ช่วยวิเคราะห์ข่าวหน่อยครับบบบ

เผยเบื้องหลังแรงงานทาสในเอเชีย ผลิตกุ้งป้อนร้านค้าทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
Fri, 2014-06-13 21:29
แปลและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
จาก Revealed: Asian slave labour producing prawns for supermarkets in US, UK โดย Carmen Fishwick, Kate Hodal, Chris Kelly และ Steve Trent

รายงานฉบับเต็มสำหรับผู้สนใจ
Trafficked into slavery on Thai trawlers to catch food for prawns
เหล่าทาสถูกบังคับให้ใช้แรงงานโดยไม่มีรายได้เป็นเวลานับปี ภายใต้การข่มขู่ที่จะใช้ความรุนแรง แรงงานเอเชียเหล่านี้เป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารทะเล ซึ่งส่วนใหญ่วางขายในทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ รวมทั้งในร้านแบรนด์ค้าปลีกอีกหลายแบรนด์ทั่วทวีปยุโรป เบื้องหลังเหล่านี้ถูกเปิดเผยโดยหนังสือพิมพ์ The Guardian

การสืบเสาะข้อมูลเป็นเวลา 6 เดือน ยืนยันว่าแรงงานชายจำนวนมากถูกค้าขายไม่ต่างจากสัตว์ และถูกบังคับให้ไปใช้แรงงานบนเรือประมงนอกฝั่งประเทศไทย เพื่อเป็นกลไกในการผลิตกุ้ง ที่จะถูกส่องออกไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังทั่วโลก รวมไปถึงแบรนด์ดังอย่างวอลมาร์ท (Walmart) คาร์ฟูร์ (Carrefour) คอสท์โค (Costco) และเทสโก (Tesco)

การเสาะหาข้อมูลในครั้งนี้พบว่า บริษัทอันดับหนึ่งในการทำฟาร์มกุ้งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP) อาหาร ได้ซื้อปลาเพื่อไปเป็นอาหารเลี้ยงกุ้งในฟาร์มจากเรือประมงที่มีการใช้แรงงานทาส

ชายผู้ที่หนีรอดจากเรือที่ป้อนสินค้าให้กับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร รวมทั้งบริษัทผลิตอาหารอื่นๆ ได้เล่าให้กับ The Guardian ฟังถึงความโหดร้ายในการใช้ชีวิตอยู่บนเรือ การทำงานหนักวันละเกือบ 20 ชั่วโมง การทำร้ายร่างกาย ทรมาณ รวมทั้งการฆ่าแบบตัดศีรษระ บางคนต้องอยู่ในทะเลนานหลายปี หลายคนได้รับการเสนอให้ใช้ยาบ้าเพื่อให้สามารถทำงานได้ บางคนก็ได้เห็นการฆาตกรรมเพื่อนแรงงานทาสต่อหน้าต่อตา

แรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่าและกัมพูชาจำนวน 15 คนยืนยันว่าพวกเขาโดนบังคับให้เป็นทาส พวกเขาเล่าว่าได้จ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อให้ช่วยหางานในประเทศไทย เช่นงานในโรงงานหรืองานก่อสร้าง แต่พวกเขากลับถูกขายให้กับไต้ก๋งเรือ ในราคาเพียง 250 ปอนด์ (ราว 12,500 บาท)

“ผมเคยคิดว่า ผมกำลังจะตาย” Vuthy อดีตพระจากประเทศกัมพูชาเล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกขายจากเรือหนึ่งไปยังอีกลำหนึ่ง “พวกเขาล่ามผมไว้ด้วยโซ่อย่างไม่สนใจ ไม่ให้แม้แต่อาหารด้วยซ้ำ พวกเขาขายพวกเราไม่ต่างจากสัตว์ แต่พวกเราไม่ใช่สัตว์ พวกเราเป็นมนุษย์”

เหยื่อของการค้าแรงงานเล่าว่า เขาเคยเห็นเพื่อนแรงงานทาสกว่า 20 ชีวิตถูกฆ่าต่อหน้าต่อตา มีคนหนึ่งที่ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายโดยการผูกแขนขาไว้กับเชือก โยงเชือกกับเรือสี่ลำ และกระชากออกจากร่างกลางทะเล

