ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด... จากนวนิยายสู่ละครโทรทัศน์

การแปรรูปจากสื่อหนึ่งเป็นอีกสื่อหนึ่ง (กรณีนี้คือจากนวนิยายเป็นละครโทรทัศน์) แน่นอนว่า ผู้เขียนบทละครและผู้กำกับจะต้องดัดแปลงรายละเอียดบางอย่างเพื่อความเหมาะสมในการสื่อและผลในการติดตามชม ซึ่งอาจมีการเพิ่ม ลด ตัดทอน หรืออาจตีความใหม่ก็ได้

ละครเรื่องผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ออกอากาศมาเป็นสัปดาห์ที่สองแล้ว (ช่อง One) เท่าที่ติดตามมาพบว่า ละครเดินเรื่องเร็วมาก อาจเพื่อความกระชับหรืออยากให้ทันอกทันใจ จนรู้สึกว่ามันเร็วเกินจนขาดการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่มีผลต่อชีวิตบุญรอด เช่น บุญรอดกับครูอรพินที่มีพระคุณ บุญรอดกับจินต์ซึ่งเป็นรักแรกของบุญรอด บุญรอดกับแม่ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาเพราะแม่โอ๋ลูกชายและกดลูกสาว บุญรอดกับโรเบิร์ตนายช่างที่เห็นความเป็นนักต่อสู้ของบุญรอดจนเชื่อมั่นและเป็นคู่ชีวิตของบุญรอดในท้ายสุด ละครไม่ได้แสดงความสัมพันธ์ตรงนี้อย่างลุ่มลึกเท่านวนิยาย ทำให้เรื่องออกมาดูลอยๆ ไปนิด ขาดพัฒนาการของตัวละคร และขาดอารมณ์ความรู้สึกร่วมของคนดูเท่าที่ควรจะเป็น

ในทางกลับกัน บทละครไปเน้นภาพกลุ่มเมียเช่าอย่างกลุ่มสุณีและผองสตรีอาชีพบริการเสียจนฉูดฉาด เกินความจำเป็นของเรื่องไปนิดและละครเพิ่มตัวละครเพศที่สามเข้ามาเยอะไปหน่อยไม่แน่ใจว่าเพื่อหวังเรียกเรตติ้งหรือเปล่าโดยเฉพาะการเปลี่ยนบทคุณป้อมเจ้าของร้านรสทิพย์จากเจ้าของร้านผู้หญิงให้เป็นเพศที่สามที่เกลียดเมียเช่า เพราะมันจะมีประเด็นที่คุณป้อมด่าบุญรอดด้วยความรู้สึกดูถูกบุญรอด บุญรอดจึงด่าสวนกลับอย่างเจ็บแสบไม่ไว้หน้า (ไม่ยอมให้ใครมาดูถูกแม้จะเป็นนายจ้างก็ตาม) และบุญรอดลาออกมาทำขนมปังขายเป็นอิสระเองซึ่งเป็นจุดพัฒนาการสำคัญจุดหนึ่งของเรื่อง 

ประเด็นผู้หญิงดูถูกผู้หญิงด้วยกันเอง ส่วนตัวคิดว่าสำคัญเพราะปัญหาอย่างหนึ่งของการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงก็คือผู้หญิงด้วยกันเองนี่แหละ ผู้หญิงจึงไม่ได้ต่อสู้กับเพศตรงข้ามเท่านั้น แม้เพศเดียวกันก็ยังมีทรรศนะในเชิงกดขี่กันเอง จึงเหนื่อยยากเป็นสองชั้น อาจเพราะละครอยากจะดึงคนดูด้วยฉากสีสันจัดจ้านของกลุ่มตัวละครกลุ่มนี้ (ทั้งกลุ่มเมียเช่าและกลุ่มเพศที่สาม) ก็ได้ จนรู้สึกว่ามากไปนิด และดังนั้น ในตอนที่บุญรอดทะเลาะกับคุณป้อมเจ้าของร้านซึ่งเป็นเพศที่สามจึงดูเหมือนประเด็นจะอ่อนไปนิด (คำที่บุญรอดโต้ตอบกับคุณป้อมตอนที่คุณป้อมดูถูกบุญรอด ถ้าผู้ฟังเป็นผู้หญิงจะรู้สึกแรงกว่ามาก)

