งานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เรากำลังกลายพันธุ์”





ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือ“เรากำลังกลายพันธุ์” ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของ  เกริกศิษฎ์ พละมาตร์ ซึ่งเป็นนักเขียนรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์  หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นาคร ของท่านอดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คุณเจน สงสมพันธุ์ โดยงานเปิดตัวหนังสือ “เรากำลังกลายพันธุ์” นี้จัดขึ้นที่ร้าน Kinokuniya  สยามพารากอน ชั้น 3  ในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2558  ในช่วงบ่าย ๆ ที่บรรยากาศของงานเป็นกันเอง  แบบนั่งคุยกันระหว่างนักเขียนกับผู้อ่าน

งานเปิดตัวหนังสือในครั้งนี้มีการเสวนาในหัวข้อ “เรากำลังกลายพันธุ์” ซึ่งเป็นชื่อของหนังสือด้วย  โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ 1. คุณบัณฑิต ทองดี นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ผู้ให้มุมมองวรรณกรรมด้วยสายตาของศิลปินบนแผ่นฟิล์ม 2. คุณวัชระ สัจจะสารสิน นักเขียนรางวัลซีไรต์ ผู้ให้มุมมองของคนหนุ่มในงานเขียนสมัยใหม่ 3. คุณเกริกศิษฎ์ พละมาตร์  นักเขียนผู้ประพันธ์เรื่องสั้นในชุด “เรากำลังกลายพันธุ์” นี้  ดำเนินรายการโดยคุณณัฎฐนิษฐ์ นิธิวุรุฬห์ พิธีกรนักจัดรายการชื่อดัง  โดยเนื้อหาในการเสวนาครั้งนี้ผมขออนุญาตสรุปออกมาเป็นหัวข้อตามที่ผมได้ฟังและเข้าใจดังนี้





เริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงานจากคุณเจน สงสมพันธุ์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผู้เป็น เจ้าของสำนักพิมพ์นาคร  โดยคุณเจนได้พูดถึงหนังสือรวมเรื่องสั้น “เรากำลังกลายพันธุ์” และกล่าวขอบคุณแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานในครั้งนี้


เริ่มต้นการเสวนาด้วยคำถามที่คุณณัฎฐนิษฐ์ ผู้ดำเนินรายการถามคุณวัชระ สัจจะสารสินว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง คุณวัชระ ตอบว่า

-ตัวคุณวัชระได้รู้จักกับคุณเกริกศิษฎ์ ที่เขียนเรื่องนี้ผ่านทางตัวอักษร  ก็คือว่าที่ผ่านมาคุณเกริกศิษฎ์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานในทางกวี  เขียนกวีต่าง ๆ มากมายจนได้รับรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์  ซึ่งคุณวัชระก็ได้เป็นกรรมการในการตัดสินรางวัลนั้นด้วย
-คุณวัชระอ่านหนังสือเรื่อง “เรากำลังกลายพันธุ์” เล่มนี้รวดเดียวจบในครั้งแรก หลังจากนั้นก็อ่านซ้ำ ๆ อีกหลายรอบเพื่อให้เห็นภาพรวมของเรื่อง  โดยภาพรวมที่โดดเด่นนั้นก็คือการเขียนที่เน้นหนักถึงเนื้อหาของเรื่องเป็นหลัก  การใส่รายละเอียดลงไปทำให้ผู้อ่านได้ทราบถึงลำดับในการดำเนินเรื่อง  ทำให้อ่านแล้วรู้สึกเชื่อและคล้อยตามไปด้วย
-ในหนังสือ “เรากำลังกลายพันธุ์” เล่มนี้มีคำนิยมโดยอาจารย์ไพฑูรย์ ธัญญา ซึ่งเป็นคำนิยมที่ดีมาก  ที่ท่านได้พูดถึงวิวัฒนาการของวรรณกรรมในรูปแบบใหม่  แค่ได้อ่านบทความที่เป็นคำนิยมนี้ก็คุ้มค่ามากแล้ว
-นักเขียน(คุณเกริกศิษฎ์)คนนี้เป็นคนที่ใช้ชีวิตเยอะ คือนักเขียนนำประสบการณ์ของตัวเองมาเล่าได้อย่างดี  ใส่รายละเอียดให้แก่ตัวละครได้เป็นอย่างดี  รวมทั้งรู้ถึงนิสัยใจคอของคนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ในเรื่องด้วย
-หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นงานวรรณกรรมชั้นดี เป็นการแต่งเรื่องที่ลงรายละเอียดลึกซึ้งของความเป็นคน มีการนำเสนอที่สะท้อนถึงชีวิตเหล่านั้นด้วยวรรณศิลป์ที่งดงาม
-โดยรวมแล้วถือว่าเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่น่าอ่านมาก  บางเรื่องในหนังสือเล่มนี้สามารถอ่านได้ไม่ยากไม่ต้องตีความที่ยุ่งยากเกินไป  หลายเรื่องอ่านเพื่อเป็นแบบฝึกหัดสำหรับการเขียนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีเทคนิคในการซ่อนสัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างของงานเขียนที่ดี