“เราโดนทำร้าย ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม” อีกคนหนึ่งกล่าว “ชาวพม่าที่อยู่บนเรือส่วนใหญ่ถูกหลอกมา พวกแรงงานทาสมีจำนวนมากจนนับไม่ถ้วน”

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้ราวปีละ 4 แสนล้านบาท ตั้งแบรนด์ตัวเองเป็น ‘ครัวของโลก’ ขายผลิตภัณฑ์กุ้งตรา CP ให้กับฟาร์มแห่งอื่น ส่งขายในตลาดโลก รวมทั้งส่งให้ยังผู้ผลิตอาหาร และผู้ขายปลีกอาหาร ในลักษณะของกุ้งแช่แข็งหรือกุ้งปรุงรส ใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารและเป็นส่วนประกอบของอาหารพร้อมรับประทาน

นอกจากซุปเปอร์มาร์เก็ตดังทั้ง 4 แห่ง The Guardian ยังพบว่า ทั้งแบรนด์ Aldi และ Morrisons ก็ยังเป็นหนึ่งในลูกค้าของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร โดยขายสินค้าหลักคือกุ้งแช่แข็งและกุ้งปรุงรส รวมทั้งอาหารพร้อมรับประทาน โดยได้รับสินค้ามาจาก บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร และบริษัทย่อยที่ยอมรับว่าการใช้แรงงานทาสเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

“เราไม่ได้ป้องกันในสิ่งที่กำลังเป็นอยู่” Bob Miller ผู้จัดการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร สาขาประเทศอังกฤษกล่าว “เราทราบดีว่ามันมีปัญหาในกระบวนการก่อที่วัตถุดิบจะเดินทางมายังท่าเรือ แต่นอกเหนือจากนี้ มันอยู่นอกเหนือสิ่งที่เรามองเห็น”

ห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวทำงานดังนี้ เรือแรงงานทาสจะเดินทางไปสู่น่านน้ำสากลจากประเทศไทย จับ “ปลาเป็ด” ปลาขนาดเล็กหรือปลาที่กินไม่ได้ ปริมาณมหาศาล ก่อนที่จะนำส่งไปยังโรงงานผลิตอาหารสัตว์ แล้วจึงขายต่อให้กับซีพี เพื่อนำไปใช้เลี้ยงกุ้งในฟาร์ม และกุ้งจากฟาร์มดังกล่าวนี่เอง ที่จะเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ส่งขายไปทั่วโลก

การค้าแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงไทย ได้รับความสนใจจากองค์การภาคเอกชน (NGOs) รวมทั้งปรากฏในรายงานของ UN แต่นี่นับเป็นครั้งแรกที่ The Guardian ได้เปิดเผยห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและซับซ้อนซึ่งเชื่อมระหว่างการค้าแรงงานทาสและผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกุ้งชั้นนำของโลก

“ถ้าคุณยังซื้อกุ้งจากประเทศไทย คุณก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการค้าแรงงานทาส” Aiden McQuade ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านการค้าแรงงานทาสสากล (Anti-Slavery International) กล่าว

The Guardian ได้เดินทางเพื่อสัมภาษณ์แหล่งข้อมูลไม่ว่าจะเป็นชาวประมง กัปตันเรือ ผู้บริหารเรือ เจ้าของโรงงาน และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำงานในท่าเรือของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้รับตำแหน่งผู้ส่งออกกุ้งอันดับหนึ่งของโลก รวมทั้งเป็นผู้ค้าสินค้าทะเลรายใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 7.3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับบริษัทขนาดยักษ์อย่าง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร สามารถผลิตกุ้งได้ราวปีละ 500,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10 ของสัดส่วนทั้งหมด

แม้ว่าการใช้แรงงานทาสจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีคนกว่า 21 ล้านชีวิตทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ถูกทำให้เป็นทาสทั่วโลก อ้างอิงจากองค์กรแรงงานสากล คนเหล่านี้ถูกขายไม่ต่างจากสินทรัพย์ โดนบังคับให้ทำงานหนักท่ามกลางภาวะคุกคามทั้งร่างกายและจิตใจ หรือโดนบังคับขืนใจโดยผู้ว่าจ้าง

