[CR] นครลำปาง เมือง(ต้องคำสาป)ที่เกือบเป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคเหนือ

หากจะกล่าวถึงเมืองศูนย์กลางของภาคเหนือ เชื่อว่าหลายท่าน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจะต้องนึกถึงจังหวัดเชียงใหม่อย่างแน่นอน อาจจะน้อยคนนักที่จะทราบว่า แท้จริงแล้วจังหวัดลำปางเคยถูกวางแผนให้เป็นเมืองศุนย์กลางของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกย้ายไปยังจังหวัดเชียงใหม่

สถานที่ “พิพิธภัณฑ์หอปูมละกอน” เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลสำคัญและน่าสนใจ รวมไปถึงประวัติและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ณ นครลำปาง ซึ่งแม้แต่ชาวลำปางบางส่วนอาจจะยังไม่ทราบข้อมูล ที่ถูกซ่อนอยู่ในนครแห่งนี้นานนับศตวรรต ตลอดจนเป็นแหล่งที่แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในนครลำปาง

จากห้าแยกหอนาฬิกา ซึ่งเป็นทางแยกที่เป็นลักษณะวงเวียน และเปรียบเหมือนเป็นสัญลักษณ์จุดศูนย์กลางนครลำปาง สำหรับนักเดินทางที่ต้องการพิกัดอ้างอิง หรือหากมีอุปกรณ์ที่สามารถระบุพิกัด GPS สามารถใช้พิกัด N18.288639, E99.489881 ได้



บริเวณรอบจากตัวห้าแยก จะสามารถมองเห็นตัวพิพิธภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน



พิพิธภัณฑ์หอปูมละกอน ไม่มีค่าบริการ เปิด- ปิด ตามเวลาราชการ และใช้เวลาเยี่ยมชมประมาณหนึ่งชั่วโมง เหมาะสำหรับคณะท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่ม และ Backpacker
ส่วนจัดแสดงภายในจะแบ่งออกเป็นทั้งสองส่วน ในส่วนแรกจัดแสดงบนชั้นแรก ประกอบไปด้วยห้องจัดแสดงและห้องวีดีทัศน์
ส่วนที่สองจัดแสดงบนชั้นสอง ประกอบไปด้วยส่วนหลักของพิพิธภัณฑ์

โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้รวบรามเรื่องราว และเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับ จนทำให้ผู้ชมได้เข้าใจว่า เหตุใดนครแห่งนี้จึงขึ้นชื่อว่าเคยต้องคำสาปมาก่อน

บรรยากาศระหว่างการชมจะสามารถสัมผัส รับรู้และเข้าใจถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดคำว่า เกือบเป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคเหนือ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
(กระทู้แนะนำหอปูมละกอน)

จึงขออนุญาติสรุปข้อมูลและเหตุการณ์ที่สำคัญ โดยอ้างอิงจากสถานที่นี้

-เหตุการณ์ที่เชื่อว่าเป็นที่มาของนครต้องคำสาป
“หรือนี่จะเป็นไปตาม คำสาปของเจ้าแม่สุชาดา อย่างที่ใครบางคนอธิบาย” นี้คือข้อความบางส่วนจากทางพิพิธภัณฑ์ที่ได้ทิ้งท้ายเอาไว้
ตามคำบอกเล่าจากชาวท้องถิ่น มีตำนานกล่าวว่า มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง ชื่อนางสุชาดา ซึ่งเป็นคนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และมักจะนำอาหารคาว-หวานไปถวายพระเสมอ จนวันหนึ่งนางพบว่า แตงโมที่จะนำไปถวายนั้นมีแก้วมรกตอยู่ข้างใน นางจึงได้นำไปถวายพระ แต่มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเกิดความสงสัยและเข้าใจผิดว่า นางสุชาดาประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับพระภิกษุ จึงนำเรื่องไปร้องเรียนท่านเจ้าเมืองละกอน (ลำปาง) ท่านเจ้าเมืองตัดสินโทษประหารนางสุชาดา เพราะเป็นเหตุทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย ก่อนการประหารนางได้กล่าววาจาไว้ว่า หากนางไม่ได้เป็นเหตุทำให้พระพุทธศาสนาต้องเสื่อมเสีย ขอให้เลือดนางพุ่งขึ้นฟ้า และขอให้เจ้าเมืองและเมืองละกอนไม่เจริญรุ่งเรื่อง ต่อมาภายหลังพระมหาเถระรูปนั้นจึงได้นำมรกตมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปและประดิษฐานที่วัด ปัจจุบันคือ “วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม” แต่ต่อมาได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่ “วัดพระธาตุลำปางหลวง” จนถึงปัจจุบัน