คุณณัฎฐนิษฐ์ ผู้ดำเนินรายการถามคุณบัณฑิตในคำถามเดียวกันว่าอ่านแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง? ซึ่งคุณบัณฑิตได้ตอบว่า

-อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกได้ว่านักเขียนคนนี้เป็นคนที่ใช้ชีวิตเยอะพอสมควร  ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่านักเขียน(คุณเกริกศิษฎ์)เป็นคนหลายพื้นที่ คืออาศัยอยู่หลายจังหวัด จึงทำให้เขารู้จักชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น
-อ่านแล้วเห็นภาพชีวิตของคนที่อยู่ในประเทศไทย  ทำให้ผู้อ่านได้เห็นมุมมองที่กว้างมากขึ้น
-เรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้มีการเล่าเรื่องคล้ายกับภาพยนตร์คือมีองก์ 3 องก์ เหมือนกับเทคนิคการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์  คือองก์ที่ 1 เป็นการปูพื้นตัวละคร , องก์ที่ 2 เป็นการสร้างปัญหาให้แก่ตัวละคร , องก์ที่ 3 เป็นการให้ตัวละครแก้ปัญหา   ดังนั้นเรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้สามารถเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ได้เลย หรือจะสร้างเป็นหนังสั้นเพื่อส่งประกวดก็ได้








คุณณัฎฐนิษฐ์ ผู้ดำเนินรายการถามคุณเกริกศิษฎ์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้  โดยให้พูดถึงหนังสือที่ตัวเองเขียน  เกริกศิษฎ์ จึงได้พูดถึงเรื่องสั้นบางเรื่องในหนังสือเล่มนี้ (ในหนังสือมีเรื่องสั้นอยู่ 8 เรื่อง)

-เรื่อง “บางลา” เป็นการพูดถึงชีวิตของตัวละครที่อยู่ในบางลา จังหวัดภูเก็ต  ซึ่งเป็นสถานที่ของคนที่ใช้ชีวิตกลางคืน  เป็นศูนย์รวมแหล่งบันเทิงต่างๆ โดยตัวละครพยายามที่จะให้ชีวิตของตัวเองหลุดพ้นจากแหล่งอบายมุขที่เป็นสถานที่อโคจรแห่งนี้  เป็นการแสดงให้เห็นว่าตัวละครต้องการความอิสระในการดำเนินชีวิตมากขนาดไหน


คุณณัฎฐนิษฐ์ ผู้ดำเนินรายการถามคุณวัชระ สัจจะสารสินว่าอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วประทับใจอะไรบ้าง?  คุณวัชระจึงให้ความคิดเห็นว่า

-ประทับใจเรื่องสุดท้ายที่เป็นเรื่องซึ่งยาวที่สุด  ชื่อเรื่องว่า “ผู้กุมชะตา” เป็นเรื่องที่พูดถึงตำนานความเชื่อ  โดยนักเขียนสามารถแยกเรื่องออกมาเป็นส่วน ๆ เป็นตอน ๆ โดยใส่รายละเอียดลงไป
-ประทับใจการเล่าเรื่อง เป็นการเล่าเรื่องแบบง่ายแต่ใส่รายละเอียดที่เฉพาะตัวลงไป  ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องด้วย  และภาษาที่ใช้ก็ไม่อลังการจนเกินไปด้วย
-เรื่อง “เดือยหิน” เป็นเรื่องเกี่ยวกับการชนไก่  เรื่องนี้อ่านแล้วก็ประทับใจเช่นกัน ส่วนเรื่อง “เอกฉันท์แห่งหน้ากาก” เรื่องนี้มีสัญลักษณ์อยู่ด้วย


คุณณัฎฐนิษฐ์ ผู้ดำเนินรายการถามคุณบัณฑิต ว่าอ่านแล้วประทับใจอะไรบ้าง? คุณบัณฑิตจึงให้มุมมองในฐานะคนที่กำกับภาพยนตร์ว่า