ประเทศไทยนับว่าเป็นหนึ่งแหล่งจัดหา ขนย้าย และปลายทางสำคัญของเหล่านักค้าทาส และคาดว่ามีคนกว่าครึ่งล้านกำลังถูกใช้แรงงานทาสในประเทศไทย ปัจจุบัน ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดถึงแรงงานทาสที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมง แต่รัฐบาลไทยคาดว่าน่าจะมีประมาณ 300,000 คนที่กำลังทำงานอยู่บนเรือประมง ซึ่งกว่าร้อยละ 90 เป็นแรงงานต่างด้าว ที่น่าจะถูกหลอก ลักพาตัว และนำมาขายที่ทะเล

กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมงประเทศไทย ในขณะที่ความต้องการกุ้งราคาถูกในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปพุ่งสูงขึ้น และนี่เองที่เป็นปัจจัยในการเร่งความต้องการในแรงงานราคาถูก

“เราต้องการแก้ไขปัญหาในประเทศไทย เพราะไม่ต้องสงสัยเลยว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากผลประโยชน์ทางการค้า” Bob Miller ผู้จัดการ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร กล่าวเสริม

หลังจากประเทศไทยถูกเตือนเป็นปีที่สี่ติดต่อกันเพื่อแก้ปัญหาการค้าแรงงานทาสแต่กลับขาดการตอบสนองเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ประเทศไทยอาจตกอยู่ในอันดับต่ำสุดของดัชนีด้านการค้ามนุษย์ ที่จัดทำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะประเมิน 188 ประเทศด้านศักยภาพในการต่อสู้และป้องกันการค้ามนุษย์

การลดระดับสู่ระดับ 3 อาจทำให้ประเทศไทย (จากเดิมอยู่ในระดับ 2) ที่มีการพลิกผันทางการเมืองหลังรัฐประหาร มีตำแหน่งไม่ต่างจากประเทศเกาหลีเหนือและอิหร่าน ที่จะนำไปสู่การลดระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา

“ประเทศไทยได้กระทำการต่อสู้และป้องกันการค้ามนุษย์” วิชาวัฒน์ อิศรภักดี ทูตประเทศไทยประจำสถานทูตประเทศสหรัฐอเมริกากล่าว “เรารู้ดีว่ายังต้องทำงานอีกมาก แต่เราก็มีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัดในการแก้ไขปัญหา”

ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะกล่าวกับ The Guardian ว่า “ปัญหาการค้ามนุษย์ ได้ถูกยกระดับเป็นปัญหาระดับชาติ” แต่การสืบเสาะข้อมูลก็เปิดเผยว่า ยังคงมีอุตสาหกรรมที่ไร้กฎหมายและผิดข้อบังคับซึ่งดำเนินการโดยอาชญากรและเจ้าพ่อในประเทศไทย โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่รัฐ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยนายหน้าที่ยังคงจัดหาแรงงานต่างด้าวป้อนให้กับเจ้าของเรือ

“ผู้มีอำนาจในไทยจะต้องขจัดนายหน้าค้าแรงงานเหล่านี้ และจัดระบบการจ้างงานใหม่” เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่ทำงานด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว แสดงความเห็น “แต่รัฐบาลไม่ต้องการทำเช่นนั้น เขาไม่อยากลงมือจัดการปัญหา และตราบใดที่เจ้าของเรือยังคงซื้อขายผ่านนายหน้า โดยรัฐบาลไม่เข้ามากำกับดูแล ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่มีทางแก้ไข”

นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า อุตสาหกรรมการประมงในประเทศไทยจะพังทลายลงทันทีหากไม่มีแรงงานทาส พวกเขาคิดว่า รัฐบาลไทยจะไม่ลงมือจัดการปัญหานี้อย่างจริงจังเนื่องจากมีผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย จึงเรียกร้องให้ผู้บริโภคและผู้ค้าปลีกระดับโลก ร่วมมือกันแสดงออก