-ทำไมต้องรถม้า
“…รถม้าแต่เดิมนำเข้าจากอังกฤษมาใช้ที่กรุงเทพฯ พอรถยนต์มากขึ้น รถม้าก็จะไปหากินที่เชียงใหม่ แต่รถไฟยังไปไม่ถึง เลยมาพักลำปาง เพื่อรอไปเชียงใหม่ อยู่ๆไปสารถีก็มีลูกมีเมีย เห็นภูมิลำเนาดี แขกปาทาน (แขกขาวตะวันออกกลาง) บางส่วนที่เอารถม้ามาก็เลยตั้งหลักแหล่งที่นี่ หมู่มัสยิดหน้าวัดศรีชุมนั่นแหละลูกหลานปาทานที่เข้ามาตั้งแต่แรก อิสลามกลุ่มแรกในลำปางก็คือพวกรถม้า...”
บุญเจริญ พรหมไชยวงศ์
สัมภาษณ์: พ.ศ. ๒๕๕๒

-ครั้งเมื่อยังเป็นศูนย์กลางการค้าขายของภาคเหนือ
“ทศวรรษ ๒๕oo ลำปางเริ่มเป็นที่หมายปองของหน่วยงานราชการต่างๆในฐานะ ศูนย์กลางภาคเหนือตอนบน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕o๔ – ๒๕o๙) มีแนวคิดที่จะจัดตั้งหมาวิทยาลัยระดับภูมิภาคิแห่งแรกในภาคเหนือที่ลำปาง ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคแห่งแรกก็ตั้งขึ้นที่จังหวัดลำปาง รวมถึงศูนย์ราชการระดับภูมิภาค เช่น กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๓ สำนึกประชาสัมพันธ์เขต ๓ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ทั้งนี้ยังไม่นับโรงไฟฟ้าแม่เมาะและโรงงานอุตสาหกรรมนำตาลที่เกาะคา ส่วนเศรษฐกิจในตัวเมืองนครลำปางยังคึกคักด้วยการเป็นศูนย์กลางการค้าส่งสินค้าขึ้นเหนือ ขณะที่เศรษฐกิจพื้นฐานเช่นภาคเกษตรก็ดำเนินปอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนของคนในพื้นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ คนเหล่านี้เป็นผู้มีรายได้ประจำจากเงินเดือน ดังนั้นช่วงต้นเดือน เม็ดเงินในตัวเมืองจึงหมุนเวียนสพัดเป็นพิเศษกว่าช่วงอื่นๆของเดือน”

-ความหวังที่จะเป็นเมืองศูนย์กลางกลายเป็นเมืองผ่าน
ความหวังที่ลำปางจะเป็นศุนย์กลางภาคเหนือในทุกๆทางเริ่มรางเลือน เมื่อโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือเกิดขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงเวลาใกล้เคียงกันศูนย์ราชการระดับภูมิภาคเริ่มย้ายไปสู่เชียงใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยในลำปางถูกลดระดับเป็นเพียงสาขา กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๓ ย้ายไปตั้งใหม่เป็นกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ สำนักประชาสัมพัณธ์เขต ๓ และสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ก็ย้ายไปด้วย