-เรื่อง “ขาล” มีการเล่าเรื่องแบบหนัง  ให้รายละเอียดด้วยการติดตามตัวละครไปเรื่อย ๆ อ่านแล้วรู้สึกเหมือนได้ดูหนังแอคชั่นดี ๆ เรื่องหนึ่งเลย
-เรื่อง “เดือยหิน” มีวิธีการเล่าเรื่องที่อ่านแล้วรู้สึกเหมือนว่าไก่ชนตัวนั้นเป็นจา พนม (นักแสดงภาพยนตร์แอคชั่น)  แต่ลึก ๆ แล้วรู้สึกถึงความเจ็บของไก่ อ่านแล้วรู้สึกเจ็บปวดตามตัวละคร(ไก่)ไปด้วย  ในประเด็นเรื่องนี้คุณบัณฑิตได้หันมาถามนักเขียนว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องนี้  ซึ่งคุณเกริกศิษฎ์ บอกว่า เรื่อง “เดือยหิน” นี้ต้องการจะให้เห็นถึงหัวใจของเรื่องที่แสดงถึงความอึด(ความทน)ของไก่ ที่จะสามารถเป็นเจ้านายคนได้ไหม?  คนเลี้ยงไก่เรียกไก่ว่า “ลูก” ทุกคำ ในขณะที่เจ้าของค่ายไก่ชนเห็นว่าไก่ตัวนี้เป็นแค่ตัวทำเงินให้เขาเท่านั้น  เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของการต่อสู้ที่เปลือยเปล่าชีวิตไก่มาให้คนได้อ่านกัน

คุณวัชระได้ถามคุณเกริกศิษฎ์ ผู้เป็นนักเขียนว่า ในเรื่อง “บางลา” นั้นทำไมถึงสนใจข้อมูลต้องนั้น ซึ่งคุณเกริกศิษฎ์ ได้ตอบว่า ผมเป็นคนที่เคยใช้ชีวิตกับคนอีสานที่มาทำงานในภูเก็ต ซึ่งเดี๋ยวนี้อาจจะไม่มีแล้วเพราะว่ากลายเป็นแรงงานพม่าไปหมดแล้ว  คนอีสานที่เป็นพวกใช้แรงงานนั้น บางคนอาจจะเรียนหนังสือไม่จบ  พอมาเจอแหล่งบันเทิงที่มีสิ่งต่าง ๆ ยั่วยวนเขา  เหมือนมันมีสิ่งที่มากระทำกับชีวิตของเขา และในอีกประเด็นคือที่ “บางลา” นั้นมันไม่เคย “ลาก่อน” เลย  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าใครจะมาใครจะไป ที่บางลาก็ยังเป็นอย่างนั้นเหมือนเดิม  ความเชี่ยวกราดของกระแสทุน(ในสถานบันเทิง)ไม่ยอมแพ้อะไรทั้งสิ้น  คนที่จะมาอยู่ที่บางลาได้ต้องเป็นคนที่แน่จริงเท่านั้น







หลังจากที่ได้พูดคุยกันมาพอสมควรแล้ว คุณณัฎฐนิษฐ์ ผู้ดำเนินรายการจึงให้แต่ละคนได้พูดสรุปถึงประเด็นที่เกี่ยวกับหนังสือเรื่อง “เรากำลังจะกลายพันธุ์” เล่มนี้

คุณเกริกศิษฎ์ ผู้เป็นนักเขียนเริ่มก่อนโดยบอกว่า
-ในตอนเด็ก ๆ อยากจะขี่ม้า อยากจะเป็นคาวบอย จึงไปลองใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์มแห่งหนึ่ง  พอไปอยู่แล้วจึงได้เห็นว่าชีวิตของพวกคาวบอยที่อยู่ในฟาร์มแห่งนั้นล้วนแต่เป็นการแสดงทั้งสิ้น  มันคือการแสดงเป็นคาวบอยให้นักท่องเที่ยวได้ชม  ทำให้คิดว่ามันไม่ใช่จิตวิญญาณที่แท้จริงของคาวบอย  จึงได้รู้ว่าชีวิตที่แท้จริงนั้นมันมีรายละเอียดมากกว่าที่เห็นอีกเยอะ
-ในตอนนี้กำลังจะเขียนเรื่องใหม่อยู่  ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเฟสบุ๊คส์  ปัจจุบันจึงไม่ได้เล่นเฟสบุ๊คส์เลย  การที่เราไม่เล่นมันและเราออกมายืนอยู่ข้างนอกนั้นอาจจะทำให้เราเห็นมันได้ชัดเจนมากขึ้นก็ได้
-ส่วนคำถามที่มีคนถามว่าเรื่องสั้นเรื่องใดใน 8 เรื่องนี้ที่น่าจะทำเป็นภาพยนตร์มากที่สุด  คิดว่าน่าจะเป็นเรื่อง “ขาล” เพราะว่าเรื่องนี้มีความเป็นภาพยนตร์สูง