“แบรนด์ระดับโลกและผู้ค้าปลีกสามารถทำสิ่งที่ถูกต้องได้ โดยแทบไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง คือกำหนดให้ซัพพลายเออร์ส่งสินค้าที่มีมาตรฐาน และห้ามซื้อสินค้าจากแรงงานทาสและแรงงานเด็ก ถ้าผู้ค้าปลีกคิดว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจของพวกเขาขาดทุน ก็อย่าลืมว่า การกระทำเช่นนี้สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวและผู้ที่ถูกหลอกลวงมาขายแรงงาน” Lisa Rende Taylor จากองค์กรต่อต้านการค้าแรงงานทาสสากล กล่าว

The Guardian ได้ลองสอบถามไปยังผู้บริหารซุปเปอร์มาร์เก็ตภายหลังที่รายงานว่ามีการค้าทาสในห่วงโซ่อุปทานถูกเปิดเผย พวกเขาต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยกับการค้าแรงงานทาสและการค้ามนุษย์ และแจ้งว่าพวกเขามีกระบวนการตรวจสอบที่มาของสินค้าถึงสภาพความเป็นอยู่ในการผลิต ผู้ค้าหลายรายได้เข้าร่วม ‘โครงการอิสระ’ เพื่อพูดคุยถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาการค้าแรงงานทาสก็ได้เป็นประเด็นหนึ่งที่ประชุมในกรุงเทพฯ

วอลมาร์ท ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของโลกกล่าวว่า “เรากำลังศึกษาประเด็นดังกล่าว และมีบทบาทสำคัญร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ ในอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเล ประเทศไทย ”

คาร์ฟูร์ กล่าวว่า เขาได้ทำการตรวจสอบซัพพลายเออร์ทั้งหมด รวมทั้งโรงงานของซีพี ที่ผลิตกุ้งให้กับคาร์ฟูร์ ซึ่งได้มีการตรวจสอบที่รัดกุมมากขึ้นหลังได้รับสัญญาณเตือนในปี พ.ศ.2555 แต่คาร์ฟูร์ก็ยอมรับว่า ไม่ได้มีการตรวจสอบย้อนหลังไปถึงห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนก่อนมาถึงโรงงาน

คอสท์โค กล่าวกับ The Guardian ว่า เขาได้พูดกับซัพพลายเออร์ในประเทศไทย “ให้ไปดำเนินการให้ถูกต้อง เรื่องแหล่งที่มาของอาหารเลี้ยงสัตว์”

โฆษกของเทสโก้ กล่าวว่า “เรามองปัญหาการค้าแรงงานทาสเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเราจะทำงานร่วมกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารเพื่อให้มั่นใจว่า ห่วงโซ่อุปทานจะไม่มีการค้าแรงงานทาส รวมทั้งจะร่วมมือกับองค์กรแรงงานสากล และองค์กรเพื่อการค้าอย่างมีจริยธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมประมงประเทศไทย”

Morrisons อีกหนึ่งแบรนด์ค้าปลีกชื่อดังกล่าวว่า เขาจะต้องคุยกับซีพีอย่างเร่งด่วน “เราค่อนข้างกังวลหลังจากได้รับทราบถึงข้อเท็จจริง และนโยบายการค้าของเราได้ห้ามการซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่มีส่วนของการใช้แรงงานทาส”

ผู้บริหารบริษัท Aldi ประเทศอังกฤษ Tonu Baines กล่าวว่า “เรามีมาตรฐานของซัพพลายเออร์ที่ระบุไว้ในสัญญาของบริษัท ที่บังคับให้บริษัทที่ส่งสินค้าให้เราต้องทำตามกฎหมานสากล มาตรฐานทางอุตสาหกรรมขั้นต่ำ รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชนของ UN หรือองค์กรแรงงานสากล แล้วแต่ว่าเกณฑ์ของที่ใดจะเข้มข้นกว่า”

“มาตรฐานเหล่านี้ได้ระบุให้ซัพพลายเออร์ห้ามเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการค้าแรงงานทาส และการกระทำในลักษณะดังกล่าว Aldi ไม่สามารถรับได้กับการทำงานหรือสภาพแวดล้อมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน”

จากเว็ปไซต์ http://www.prachatai.com/journal/2014/06/53990
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  วิชาการ การศึกษา สำนักพิมพ์ นักเขียนหนังสือ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่