เรื่องราวของ "ขงเบ้ง" ในสามก๊กของหลอกวนตง มีเค้าความจริงถึง 50 เปอร์เซนต์ไหมครับ?

เรื่องราวของ "ขงเบ้ง" ในสามก๊กของหลอกวนตง เป็นเรื่องจริง หรือมีเค้าความจริงถึง 50 เปอร์เซนต์ไหมครับ?

(ความเห็นส่วนตัวผมนะครับ ตรงด่าอองลองตกม้าตาย เรียกลม หรือสร้างโคยนต์นี่น่าจะแต่ง แต่ตรงดีดพิณลวงสุมาอี้ ขโมยเกาฑัณฑ์ หรือที่นอนรอให้เล่าปี่ไปเชิญ 3 ครั้ง น่าจะมีเค้าจริง แต่ผมอาจจะผิดนะครับ 55555)

ท่านที่เป็นเซียนสามก๊กช่วยไขความกระจ่างให้ผมหน่อยครับ
พาพันขอบคุณ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
ล่าสุด ผมได้แปลเรื่องของขงเบ้งจากจดหมายเหตุสามก๊กฉบับเฉินโซ่ว และค้นคว้าจากบันทึกประวัติศาสตร์หลายฉบับไว้ในเล่มนี้แล้วครับ ลองดูเลย




แต่ถ้าให้สรุปคร่าวๆง่ายๆก็

-    ในนิยายสามก๊ก หลอก้วนจงได้เล่าเรื่องราวในศึกผาแดงที่มีขงเบ้งเป็นตัวละครเอกในฐานะผู้วางแผนการอยู่เบื้องหลัง ในการช่วยจิวยี่เผาทำลายทัพเรือของโจโฉ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำศึกน้ำลายทำการโต้วาทีกับเหล่าขุนนางง่อก๊กจนชนะได้ หรือการวางแผนยั่วยุกระตุ้นโทสะและทิฐิมานะของซุนกวนเพื่อล่อให้เขายอมเปิดศึกกับโจโฉ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้มีรายละเอียดคล้ายคลึงกัน แต่ในนิยายสามก๊กจะเพิ่มเติมสีสันและการใช้ปัญญาให้ขงเบ้งเอาชนะเหล่าขุนนางของง่อก๊กได้ชัดเจนมาก แล้วยังเพิ่มเติมบทที่ให้ขงเบ้งไปเข้าพบจิวยี่ แล้วขงเบ้งก็กล่าวยั่วยุจิวยี่เพื่อกระตุ้นให้สู้ศึกด้วยการที่ขงเบ้งร่ายบทกวีหอนกยูงแล้วอ้างว่าโจสิดเป็นผู้แต่งให้โจโฉ โดยบทกวีนั้นแฝงนัยยะว่าต้องการโอบกอดนางสองเกี้ยว ภรรยาของจิวยี่และของซุนเซ็กที่ล่วงลับไปแล้วไว้ทั้งซ้ายและขวา จึงทำให้จิวยี่โกรธจัดแล้วประกาศไม่อยู่ร่วมโลกกับโจโฉ แต่ดังที่ในจดหมายเหตุบันทึกไว้ข้างต้น จะพบว่าจิวยี่มีใจคิดสู้ศึกแต่แรกอยู่แล้ว ผู้ที่ขงเบ้งไปเจรจาเกลี้ยกล่อมเป็นหลักค่อซุนกวนเท่านั้น อีกทั้งหอนกยูงเริ่มสร้างหลังจากศึกผาแดง จึงเป็นไปไม่ได้แน่นอนที่จะมีบทกวีดังกล่าวออกมา

-    ในนิยาย ขงเบ้งได้เดิมพันกับจิวยี่ว่าจะหาลูกเกาทัณฑ์จำนวนหลายร้อยดอกมาให้ จึงใช้อุบายแต่งเรือฟางออกไปในยามหมอกลงจัด เชิญโลซกไปร่วมดื่มสุราในเรือ แล้วล่อให้ทหารโจโฉยิงเกาทัณฑ์ใส่แล้วปักอยู่บนเรือฟาง จึงสามารถนำลูกเกาทัณฑ์กลับมามอบให้จิวยี่ได้ แต่แผนอุบายนี้ไม่เคยมีบันทึกไว้ แล้วในแง่ความเป็นจริงก็นับว่าเป็นไปไม่ได้ที่จิวยี่จะสั่งให้ขงเบ้งที่เป็นกุนซือของเล่าปี่ไปทำงานเสี่ยงตายโดยใช่เหตุเช่นนั้น

