏฐิปรมานิ ภิกฺขเว วชฺชานีติ ฯ




ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง

ซึ่งจะมีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฐินี้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฐิเป็นอย่างยิ่ง ฯ






------------------

             อักขณสูตร (บางส่วน)


             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวว่า โลกได้ขณะจึงทำกิจๆ แต่เขาไม่รู้ขณะหรือมิใช่ขณะ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลมิใช่ขณะมิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
             เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
             เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม และธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง นำความสงบมาให้
             เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ อันพระสุคตเจ้าประกาศแล้ว แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท

             แต่เขาเป็นมิจฉาทิฐิ มีความเห็นวิปริตว่า
             ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมดี กรรมชั่วไม่มี
             โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่ผุดเกิดขึ้นไม่มี
             สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้ว
             สั่งสอนประชุมชนให้รู้ตาม ไม่มีในโลก

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๖ ฯ

              http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=4639&Z=4716&pagebreak=0




------------------


             มหาจัตตารีสกสูตร (บางส่วน)


             [๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า
              (๑) ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล
              (๒) ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล
              (๓) สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล
              (๔) ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี
              (๕) โลกนี้ไม่มี
              (๖) โลกหน้าไม่มี
              (๗) มารดาไม่มี
              (๘) บิดาไม่มี
              (๙) สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี
              (๑๐) สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง
                    เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี
             นี้มิจฉาทิฐิ ฯ

             [๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ
             สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑
             สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

             [๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ
             ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล
             ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี
             สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่
             นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

             [๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ
             องค์แห่งมรรคของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล
             สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ


              http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=3724&Z=3923&pagebreak=0



------------------

             สามัญญผลสูตร (บางส่วน)
             วาทะของศาสดาอชิตะ เกสกัมพล (เดียรถีย์)

             ดูกรมหาบพิตร ทานไม่มีผล
             การบูชาไม่มีผล
             การเซ่นสรวงไม่มีผล
             ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี
             โลกนี้ไม่มี
             โลกหน้าไม่มี
             มารดาบิดาไม่มี
             สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี
             สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก

             คนเรานี้ เป็นแต่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดินไปตามธาตุดิน
             ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม
             อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ
             คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ ๕ จะหามเขาไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจสีนกพิราบ
             การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด
             ทานนี้ คนเขลาบัญญัติไว้
             คำของคนบางพวกพูดว่า มีผลๆ ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญพินาศสิ้น
             เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่เกิด ดังนี้


              http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=1072&Z=1919&pagebreak=0



------------------



ปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฐิ


             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
             อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
             ตติยปัณณาสก์


            [๓๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งมิจฉาทิฐิ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ
            (๑) การโฆษณาแต่บุคคลอื่น ๑
                 (เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียนความรู้ สนทนาซักถาม
                 ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น)

            (๒) อโยนิโสมนสิการ ๑

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งมิจฉาทิฐิ ๒ อย่างนี้แล ฯ

             http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=2259&Z=2294&pagebreak=0






☆☆☆☆☆☆☆



มิจฉาทิฐิ
อ่านว่า มิด-ฉา-ทิด-ถิ


                                                                             [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่