คุณบัณฑิต ทองดี กล่าวสรุปว่า
-ในปัจจุบันเรามีวรรณกรรมไทยที่ดีมากหลายเรื่อง  ซึ่งเรื่องเหล่านั้นสามารถหยิบมาทำเป็นภาพยนตร์ได้  แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ในปัจจุบันเด็กไทยไม่อ่านหนังสือ ไม่มีการเสพงานวรรณกรรมเลย จึงทำให้เด็กยุคใหม่ไม่รู้จักวรรณกรรมที่ดี ๆ เหล่านั้น
-ในช่วงเวลานี้มีการนำวรรณกรรมที่ดีมาสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่เสมอ  ยกตัวอย่างเช่นคุณอุ๋ย นนทรี นิมิตบุตร กำลังเอาวรรณกรรมซีไรต์ปีนี้เรื่อง “ไส้เดือนตาบอกในเขาวงกต” เอามาสร้างเป็นภาพยนตร์ ส่วนตัวคุณบัณฑิตเองกำลังเอาวรรณกรรมเรื่อง “ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก” ของคุณประชาคม ลุนาชัย  มาสร้างเป็นภาพยนตร์เช่นกัน
-วรรณกรรมไทยมีความงดงาม  มีคุณค่า อ่านแล้วได้ความคิดที่ต่อยอดอีกมากมาย  อยากให้ทุกคนอ่านงานวรรณกรรมกันเยอะ ๆ

คุณวัชระ สัจจะสารสิน ได้กล่าวในเชิงวรรณกรรมสรุปว่า
-หนังสือเรื่อง “เรากำลังกลายพันธุ์” เล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนร่วมสมัยรุ่นใหม่ที่มีพลังอย่างมาก  เรื่องมีพลังทุกเรื่อง  จะอ่านเพื่อเอามาศึกษาเป็นต้นแบบการเขียนก็ได้  หรือจะอ่านเพื่อต่อยอดความคิดจากเรื่องราวที่นำเสนอก็ได้
-นักเขียนใช้ภาษาได้ดี  เล่าเรื่องได้น่าอ่าน  เป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้เก่งมาก  โดยเฉพาะเรื่อง “ผู้มีพลัง”
-ในคำนิยมของอาจารย์ไพฑูรย์ ธัญญา บอกไว้ว่าเรื่องสั้นก็เปรียบเสมือนกาแฟนั้นเอง  ซึ่งมีทั้งกาแฟราคาถูกและกาแฟราคาแพง  ถ้าไปกินกาแฟข้างทางก็ราคาถูกหน่อย  แต่ถ้าไปกินกาแฟสตาร์บัคในห้างราคาก็จะแพงแน่ ๆ  ซึ่งคุณวัชระคิดว่าหนังสือรวมเรื่องสั้น “เรากำลังกลายพันธุ์” นี้เป็นกาแฟชั้นดีที่เราควรจะลองลิ้มรสดู
-สำหรับคนที่ต้องการอ่านเพื่อเอาเรื่อง  ทุกเรื่องในหนังสือเล่มนี้มีพลัง  แต่ละเรื่องไม่ได้เน้นกลวิธีการเขียนที่ซับซ้อนใด ๆ เลยแต่เขียนด้วยวิธีให้รายละเอียดของเรื่องมากว่า  อ่านแล้วจึงเข้าใจในเนื้อเรื่องได้
-สำหรับงานวรรณกรรมที่เน้นกลวิธีในการเขียนมากจนเกินไป  ในบางครั้งความซับซ้อนของเรื่องมันไปกลบเนื้อหาของเรื่องเสียหมด  อ่านแล้วไม่รู้เรื่องแต่ดูดี อ่านแล้วรู้สึกว่ามันซับซ้อนดีแต่ไม่เข้าใจเนื้อเรื่องเลย ก็แล้วแต่ว่าใครจะชอบอ่านในสไตล์แบบไหน
-ในปัจจุบันงานวรรณกรรมไทยนั้นจะไม่ค่อยมีงานเขียนที่มีเนื้อเรื่องเข้มข้นหรือเนื้อเรื่องที่สะท้อนสังคม   เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้เป็นงานวรรณกรรมที่ไม่ได้ละเลยในประเด็นดังกล่าวเลย  คุณวัชระขอฝากหนังสือรวมเรื่องสั้น “เรากำลังกลายพันธุ์” เล่มนี้สำหรับนักอ่านทุกท่านด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่