-    ขงเบ้งเป็นผู้เสนอแผนผาทัพเรือโจโฉในนิยาย แล้วชี้ว่าจะต้องใช้ลมบูรพา ซึ่งขุนพลของง่อก๊กคนอื่นๆเองก็คิดเรื่องการใช้เพลิงเผาเรือโจโฉเช่นกัน แม้แต่ในเหล่าขุนพลของโจโฉก็ระแวงเรื่องที่อาจจะโดนแผนเพลิงพิฆาตเล่นงานทัพเรือด้วย แต่เพราะขุนพลฝ่ายโจโฉเห็นว่าไม่มีลมพัดแรง ดังนั้นต่อให้ใช้ไฟเผาทำลาย ก็จะไม่เกิดความเสียหายเท่าไรนัก หรือต่อให้มีการใช้โซ่เหล็กขึงล่ามเรือทุกลำต่อกันไว้ ไฟที่ติดจากเรือหนึ่งลำก็จะไม่กระพือไปสู่เรือลำอื่นได้แน่ ดังนั้นปัญหาคือต้องรอให้เกิดลมพัดแรง แผนเพลิงพิฆาตจึงจะใช้ได้ ซึ่งในนิยายสามก๊กนั้น ขงเบ้งจะสามารถแก้ปัญหาให้ทัพง่อด้วยการทำพิธีอัญเชิญลมบูรพา เพื่อให้เพลิงสามารถเผากระพือทัพเรือโจโฉได้ แต่อันที่จริงแล้ว สิ่งนี้น่าจะมาจากความสามารถในการอ่านภูมิอากาศและกระแสลมของขงเบ้งมากกว่าจะเป็นเรื่องการใช้คาถาอาคมที่เป็นไสยศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ไม่มีบันทึกไว้เช่นกัน

-    ในนิยาย เมื่อเล่าปี่ตั้งตนขึ้นเป็นฮั่นจงอ๋องแล้ว ขงเบ้งก็ได้รับตำแหน่งเป็นนายพลเสนาธิการ หรือเป็นกุนซือใหญ่ แต่ที่จริงแล้วโดยตำแหน่งนั้น การประการศแต่งตั้งเหล่าขุนนาง มีชื่อของหวดเจ้งมาก่อนหน้าชื่อของขงเบ้งในตำแหน่งกุนซือด้วยซ้ำ จึงน่าสงสัยว่าแท้จริงแล้วระหว่างขงเบ้งและหวดเจ้ง ใครกันแน่ที่มีตำแหน่งกุนซือในกองทัพสูงต่ำกว่ากัน แต่หลังจากหวดเจ้งตายลง แล้วเล่าปี่ขึ้นเป็นฮ่องเต้ ขงเบ้งก็ได้เป็นผู่มีอำนาจสูงสุดในตำแหน่งสมุหนายกโดยปราศจากคู่แข่ง มีเพียงลิเงียมเท่านั้นที่ได้รับตำแหน่งและอำนาจเป็นรองจากขงเบ้ง  

-    ในนิยาย ขงเบ้งได้คาดการณ์ไว้นานหลายปีว่าอุยเอี๋ยนอาจจะก่อกบฏ จึงวางแผนจัดการอุยเอี๋ยนไว้ก่อนหน้าที่ตนจะสิ้นชีพ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีปรากฏ ในจดหมายเหตุบทประวัติอุยเอี๋ยนได้มีบันทึกเรื่องนี้ว่า ขงเบ้งไม่ค่อยพอใจพฤติกรรมของอุยเอี๋ยนที่เป็นคนมีนิสัยหยิ่งยโสและเชื่อมั่นในตนเองสูงเกินไป แล้วส่วนตัวนั้นอุยเอี๋ยนเองก็ไม่ค่อยถูกกันกับเอียวหงีที่เป็นเลขาธิการของขงเบ้งด้วย ความจขัดแย้งนั้นรุนแรงมากถึงขั้นที่อุยเอี๋ยนเคยชักกระบี่ขู่จะฆ่าเอียวหงีด้วยซ้ำ การที่เหล่าขุนพลและขุนนางมีปัญฆากันเองในกองทัพเช่นนี้จึงเป็นอุปสรรคใหญ่มากสำหรับขงเบ้งในการบัญชาทัพออกศึก แต่เพราะจ๊กก๊กในยุคหลังขาดแคลนขุนพลที่มีความสามารถคนอื่นที่จะรับภาระสำคัญในการทำศึก ขงเบ้งจึงจำเป็นต้องใช้งานอุยเอี๋ยนต่อไป แล้วความขัดแย้งเช่นนี้เองก็ได้นำไปสู่จุดจบของอุยเอี๋ยนในท้ายที่สุดด้วย

