คนที่ซื้อ LTF ตั้งแต่ปี 2557 ก็ต้องถือ 5 ปีด้วยเหรอครับ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

หน้าแรก  Headline
Headline
คลังชักเนื้อหมื่นล้านขยายสิทธิLTFถือ5ปี
โดย ฐานเศรษฐกิจ -  6 พฤศจิกายน 2558 315

เงินบาท

คลังยอมเฉือนเนื้อปีละ 1 หมื่นล้าน ขยายสิทธิประโยชน์ภาษีให้ผู้ลงทุน LTF ต่อไปอีก 3 ปีจากที่สิ้นสุดปี 59 เผยเกณฑ์ใหม่ต้องถือยาว 7 ปีปฏิทินหรือ 5 ปี 2 วัน ยันจบปี 62 ไม่ขยายต่อแน่ ด้านบลจ.มองเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น จับตาโปรโมชันดึงเงินช่วงปี 58-59 “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” วิเคราะห์ฐานภาษี 20% ไม่กระทบ ห่วง “ไวต์คอลลาร์” กลุ่ม 25-35 ปีติดสภาพคล่องออมน้อยลง

5อันดับกองทุน LTF
5อันดับกองทุน LTF
ที่ประชุม ครม. (3 พฤศจิกายน) เห็นชอบหลักการขยายสิทธิประโยชน์เงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยให้ขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ที่ซื้อกองทุน LTF ดังกล่าวสามารถนำไปหักลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 15% แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ตามมติครม.ปี 2547 ทั้งนี้ ในประกาศของสมาคมจัดการลงทุนจะออกหนังสือเพื่อมอบให้กับผู้ที่ลงทุนในหน่วย LTF ดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานยื่นกับกรมสรรพากรซึ่งจะหมดอายุในปี 2559 นี้แล้ว โดยหลักการใหม่นี้ได้ขยายสิทธิประโยชน์ดังกล่าวออกไป 3 ปี ไปสิ้นสุดในปี 2562

ขยายเป็น7 ปีปฏิทินถึงปี 62เท่านั้น

ทั้งนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบในหลักการให้จบสิ้นในปี 2562 เท่านั้น โดยหลังจากนี้จะไม่ต่ออายุสิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ส่วนเรื่องระยะเวลากองทุน LTF นั้นเดิมระบุต้องถือเป็นเวลา 5 ปีปฏิทิน ทำให้ผู้ลงทุน LTF ส่วนใหญ่จะเข้าซื้อวันสุดท้ายของปี แต่ขายวันแรกของปี (ปีที่ 5 ตามปีปฏิทิน) ดังนั้นจึงถือจริงเพียง 3 ปี 2 วันครม.มีความเห็นว่า ถ้าจะให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อการออมระยะยาวและเป็นผลดีต่อตลาดทุน จึงเห็นชอบในหลักการให้ขยายจาก 5 ปีปฏิทินเป็น 7ปีปฏิทิน

ผู้ซื้อในปี57ต้องถือยาวถึงปี62

ต่อเรื่องนี้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ยังได้ยกตัวอย่างกรณีผู้ที่เข้าลงทุน LTF ในปี 2557ว่าตามที่ครม.มีมติดังกล่าว ส่งผลให้การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมที่หมดในปี 2559 ขยายต่ออีก 3 ปีเป็น 2562 ดังนั้นผู้ลงทุน LTFในปี 2557 หรือปี 2558 ก็ตาม ก็ต้องยึดตามประกาศครม.ใหม่คือต้องถือต่อเนื่องจากปี 2560 ถึง 2562 หรือต้องถือครบ 5 ปี 2 วัน จากเดิมที่ยึดตามปีปฏิทินทำให้ถือจริงเพียง 3 ปี 2 วัน

รัฐสูญปีละ1หมื่นล้านแต่เชื่อคุ้ม

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ซื้อLTFส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีฐานะเพราะเป็นการซื้อเพื่อมุ่งหวังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปลายปี และปจั จบุ ันผู้ลงทุน LTF คิดเป็นสัดส่วน 2% ของการลงทุนรวมในตลาดทุนไทย อย่างไรก็ดีเมื่อมาตรการนี้มีผล คาดจะทำให้รายได้ต่อปีหายไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หากระยะเวลาโครงการอยู่ที่ 5 ปี รายได้ที่ต้องสูญเสียไปไม่ตํ่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าสิ่งที่ได้มากกว่าที่เสียไปคือ การเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนให้สามารถวางแผนการลงทุนได้ในระยะยาว และด้านตลาดทุนไทยก็มีความน่าเชื่อถือ ช่วยให้คนออมและลงทุนมากขึ้น เพราะหากไม่ได้ LTF อาจทำให้ต่างชาติถอนเงินกลับต่างประเทศได้ โดยมีวงเงินไหลอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท

บลจ.มองเป็นเรื่องดีต่อตลาดหุ้น

ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)วรรณ จำกัด กล่าวว่าการขยายเวลากองทุน LTF ออกไปอีก 3ปี ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้มีสภาพคล่องเข้ามาในตลาดหุ้นมากขึ้นในปีหน้าจากเดิมที่ผู้ลงทุนจะกังวล ส่วนการยืดระยะเวลาลงทุนตามปีปฏิทิน จาก 3 ปี 2วัน เป็น 5 ปี 2 วัน ก็ถือเป็นเรื่องดีเพราะเป็นการส่งเสริมเรื่องการลงทุนระยะยาวและมองว่ามาตรการใหม่นี้จะไม่มีผลต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวม

“ในปี 2560 สำหรับนักลงทุนที่ถือกองทุน LTF ครบอายุก็อาจจะมีการไถ่ถอนเงินคืนออกมาบ้าง แต่หลังจากนั้นคาดว่าจะลงทุนต่อ” ดร.วิน กล่าว

ฐานภาษี 20% ไม่กระทบ

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุนรวม บริษัท มอนิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด มีความเห็นว่า การขยายระยะเวลาการลงทุนในกองทุนLTF เป็น 5 ปี 2 วัน (นับตามปีปฏิทิน)จากปัจจุบันที่ลงทุน 3 ปีกับ 2 วัน หรือเพิ่มระยะเวลาการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 2 ปีอาจทำให้มนุษย์เงินเดือนหรือ ไวต์คอลลาร์ บางกลุ่มเริ่มคิดเหมือนกัน เพราะอาจมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง

โดยกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนช่วงอายุ25-35 ปี (ผู้ที่ลงทุนในLTF มากที่สุด จะมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป) เพราะเป็นช่วงที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงเพื่อสร้างฐานะ เช่นซื้อรถ ซื้อบ้าน และเรียนต่อ เป็นต้น ดังนั้นจะทำให้คนกลุ่มนี้จัดสรรเงินสำหรับการออมน้อยลง ผลที่ตามมาคือ อาจมีผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมกองทุนLTFส่วนมนุษย์เงินเดือนอายุ 40 ปีขึ้นไป มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการสร้างฐานะน้อยลง ดังนั้นคนกลุ่มนี้อาจไม่กระทบ

“ไวต์คอลลลาร์ ที่คาดว่าไม่ได้รับผลกระทบ หรือไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง คือ กลุ่มบน ที่มีฐานเสียภาษีในอัตรา 20% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับผู้บริหาร”

จับตาบลจ.จัดโปรโมชันดึงเงิน

ส่วนกรณีกระทรวงการคลังขยายเวลาการลงทุนในกองทุน LTFออกไปอีก 3 ปี จากเดิมที่จะครบอายุในปี 2559 นั้น กิตติคุณ กล่าวว่า ถือเป็นข่าวที่มีความชัดเจนเพราะจะทำให้มนุษย์เงินเดือน ได้กำหนดเรื่องการวางแผนการลงทุนได้

“คาดว่าช่วงที่เหลือของปี 2558และปี 2559 ทั้งปี ไวต์คอลลาร์ ที่ต้องการวางแผนลดหย่อนภาษีในกองทุน LTFตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และแห่มาลงทุนมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ จะทำให้มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น ก็เปรียบเสมือนเป็นช่วงที่ใกล้หมดโปรโมชัน” นายกิตติคุณ กล่าวและว่า

บลจ.จะโหมจัดโปรโมชันเพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนในกองทุนLTF มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ลังเลเรื่องการลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน LTF ดังนั้นคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2558 และปี 2559 ทั้งปี จะมีเงินไหลเข้ากองทุนLTF พอสมควร จากปกติที่ไหลเข้าปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท และบางปีไหลเข้ามากถึง 3.4 หมื่นล้านบาท

ส่วนปี 2558 นี้คาดว่าเงินจะไหลเข้าใกล้เคียงปี 2557 สำหรับช่วงเกือบ10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค.) เงินไหลเข้ากองทุน LTF สุทธิ 3-4 พันล้านบาทซึ่งโดยปกติจะไหลเข้ามามากในเดือนธันวาคมของทุกปี

นายกิตติคุณ กล่าวว่า มีกองทุนLTFที่จะครบอายุ 5 ปี ในปี 2559 มูลค่าสะสมสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท เนื่องจากช่วงปี2552-2554 มีเงินไหลเข้าลงทุนในกองทุนดังกล่าวจำนวนมาก เพราะช่วงนั้นตลาดหุ้นตกตํ่าจากวิกฤติซับไพรม์ ทำให้ตลาดหุ้นน่าลงทุน

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556ขนาดของกองทุน LTF มีประมาณ 2.14 แสนล้านบาท จำนวน 9.6 แสนบัญชี ขณะที่กองทุน RMF มีขนาด 1.38 แสนล้านบาท จำนวน 4.92 แสนบัญชี และข้อมูลปี 2553 พบว่าผู้ที่จ่ายภาษีโดยมีฐานรายได้ตั้งแต่ 1.5 แสน -1 ล้านบาท คิดเป็น97% ของผู้เสียภาษีทั้งหมดจึงได้สิทธิในการซื้อและลดหย่อนภาษี

เปิดฐานรายได้เทียบลดหย่อน

โดยผู้ที่มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 3 แสนบาท สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 2.93พันบาท 2.ผู้มีเงินได้สุทธิ 5 แสนบาท ลดหย่อนสูงสุด 8.85 พันบาท 3.ผู้มีเงินได้สุทธิ 7.5 แสนบาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด1.89 หมื่นบาท 4.กรณีเงินได้ 1 ล้านบาทลดหย่อนภาษีสูงสุด 3.27 หมื่นบาท 5.กรณีเงินได้สุทธิ 2 ล้านบาท ลดหย่อนภาษีสูงสุด 7.83 หมื่นบาท และ 6. กรณีผู้มีรายได้สุทธิ 4 ล้านบาท สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 1.5 แสนบาท
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่