จริง ๆ แล้วตัวบทนวนิยายพยายามให้ภาพของผู้หญิงที่มีอาชีพเหล่านี้เพื่อให้คนเข้าใจว่า ทางเลือกของผู้หญิงแต่ละคนนั้นต่างกันขึ้นอยู่กับโอกาสและต้นทุนชีวิตของแต่ละคน ขณะเดียวกันก็เพื่อเปรียบเทียบกับบุญรอดที่เชื่อมั่นในพลังสร้างสรรค์ด้วยสองมือสองตีนของตนจึงสามารถยืนหยัดและเอาชนะคำดูถูกของคนทั่วไปที่เหมารวมบุญรอดว่าไม่ต่างอะไรกับเมียเช่า บุญรอดจึงไม่เสียเวลาไปกับการด่าทอทะเลาะตบตีกับกลุ่มบรรดาเมียเช่าเหล่านี้เหมือนในละคร แต่ใช้เวลาไปกับการเดินหน้าเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่ตนและครอบครัว เพราะบุญรอดเชื่อมั่นในตัวเองไม่ค่อยแคร์ปากชาวบ้าน และจะว่าไปแล้วบุญรอดเองก็ออกจะเห็นใจผู้หญิงเหล่านี้ด้วยซ้ำไป เพราะพี่สาวของบุญรอดก็เป็นเมียเช่าราคาถูกด้วยความสำนึกในความกตัญญูที่มีต่อแม่ ซึ่งเกิดขึ้นจริง ๆ กับผู้หญิงอีกหลาย ๆ คนในสังคมไทยและนับเป็นความอยุติธรรมที่สังคมมองไม่เห็นว่า ผู้หญิงเหล่านี้จะต้องทนทุกข์ทรมานเพียงใด (ดังนั้น ในนวนิยายจึงไม่ค่อยมีบทปะทะกับกลุ่มเมียเช่าเท่าไรนัก ยกเว้นตอนที่สุณีมาด่าบุญรอดถึงบ้านเช่า บุญรอดก็ไม่พูดอะไรมาก แต่เอาจริง ตบทีเดียว สุณีเข็ดและกลัวความเอาจริงของบุญรอด) แม้ว่าในละครก็พยายามชี้ประเด็นเหล่านี้ แต่สีสันจัดจ้านของกลุ่มสุณีและพวก (ที่วัน ๆ เอาแต่ด่าทอทะเลาะตบตีแย่งผู้ชาย) ที่ละครนำเสนอมามันไปบดบังหรือกลบประเด็นที่ว่าให้เจือจางไปบ้าง การเสนอภาพการต่อสู้ของบุญรอดจึงดูเหมือนยังไปไม่สุดทาง ครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพราะเหตุที่กล่าวมา ดูแล้วจึงรู้สึกว่ายังไม่ค่อยเอาใจช่วยบุญรอดสักเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี การแสดงของนุ่น ศิริพันธ์ในบทสำคัญที่เป็นแกนนำของเรื่องก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดี เป็นบุญรอดที่แตกต่างกับเวอร์ชั่นอื่นเพียงแต่อาจยังดูไม่แกร่งเท่าบุญรอดสามเวอร์ชั่นก่อนที่เคยสร้างมา (มยุรา ธนะบุตร ลินดา ค้าธัญเจริญ และจันทร์จิรา จูแจ้ง) และการพูดของนุ่นยังมีลักษณะการ "ตะเบ็ง" เสียงไปนิด แต่อาจต้องรออีกหน่อยที่นุ่นอาจ "ปล่อยของ" ในตอนต่อ ๆ ไป (ยังมีความเข้มข้นรออยู่อีกเยอะ) แต่สิ่งสำคัญคือคิดว่าน่าจะอยู่ที่บทละครมากกว่า ที่เมื่อถึงตอนที่บุญรอดต้องเผชิญกับการปฏิบัติของคนอื่นต่อเธอ ละครก็ตัดฉับทั้ง ๆ ที่น่าจะไปได้อีกนิด อาจเพราะผู้กำกับไม่อยากได้อารมณ์ฟูมฟาย แต่ส่วนตัวรู้สึกว่ายังไปได้อีกนิดนะ ไม่ต้องถึงกับโต้ตอบหรือแสดงออกอะไรมากมาย แต่แค่เพิ่มการฉายอารมณ์ผ่านสีหน้าและแววตาของตัวแสดงให้มากขึ้นอีกนิด เชื่อว่านุ่นเอาอยู่อยู่แล้ว แต่ละครก็พาคนดูหนีไปอย่างรวดเร็วอย่างน่าเสียดาย

สิ่งที่ขาดหายไปอีกอย่างคือ บทสนทนาของบุญรอดจากนวนิยาย รู้สึกว่าคนเขียนบทไม่ค่อยได้เอามาใช้ประโยชน์เท่าไร ทั้ง ๆ ที่หลายตอนเป็นบทสนทนาที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ของบุญรอดที่โบตั๋นเสนอไว้ ถ้าเอามาใช้อย่างถูกจังหวะ ความเห็นส่วนตัวคิดว่าจะเข้มข้นขึ้นกว่านี้

ส่วนองค์ประกอบอื่นเช่น ฉากและเพลง แม้อาจจะรู้สึกถึงความจงใจในการ "จัดวาง" ไปนิด แต่ก็สวยงามและเข้ากับบรรยากาศเนื้อเรื่องดีมาก ชอบมุมกล้องและภาพที่ออกมาสวยมาก

อย่างไรก็ตาม ละครเรื่องนี้ก็นับได้ว่าป็นละครสร้างสรรค์ที่ได้นำเสนอเนื้อหาฉีกไปจากละครเรื่องอื่น ๆ  เป็นทางเลือกอีกหนึ่งทางให้แก่คนดู โดยส่วนรวมถือว่าชอบครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่