-    ในนิยาย นอกจากขงเบ้งกับจิวยี่ที่เป็นคู่ปรับต่อกันแล้ว ยังมีสุมาอี้อีกคนที่นับได้ว่าเป็นคู่ปรับฟ้าประทาน ขงเบ้งและสุมาอี้ได้ทำศึกแล้วเผชิญหน้ากันในฐานะแม่ทัพใหญ่เรื่อยมาตั้งแต่การศึกที่เขากิสานครั้งแรกจนกระทั่งถึงศึกที่หวู่จ้างหยานในครั้งสุดท้าย แต่จากในจดหมายเหตุจะพบว่าขงเบ้งได้เผชิญหน้ากับสุมาอี้ในสนามรบจริงเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือศึกครั้งที่ 5 และ 6 ก่อนหน้านั้นแม้ว่าสุมาอี้จะได้เป็นแม่ทัพ แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสเปิดศึกกับขงเบ้งโดยตรง ในศึกเขากิสานครั้งแรกนั้น แท้จริงแล้วแม่ทัพที่นำทัพมาทำศึกกับขงเบ้งจริงๆคือเตียวคับ ส่วนสุมาอี้นำทัพไปปราบกบฏเบ้งตัดที่เมืองอ้วนเสีย แล้วคอยเฝ้าระวังทางซุนกวนต่อไป

-    ในนิยายเล่าถึงศึกที่เขากิสานครั้งแรกหลังจากม้าเจ๊กพ่ายแพ้ที่เกเต๋งไปแล้วว่า ขงเบ้งซึ่งกำลังตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เมื่อสุมาอี้นำทัพบุกมาประชิดเมือง ขงเบ้งจึงจำต้องใช้กลยุทธ์เปิดเมืองว่าง โดยการขึ้นไปเล่นพิณบนกำแพงปราสาทแล้วเปิดประตูเมืองเพื่อหลอกล่อสุมาอี้ว่ามีทหารดักซุ่มไว้ แต่แท้จริงเพื่ออาศัยความเป็นคนเจ้าความคิดของสุมาอี้ให้แพ้ทางตนเอง เพราะเวลานั้นขงเบ้งมีทหารประจำทัพเพียงน้อยนิด ไม่สามารถต้านทานสุมาอี้ได้ สุดท้ายสุมาอี้ก็หลงกลแล้วถอยทัพกลับไป ซึ่งแผนอุบายเมืองว่างดังกล่าวนี้ ก็ไม่ได้ปรากฏว่ามีบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับใดที่ระบุว่าขงเบ้งได้เคยนำมาใช้ ซึ่งหากอ้างอิงจากจดหมายเหตุทั้งหมดแล้ว ในยุคสามก๊กนั้นมีขุนพลเพียงสามคนที่เคยใช้กลยุทธ์นี้ในการทำศึกแล้วได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ได้แก่ จูล่งแห่งจ๊กก๊ก บุนเพ่งแห่งวุยก๊ก และจูเหียนแห่งง่อก๊ก เพียงเท่านั้น



ดังนั้นพอจะบอกได้ว่า ผลงานทางทหารของขงเบ้งเกินกว่า 70% เป็นเรื่องแต่งในนิยายครับ แต่หลอก้วนจงเขียนดีมาก แล้วเป็นการเขียนโดยที่นำเอาตำนานและเรื่องเล่าเกี่ยวกับขงเบ้งมาใส่ไว้ ทำให้ดูเนียนมาก เพราะหลายเรื่องก็มาจากนิทานและความเชื่อของชาวบ้าน เป็นตำนานของขงเบ้งที่มีอยู่จริง แต่ไม่ได้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการ แล้วหลายเรื่องก็ดูเว่อร์ ซึ่งสาเหตุหลักข้อหนึ่งเพราะ "ในยุคสามก๊ก ขงเบ้งมีภาพลักษณ์ประดุจเซียนผู้วิเศษในลัทธิเต๋า" เพราะจ๊กก๊ก และที่เมืองฮั่นจง เป็นดินแดนแห่งลัทธิเต๋าที่เข้มข้นมานานมาก

ส่วนผลงานทางการเมืองการปกครอง และการประดิษฐ์นวัตกรรมนั้น ถือเป็นผลงานชิ้นเอกจริงๆของขงเบ้งครับ อาจจะมีแต่งเสริมบ้าง แต่ด้านนี้จะไม่มากนัก เพราะความสุดยอดและความถนัดของขงเบ้งจริงๆแล้วน่าจะอยู่ที่การเมืองการปกครองและการจัดสรรระบบของกองทัพให้เข้มแข็ง ซึ่งหลักฐานอยู่ที่ "ตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง" (หาฉบับแปลไทยโดยคุณอมร ทองสุก เป็นผลงานที่แปลดีที่สุด) ถือว่าเป็นตำราฝึกกองทัพชั้นยอดเลยครับ เน้นไปที่ วินัยทหาร คัดสรรบุคลากร เลือกสรรขุนพล ให้รางวัล ลงโทษ ความซื่อตรงและจริงจังของผู้นำทัพ เรียกง่ายๆว่าขงเบ้งแกเป็นไอดอลของผู้นำที่มีความเคร่งครัดในวินัยใช้ได้เลย

ส่วนที่มีนักเขียนบางท่านกล่าวโจมตีขงเบ้ง อันน้นเปป็นเทคนิคการเขียนให้แตกต่างและน่าสนใจครับ บางข้อมูลเกี่ยวกับด้านบวกของขงเบ้ง ผมว่าแกก็รู้นะ แต่จงใจไม่พูดถึงเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่