-บทสรุปของนครลำปาง ณ ปัจจุบัน
“นครลำปางเป็นเมืองที่มีวิถีชีวิตและคุณค่าหลายประการที่เป็นเอกลักษณ์ หากแต่การที่เมืองซบเซาลงกว่าที่คนลำปางเคยวาดหวังให้เป็นศูนย์กลางภาคเหนือ ทำให้ความคิดเรื่อง “เมืองต้องคำสาปฟื้นคืนขึ้นมา”

ท่ามกลางทิศทางการพัฒนาประเทศในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเมืองต่างๆของประเทศ รวมทั้งลำปาง คือคนรุ่นใหม่ออกไปศึกษาและทำงานในเมืองใหญ่ ส่วนคนที่ยังอยู่ในท้องถิ่นก็ขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของเมือง อีกทั้งความไม่สมดุลในการพัฒนาประเทศ การวางแผนพัฒนาที่มาจากส่วนกลางแบบสั่งการ และอื่นๆ อีกหลายเหตุปัจจัย…หรือภาวะที่ลำปางต้องเผชิญอาจไม่ใช่เพราะคำสาป?”
แต่ละจังหวัดหรืออำเภอจะมีประวัติความเป็นมา ที่จะเป็นที่กล่าวขานของอนุชน หรือ คนท้องถิ่นแต่ดั้งเดิม บ้างก็มาจาก ต้นไม้ แม่น้ำ หรือลักษณะทำเลที่ตั้ง ที่ถูกกระทำจากสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ต่อมาถูกเสริมเติมแต่งจนเป็นเรื่องราว ตำนาน และประวัติศาสตร์ เพียงแต่เรื่องราวบางส่วนไม่สามารถบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รูปถ่าย หรือภาพเคลื่อนไหว ให้คนรุ่นหลังได้ทราบข้อมูลที่แท้จริง แต่จะมาเป็นลักษณะ การเล่าสืบต่อกันมาและมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง ดังนั้นข้อมูลมีโอกาสผิดเพี้ยนต่อมาเป็นทอดๆได้ แต่สถานที่บางแห่งยังคงมีหลักฐาน เช่น วัตถุโบราณ สิ่งของต่างๆ ที่สามารถบอกเล่าความเป็นมาได้เช่นเดียวกันกับการเล่าสืบต่อกันมา แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือหลักฐานทางวัตถุสามารถใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้

นครลำปางก็มีเรื่องราวความเป็นมาดังเช่นจังหวัดอื่น แต่มีสิ่งที่แปลกแตกต่างคือ เป็นเมืองที่มีความพร้อมแม้กระทั้งเคยถูกวางแผนให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคเหนือ ซึ่งแปรผกผันกับความหนาแน่นของจำนวนประชากรต่อพื้นที่ที่ไม่แน่น จึงทำให้วิถีชีวิตของคนที่นี้ยังคงเป็นไปแบบเรียบง่าย ไม่แออัด วุ่นวาย แต่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่มากมายให้ได้บริโภค เช่น ห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ เครื่องบิน รถข่นส่งสาธารณะ รถไฟ และระบบสื่อสารที่ทันสมัย




แหล่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ยังไม่มีผู้คนพลุกพล่าน เช่น อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
โบราณสถานเก่าแก่ทรงคุณค่า เช่น พระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุจอมปิง (พระธาตุกลับหัว) วัดปงสนุก (Award of Merit จาก UNESCO) วัดศรีรองเมือง (พระพุทธรูปสลักไม้) วัดศรีชุม (วัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) วัดพระธาตุดอนเต้าสุชาดาราม (เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต)
Hipster style เช่น กาดกองต้า สะพานรัษฎาภิเศก สถานีรถไฟนครลำปาง บ้านเสานัก (116ต้น) แกะ Hug you

Website แนะนำสถานท่องเที่ยวในลำปาง เหมาะสำหรับวันหยุดระยะเวลาสั้นๆ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ชื่อสินค้า:   นครลำปาง เขลางค์นคร
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่