อามิสบูชา : หลวงปู่หล้า เขมปัตโต



พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร

...

ผู้ถาม : คนศรีลังกานี่ไม่ค่อยไหว้พระพุทธรูปนะฮะ
จะไหว้ต้นโพธิ์นะครับที่ผมเห็นมา  พอผมเดินเข้าไปในวัดเนี่ย
เขาจะชี้เลยว่าให้ผมถอดรองเท้า กระผมก็ต้องถือรองเท้าเดินเข้าไป
ผมจะเข้าไปไหว้พระพุทธรูป  ในขณะเดียวกัน
ชาวศรีลังกาจะไหว้ต้นโพธิ์ ไหว้ต้นพระศรีมหาโพธิ์

หลวงปู่หล้า : พระพุทธรูปก็ดี ต้นโพธิ์ก็ดี ก็มีความหมายอันเดียวกัน
ก็เป็นที่เกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดา มีความหมายอันเดียวกัน


ผู้ถาม : แต่พอมาถึงบ้านเรานี่เราจะไหว้พระพุทธรูป
เรียกว่า ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับร้อยเปอร์เซ็นต์
ศาสนาพุทธจะไหว้พระพุทธรูปก่อน อย่างต้นโพธิ์นี้
รู้สึกจะไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงเท่าไรเลยฮะ

หลวงปู่หล้า : ต้นโพธิ์ก็เป็นที่ตรัสรู้ของพระบรมศาสดา..เป็นร่ม  
เป็นพุทธานุสติแล้วระลึกถึงในตัวก็ได้  
พระพุทธรูปก็แทนรูปของพระบรมศาสดา

เช่น ไฟอย่างนี้พระบรมศาสดา ดอกไม้เหล่านี้
พระบรมศาสดาท่านชอบหรือ?
เราเอาไปบูชาทำไม ท่านชอบชอบดมดอกไม้หรือ?
..ก็เอาไป “บูชาคุณ” เฉยๆ ไม่ใช่ว่าท่านดมดอกไม้  


แสงสว่างก็เหมือนกัน  ไฟอย่างนี้ เอาไปบูชาพระคุณของท่าน
เป็น “อามิสบูชา” ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺ มงฺคลมุตฺตมํ  

บูชาในพระพุทธศาสนามีสอง  อามิสบูชา ๑ ปฏิบัติบูชา ๑
แต่ปฏิบัติบูชามีอานิสงส์มากกว่าอามิสบูชา  
ปฏิสันถารในทางพระพุทธศาสนาก็มีสอง
"อามิสปฏิสันถาร"  ก็ปฏิสันถารด้วยอามิส ข้าว,น้ำ เป็นต้น
"ธรรมปฏิสันภาร"  ปฏิสันถารโดยธรรม  ด้วยธรรมะ
กล่าวธรรมะถึงกันและกัน  แต่จะเว้นอามิสปฏิสันถารก็ไม่ได้
จะเว้นอามิสบูชาก็ไม่ได้เหมือนกัน  ทิ้งไม่ได้  


ยกอุทาหรณ์เช่น กระทาชายได้ดอกบัวมา
เราจะไปถวายบูชาพระมาลัย  พระมาลัยเมื่อท่านได้รับแล้ว
เออ เราเข้าฌานได้ เราควรจะไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี
พระมาลัยพอเข้าฌานเสร็จบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี  
ที่คนทั้งหลายปฏิเสธอามิสบูชาโดยถ่ายเดียวก็ไม่ถูก  
อามิสเราก็ควรบูชา นี่พูดอย่างนั้นดอก  
บางท่านเขาเอาธูปเอาเทียนมา ..ขว้างทิ้ง..เออ..ฉลาดเกินครูไป  

เขาเอามาให้โดยชอบธรรมโดยเราไม่ได้ขอ
เราก็บูชาไปคุณของท่าน

ทีนี้บุคคลผู้เกิดมาในวัฏสงสาร  ผู้มีตาใสแจ๋วน่ะ
ตลอดถึง ๙๐ ปีก็ยังสนเข็มได้
ก็เพราะเคยถวายแสงสว่างแต่ชาติก่อน  
นางอุบลวรรณาเอาดอกบัวไปถวายพระปัจเจก  
เกิดมาภพใดชาติใดขอให้ข้าพเจ้ามีสีเหมือนดอกบัว  
นางอุบลวรรณาก็ต้องมีสีเหมือนดอกบัวมาตั้ง ๕๐๐ ชาติ
  
วรรณา..วรรณะ แปลว่า สี วรรณะ แปลว่า สีกาย  
อุบล..อุปะละ อุบล  แปลว่า ดอกบัว  
นางท่องเที่ยวในวัฏสงสารนานไปนานมา
ก็เข้าสู่พระนิพพาน เฝ้าพระบรมศาสดา  
นางอุบลวรรณากับนางกัณหาก็อันเดียวกัน  แต่คนละชาติ
นางกัณหาชาติเป็นพระเวสสันดร  นางอุบลวรรณาเป็นชาติสุดท้าย
ชาติสุดท้ายที่เข้าสู่พระนิพพาน ก็นางเก่านั่นเอง

...

ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ "ศาสนาแห่งนักปราชญ์ (๓)"
ลงวันที่  ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ศาสนาพุทธ ปฏิบัติธรรม
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่