ร้องเรียนพุ่ง-คุมเข้มค่ายมือถือแก้ปัญหาคุณภาพสัญญาณ

ร้องเรียนพุ่ง-คุมเข้มค่ายมือถือแก้ปัญหาคุณภาพสัญญาณ
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558



          "กสทช." คุมเข้มค่ายมือถือปรับปรุงคุณภาพสัญญาณ ระบุเก็บสถิติแค่ 3 เดือน เรื่องร้องเรียนพุ่ง 1,443 เรื่อง พร้อมพัฒนาโปรแกรม Mapping ระบุพิกัดพื้นที่ที่มีปัญหาร้องเรียน ขีดเส้นต้องแก้ไขภายใน 30 วัน

          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ได้เรียกผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส, ดีแทค, ทรู, กสท โทรคมนาคม และทีโอที มาหารือเรื่องคุณภาพสัญญาณตามที่มีประชาชนในแต่ละพื้นที่ร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง และได้เก็บรวบรวมสถิติตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.-7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยได้อัพเดตข้อมูลแต่ละเดือนนำส่งให้ผู้ให้บริการ แต่ละรายรับทราบเพื่อแก้ไขปรับปรุง แต่ที่ผ่านมาพบว่ายังมีปัญหาเนื่องจากจุด ร้องเรียนที่ส่งข้อมูลไปไม่ชัดเจนและ แก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด ทั้งสำนักงาน กสทช.มีความยากลำบากในการตรวจสอบจึง จัดทำระบบที่เรียกว่า แผนที่ระบุพิกัดปัญหาเรื่องร้องเรียน (Mapping) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ

          เรื่องร้องเรียนตั้งแต่ 2 ก.ค.-7 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมามี 1,443 เรื่อง แบ่งเป็น เอไอเอส 788 เรื่อง ดีแทค 388 เรื่อง ทรู 238 เรื่อง กสท โทรคมนาคม 24 เรื่อง และทีโอที 5 เรื่อง โดยผลการนำฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียนมาจัดทำเป็นแผนที่ระบุพิกัด พบว่ามีจุดร้องเรียนทั้งที่ซ้ำกันและไม่ซ้ำกัน ทำให้เรื่องร้องเรียนของเอไอเอสเหลือ 590 เรื่อง ดีแทค 323 เรื่อง ทรู 177 เรื่อง ส่วน กสท โทรคมนาคม และทีโอทีเท่าเดิม หากเทียบจำนวนเรื่องร้องเรียนต่อจำนวนเลขหมายใน 10,000 เลขหมาย พบว่า เอไอเอสมีเรื่องร้องเรียนเฉลี่ย 17 เรื่อง, ดีแทค 21 เรื่อง และทรู 13 เรื่อง

          ปัญหาที่มีการร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ สายหลุด 60% สัญญาณไม่ดีไม่ชัด 30% และดาต้า 10% จากข้อมูลข้างต้นหากสร้างแผนที่ระบุพิกัดปัญหาเรื่องร้องเรียนจะทำให้ผู้ประกอบการแก้ไขปัญหาได้ ตรงจุดมากขึ้น เพราะระบุตำแหน่งชัดเจนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ขณะที่สำนักงาน กสทช.ก็ตรวจสอบได้ง่ายขึ้นด้วย

          "เราจะส่งโปรแกรมนี้ไปให้ผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย ภายใน 21 ต.ค. และส่งหนังสือแจ้งโดยให้เวลาแก้ไขปัญหา 30 วัน หากเกินเวลาแล้วยังไม่แก้ไขจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยสำนักงาน กสทช.จะ อัพเดตเรื่องร้องเรียนทุก 1 เดือน จุดใดแก้ไขแล้วก็จะลบจากฐานข้อมูล หากมี จุดใหม่ก็จะเพิ่มจุดลงไปในโปรแกรม"

          นอกจากนี้ ในใบอนุญาตคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ที่จะประมูลในเดือน พ.ย.นี้ ได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลคุณภาพสัญญาณ นอกเหนือไปจากเงื่อนไขมาตรฐานต่าง ๆ โดยข้อมูลจะอัพเดตทุกเดือนเพื่อให้ทราบถึงปัญหาในการใช้งานในอนาคต

          นายฐากรกล่าวถึงมติที่ประชุม กสทช.กรณีให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีจ่ายเงิน ประมูลงวด 2 จำนวน 288 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ก่อน 31 ต.ค.นี้ มิฉะนั้น จะพักใช้ใบอนุญาตนั้นเชื่อว่าไทยทีวีกำลังเร่งหาพันธมิตรอยู่ หากเลยกำหนดคงต้องมีการเข้ามาพูดคุยกับ กสทช. โดยในเบื้องต้นยังไม่ได้ติดต่อมาเพียงประสานกันเป็นการภายในไว้แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดชัดเจน

ขอขอบคุณแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558 (หน้า 29)
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  กสทช. (NBTC) คุ้มครองผู้บริโภค 3G LOCA (TV Pool) ทีวีดิจิตอล
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่